Print

ยารักษาใจ - ฉบับที่ ๒๐๓

๛ ฉลากนี้แทนดวงตา ๛ (ฉลากยาสำหรับผู้มีปัญหาสายตาเลือนราง)

wilasinee2
โดย วิลาศินี
 

 

...
...
...

ปัจจุบันนวัตกรรมต่าง ๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาให้คนสื่อสารกันง่ายขึ้น
เข้าถึงกันง่ายขึ้น มีเป็นจำนวนมากมายเลยทีเดียวนะคะ
แต่ขณะเดียวกัน หลาย ๆ ครั้งกลับเป็นที่น่าสงสัยว่า
บางคนกำลังพูดคุยกับคนใกล้ตัวน้อยลง กำลังเลิกใส่ใจคนรอบข้าง
และบางครั้ง Social network ที่หล่อเลี้ยงด้วยสัญญาณเชื่อมต่อเครือข่าย
ดูจะเข้าไปมีอิทธิพลมากกว่าสังคมที่หล่อเลี้ยงด้วยลมหายใจที่รินรดกันเสียอีก
แต่ความเป็นจริง ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไปนะคะ
ยังมีมุมดี ๆ ที่ไม่อยากให้มองข้ามกัน
ผู้เขียนมี Group ใน Facebook อยากแนะนำให้รู้จักค่ะ
Group นี้มีชื่อว่า "ช่วยอ่านหน่อยนะ"
(คุ้นไหมคะ น่าจะมีผู้อ่านบางท่านเป็นสมาชิกอยู่แล้ว)

เป็นกรุ๊ปที่น่ารักมาก ๆ ค่ะ ในกรุ๊ปนี้จะมีอาสาคอยอ่าน “ภาพ”
ที่ผู้พิการทางสายตาไม่สามารถมองเห็น แต่สามารถถ่ายรูปได้
นำมาอัพโหลดขึ้น Group เอาไว้ แล้วเหล่าผู้มีจิตอาสา
ก็จะคอยเขียนคำอธิบายให้อ่านในความเห็นใต้ภาพนั้น ๆ ค่ะ
(หากสนใจร่วมเป็นจิตอาสาอีกคนหนึ่ง ท่านสามารถกด link
และขอ join เข้า Group ด้านล่างนี้ได้เลยนะคะ
https://www.facebook.com/groups/helpusread/)
เท่านั้นยังไม่พอ จากการรวมกลุ่มใน Facebook อีกเช่นกัน
ทำให้ผู้เขียนมีเพื่อนออกไปทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม เช่น
ออกไปเลี้ยงอาหารกลางวันน้อง ๆ ที่โรงเรียนสอนคนตาบอด
และกิจกรรมนี้เอง ก็ทำให้ได้พบกับนักออกแบบ (Art director) อารมณ์ดี
กำลังออกมาสำรวจความพึงพอใจจากน้อง ๆ ในร.ร.สอนคนตาบอด
ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับเอกสารแผ่นเล็ก ๆ ในมือ
เอกสารแผ่นนั้น คือตัวอย่างที่นำมาสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลในการวิจัยของวิทยานิพนธ์ที่ชื่อว่า
"สัญศาสตร์เพื่อการออกแบบฉลากยาสำหรับผู้มีปัญหาสายตาเลือนราง" ค่ะ

(อธิบายคร่าว ๆ กันงงนะคะ คำว่า สัญศาสตร์ เป็นคำบัญญัติจากคำบาลีสันสกฤตค่ะ
มาจาก สัญญะ + ศาสตระ โดยรวมคือเป็นวิชาเกี่ยวกับเครื่องหมาย ส่วนในภาษาอังกฤษ
จะใช้คำว่า semiotics ซึ่งมาจากคำกรีก คือ semeiotikos แปลง่าย ๆ ว่า to note sign)
หรือจะพูดภาษาชาวบ้าน ก็คือการวิเคราะห์และออกแบบสัญลักษณ์ให้คนเข้าใจ
โดยผู้ทำวิทยานิพนธ์สนใจที่จะนำสัญศาสตร์นี้มาปรับใช้กับสัญลักษณ์บนฉลากยา
เช่น จะบอกว่ายานี้รับประทานก่อนอาหาร ควรใช้สัญลักษณ์ไหนจึงจะเข้าใจได้ง่ายที่สุด
จนเกิดเป็นฉลากยาที่ใช้กับคนสายตาเลือนรางก็ได้ มองไม่เห็นเลยก็ได้
(มีการพิมพ์นูนและมีอักษรเบรลล์อยู่ข้าง ๆ ) และนอกจากนั้น ยังนำมาประยุกต์ใช้
กับคนที่ไม่รู้ภาษาทั้งไทยและอังกฤษได้อีกด้วยนะคะ :)

หน้าตาของฉลากยาเป็นอย่างไร มาดูกันเลยดีกว่า

heal 203

และนี่คือรายละเอียดของวิทยานิพนธ์นี้ เผื่อมีผู้สนใจจะติดต่อเจ้าของผลงานนะคะ
ผู้จัดทำ : ณมณ โชตอนันต์กูล
ชื่อวิทยานิพนธ์ : สัญศาสตร์เพื่อการออกแบบฉลากยาสำหรับผู้มีปัญหาสายตาเลือนราง
อาจารย์ที่ปรึกษา : อาจารย์ กัญชลิกา กัมปนานนท์ / อาจารย์ ธนาทร เจียรกุล
คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ข้อมูลติดต่อ : (ติดต่อคุณป้องค่ะ) ๐๘๖ ๙๙๑ ๖๐๐๙
นอกจากนั้น เมื่อมีการหารือในที่ประชุมเครือข่ายความปลอดภัยด้านยา จ.ชลบุรี
ซึ่งคณะกรรมการเองก็กำลังหาทางช่วยผู้ป่วยพิการทางสายตา
และผู้ป่วยประเภทอื่น ๆ ที่มีปัญหาในอ่านฉลากยาอยู่เช่นกัน
ผู้เขียนก็ได้ขอโอกาสพูดถึงวิทยานิพนธ์นี้ จนกรรมการลงมติให้ทำโครงการ
เพื่อสรรหาทุนมาใช้จัดซื้อจัดหาฉลากยาดังกล่าว และจะนำไปใช้จริง
ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ๓๐ แห่งทั่วจังหวัดชลบุรีภายในปี ๒๕๕๗ นี้ด้วยค่ะ

...
...
...

เห็นไหมคะ จากมุมเล็ก ๆ ในกรอบสี่เหลี่ยม เลื่อนขึ้นลงบนหน้าจอ
ขยับตัวลุกออกไปทำกิจกรรมข้างนอก ขยายผลเป็นโอกาสการเข้าถึง
ให้กับผู้ที่รอคอยความหวังได้ครอบคลุม ๑ จังหวัดแล้ว
ไม่แน่ว่าต่อไปอาจมีการส่งต่อไปรพ.ต่อไป จังหวัดต่อไป ได้อีกมากต่อมาก

แต่เพียงเท่านี้ ก็เป็นเรื่องราวดี ๆ ที่ได้นำมาเล่า
ให้ชุ่มชื่นหัวใจกันเรื่องหนึ่งแล้ว ว่าไหมคะ :)