Print

ยารักษาใจ - ฉบับที่ ๒๐๘

เรื่องสั้นคั่นเวลา : เมื่อฉันเขียนบทการ์ตูนถวายสมเด็จพระสังฆราช ฯ

wilasinee2
โดย วิลาศินี
 

 


ความเดิมตอนที่แล้ว

ฉันรับปากเพื่อนนักอ่านหลายท่านว่า ถัดจากเรื่องสั้น กลับหลังหัน
เพื่อน ๆ จะได้อ่านเรื่องสั้นเรื่องถัดไปได้ทุกสัปดาห์เว้นสัปดาห์
แต่ด้วยภารกิจของฉัน ของทีม และของต้นสังกัดที่ทำเพลง
ทำให้เรายังไม่สามารถวางผลงานเรื่องสั้นเรื่องถัดไปได้ทันตามกำหนด
เรื่องสั้นถัดจากนี้จึงถูกเขียนขึ้นมาสด ๆ ร้อน ๆ เพื่อคั่นรายการ
เพื่อบอกกล่าวเล่าเรื่อง ถึงงานอีกชิ้น ที่ฉันตั้งใจทำไม่น้อยกว่างานชิ้นไหน ๆ เลย

สละเวลามาอ่านกันเล่น ๆ สักนิดนะคะ :)

....
....
....

....
....
....
tser1 208

๒๓ กันยายน ๒๕๕๗

วัดบวรนิเวศวิหารในเวลาเย็น บรรยากาศสงบเงียบแต่ยังมีเจ้าหน้าที่เดินตรวจตราตามครรลองของพระอารามหลวงชั้นเอก ฉันเดินเข้าไปถึงหน้าตำหนักคอยท่า ปราโมทย์แล้วหยุดถอดรองเท้าเพื่อจะเข้าไปกราบพระรูปของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชที่ตั้งอยู่ด้านหน้า สุภาพสตรีสูงวัยคนหนึ่งเดินเข้ามาชำเลืองดูจนฉันตกประหม่า ต้องหยุดยืนอยู่นิ่ง ๆ รอฟังคำว่าฉันต้องปฏิบัติตัวอย่างไรให้ถูกต้องในการกราบพระรูป สุภาพสตรีท่านนั้นยิ้มแล้วยื่นพวงมาลัยมะลิให้

“มากราบพระรูปเหรอ เอ้า ฝากถวายพวงมาลัยให้ที ป้าจะรีบไปทำธุระ”
ฉันรับพวงมาลัยมาแบบงง ๆ แต่ก็กล่าวขอบคุณและอนุโมทนากับคุณป้าด้วยความดีใจเหลือหลาย (ก็ฉันเองมามือเปล่า ไม่ได้เตรียมอะไรมาเลย) คุณป้ายิ้มให้

“เดี๋ยววางบนพานตรงนั้นนะ”
แล้วสุภาพสตรีท่านนั้นก็เดินจากไป ฉันแอบคิดเองว่าท่านคงดีใจที่ได้สอนคนรุ่นหลังให้รู้จักถวายพวงมาลัยดอกไม้หน้าพระรูป ส่วนฉันเองก็อมยิ้ม ที่จริงฉันไม่ได้แค่มากราบพระรูป ฉันตั้งใจมาทำอะไรมากกว่านั้น

ฉันมาส่งงานเขียนบทการ์ตูนถวายสมเด็จฯ ท่าน

ทูลถวายต่อหน้าพระรูปนั้นแล้วย้อนนึกไป...

...
...
...

เมื่อปี 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระผนวชที่วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระญาณสังวรทรงเป็น "พระพี่เลี้ยง" ของในหลวงขณะนั้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี(สมเด็จย่า) ได้ทรงฟังการแสดงธรรมของสมเด็จพระญาณสังวรจากวัดบวร ผ่านสถานีวิทยุ อส. พระราชวังดุสิต แล้วทรงโปรดการแสดงธรรมดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง

ต่อมาในปี 2511 จึงได้ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำรายการวิทยุชื่อ "รายการบริหารทางจิต" โดยบันทึกเสียงจากตำหนักคอยท่า ปราโมช ที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช และนี่คือห้องบันทึกเสียง จำลองจากตำหนักคอยท่า ปราโมช สมเด็จพระสังฆราช ได้ทรงทำการบันทึกเสียงบทบรรยายด้วยพระองค์เอง

 tser2 208

บทบรรยายต่าง ๆ ในรายการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมและจัดพิมพ์เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเวลาต่อมา จิตตนคร ก็คือส่วนหนึ่งของบทบรรยายนั้น สมเด็จพระสังฆราชได้ทรงประพันธ์และบรรยายในช่วงปี 2513 และถูกคัดเลือกเป็นพระนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ในวาระอภิลักขิตสมัยมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาคทรงมีพระชนมายุ ๕๐ พรรษา ในปี ๒๕๒๕ บทประพันธ์อันทรงคุณค่าฉบับนี้ ยังคงถูกตีพิมพ์ซ้ำและเผยแพร่มาจนถึงปัจจุบัน

...
...
...

“อ้อ ทำแอนิเมชัน จิตตนครของสมเด็จพระสังฆราชกันไหม”

จู่ ๆ ก็มีคนชวนฉันแบบนี้ คนชวนคือพี่โปรดิวเซอร์การ์ตูนธรรมะอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย เคยชวนฉันทำการ์ตูนว่าด้วยการผจญภัยในเมืองต่าง ๆ ยุคพุทธกาล มารอบนี้เราจะทำ “เมืองแห่งจิต” กัน พี่เขากล้าชวนขนาดนั้น ฉันก็กล้ารับ

แต่งานนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เราจำเป็นต้องมีที่ปรึกษา และที่ปรึกษาของเราก็คือ “พระอาจารย์ ดร.อนิล ธมฺมสากิโย (ศากยะ)” ที่ได้เมตตาให้คำแนะนำและข้อคิดต่าง ๆ กับทีมงานโดยแยบคาย ข้อคิดบางส่วนจากพระอาจารย์อนิล ยกตัวอย่างเช่น

๑. ความเป็น generalized ของพุทธศาสนา

คือความเป็นธรรมะที่อยู่ที่ไหน ใครเรียนก็เป็นธรรมะที่สื่อถึงใจ

แต่ทุกที่มีความ localized ดูอย่างเมืองไทย รับพุทธเข้ามา ก็เอามาปนกับผีสางเทวดา บรรพบุรุษที่ตายไปชอบกินอะไรก็เอามาถวายพระ ส่วนนรก-สวรรค์ ถามว่ามีจริงไหม พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ปฏิเสธนรกสวรรค์ แต่มีแล้วเป็นแบบไหน มนุษย์สร้างรูปแบบกันขึ้นมาเอง อย่างนรกนี่บ้างว่าเป็นกระทะทองแดง บ้างว่ามีหอกแหลมคอยลงทัณฑ์ ถามว่านรกเพิ่งมีในยุคโลหะหรือ ถึงได้มีหอก ยุคหินล่ะ ลงโทษกันยังไง

พอเห็นถึงความกว้าง ความยาวนานของสังสารวัฎฎ์แล้ว จินตนาการต่าง ๆ มันไปได้อีกไกลมาก แต่ไม่พ้นจิตเลย สุดท้ายมาลงที่การปรุงแต่งของจิต "จิตตนคร" ก็เช่นกัน สมเด็จพระสังฆราชทรงนิพนธ์ตั้งแต่ปี ๒๕๑๓ แต่พอหยิบขึ้นมาอ่าน โอ้โฮ นี่มันยุคสมัยนี้ มองยาวไปอนาคตยังได้

ตัวอย่างลักษณะแห่งจิตตนครในบทประพันธ์ ... "ประตูเมืองทั้ง ๖ มักจะเปิดอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน จะปิดก็ต่อเมื่อเจ้าเมืองหลับ ... เมื่อเจ้าเมืองยังไม่หลับก็เปิดประตูรับอยู่เสมอ ไม่ว่าจะดึกดื่นเที่ยงคืนเพียงไร ถึงจะค่ำมืดก็จุดไฟสว่างไสว ฯลฯ"

แล้วไหนจะ "เป็นบ้านเมืองที่มีปฏิวัติรัฐประหารบ่อยครั้ง.. มีการสับเปลี่ยนโยกย้ายเจ้าหน้าที่.. จนในที่สุดก็ดูเหมือนแบ่งเมืองกันปกครอง ฯลฯ"

สุดท้ายมาลงที่ใจ ตัวละครทุกตัวในบทประพันธ์ (แค่สมุนของสมุทัยก็ร้อยแปดพันเก้า) สุดท้ายรวมลงที่จิต มันคือของที่ปรากฏต่อหน้าต่อตาทุกวันเลยทีเดียว

 

๒. เรื่องการสื่อสาร

พระอาจารย์อนิลสอนวิธีการสื่อสารโดยให้ดึงเอา localized มาเป็น generalized ยกตัวอย่างพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาลต้องสอนพราหมณ์ พระพุทธองค์ก็ใช้ศัพท์ของพราหมณ์ในการสอน ยกตัวอย่างคำว่า "บุญ" ก็เป็นศัพท์ของพราหมณ์ เป็นชื่อท่าน้ำที่พราหมณ์ลงไปชำระบาปในแม่น้ำคงคา

ท่าน้ำที่พราหมณ์ลงไปชำระร่างกาย เท่ากับชำระบาป ท่านั้นเรียกว่า "ท่าบุญ" พระพุทธเจ้านำมาสอนว่า "บุญ" ในทางพุทธคือการ "ชำระจิตใจ" ในพระสูตรในพระคัมภีร์ไหน ๆ พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดใคร ก็ไม่เคยปรากฏว่าพระองค์ใช้ล่าม พระอาจารย์อนิลยกบางคัมภีร์ขึ้นมาเล่าให้ฟังว่าพระพุทธเจ้าพูดได้ถึง ๖๒ ภาษา

ทำไมต้องพูดให้ได้หลาย ๆ ภาษา เพราะต้องสอนให้คนในพื้นที่นั้น ๆ เข้าใจ และพระพุทธองค์ใช้ภาษาเป็นการสื่อสารเท่านั้น แต่ธรรมะเป็นของกลาง อยู่ตรงหน้า

สุดท้ายพระอาจารย์อนิลท่านสรุปให้ ไปเผยแพร่งานให้กลายเป็น generalized (ให้งานอยู่ไปได้ถึงอนาคตเลย)

ทีมงานของเราใช้เวลาในการ generalized ผลงานกันหลังจากได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์อนิลอีกครึ่งปี

...
...
...

๖ เดือนต่อมา

...
...
...

ฉันและทีมเข้าไปกราบถวายงานกับพระอาจารย์อนิลอีกครั้ง ที่สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหารฯ พวกเราทำ Trailer ความยาว ๗ กว่านาทีไปให้ท่านรับชม พระอาจารย์เอ่ยปากสั้น ๆ

“เยี่ยม ผลิตทันไหม วันที่ ๓ ต.ค. ๒๕๕๗ นี้วัดบวรจะมีงาน เอามาแสดงด้วยสิ และทำหนังสือแจกกัน”

 

* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• *

 

เรื่องสั้นจบแล้วค่ะ บอกแล้วว่านำมาคั่นเวลาเท่านั้น :)

แง้มตัวอย่างให้ชมกันสักนิดก็ได้ เชิญแวะเข้าไปโหลดที่

http://www.mediafire.com/view/bjv5scbsf63a7da/เมืองนิรมิตแห่งจิตตนคร_(ธรรมทาน)_new.pdf

อ่านเล่น ๆ กันไปพลาง ๆ นะคะ แล้วพบกับฉบับเต็มได้ในเร็ว ๆ นี้ :) :)