Print

ยารักษาใจ - ฉบับที่ ๒๐๐

ตามรอยพระศาสดา : ตอนที่ ๖ หัวใจกับความไม่เที่ยงที่กุสินารา

wilasinee2
โดย Nat Wimuttisuk
 

 

 

heal

ขอบคุณภาพจาก http://www.bloggang.com/viewblog.php?id ... d&group=21

 

สิ่งบางสิ่ง เคยมี เดี่ยวนี้ไม่
สิ่งบางสิ่ง เคยไร้ เดี่ยวนี้เริ่ม
ล้วนเปลี่ยนแปร ทนไม่ได้ ไม่เหมือนเดิม
ใจยอมรับ ไม่ปรุงเพิ่ม จึงสุขจริง

บทกลอนข้างต้นผุดพรายขึ้นในมโนสำนึกของผู้เขียน
ทันทีที่สองเท้าย่างเหยียบลงบนแผ่นดินกุสินารา

สิ่งที่ผู้เขียนสัมผัสได้อย่างชัดเจนยิ่งที่กุสินาราคือความเป็น “อนิจจัง”ของสรรพสิ่ง

* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *


ใจนึกย้อนกลับไปในชั่วโมงวิชาพระพุทธศาสนาเมื่อครั้งวัยเยาว์
สมัยนั้นคุณครูมักอธิบาย“อนิจจัง”ดัวยคำว่า “ไม่เที่ยง”
ซึ่งต้องยอมรับกันตามตรงว่า สมัยนั้นผู้เขียนไม่เข้าใจจริงๆด้วยซ้ำว่าไม่เที่ยงคืออะไร
ได้ยินคำว่า “เที่ยง” ทีไร ใจมันมันพาลนึกถึงแต่มื้ออาหารทุกที

จนกระทั้งครูขยายความให้ฟังว่า
“อะไรเคยมีแล้วไม่มี ไม่เคยมีแล้วกลับมีขึ้นมา นั่นแหละเขารียกว่าไม่เที่ยง”
นั่นเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนเข้าใจคำว่า “อนิจจัง”

* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

กุสินาราเป็นเมืองที่ผู้เขียนรู้สึกได้ถึงความเป็นอนิจจังได้อย่างชัดเจน
เหตุผลประการหนึ่งอาจเป็นเพราะพระศาสดาดับขันธปรินิพพานที่เมืองนี้
การปรินิพพานของพระองค์นั้นเป็นพยานถึงความไม่เที่ยงได้อย่างดี

คนยิ่งใหญ่ระดับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้รู้แจ้งโลก
ยังมีวันดับขันธปรินิพพาน
คนธรรมดาเช่นเราก็ย่อมมีวันสุดท้ายของชีวิตเช่นกัน

พระวิทยากรเมตตาเล่าให้ผู้เขียนฟังต่อไปว่า
ครั้งหนึ่งพระอานนท์สงสัยว่าเหตุใด
พระศาสดาทรงเลือกที่จะดับขันธปรินิพพานที่เมืองกุสินาราทั้งที่เป็นเมืองขนาดเล็ก
จึงกราบทูลแก่พระศาสดาว่า
"อย่าปรินิพพานในเมืองกุสินาราซึ่งเป็นเมืองเล็ก เมืองดอย
เป็นกิ่งเมือง ขอให้เสด็จไปปรินิพพานในเมืองใหญ่ ๆ
เช่น จัมปา ราชคฤห์ สาวัตถี สาเกต โกสัมภี พาราณสี"


คราวนั้นพระศาสดาตรัสตอบว่า กุสินาราเคยเป็นราชาธานีนามว่า "กุสาวดี"
ซึ่งพระเจ้ามหาทัสสนะจักรพรรดิทรงปกครอง เคยเจริญรุ่งเรืองยิ่งมาแล้ว"

จากนั้นได้ทรงขยายความเพิ่มเติม
โดยพรรณนาถึงความมั่งคั่งสมบูรณ์ของเมืองกุสาวดี
และทรงพรรณนาถึงรัตนะ 7 ประการ
ที่เกิดขึ้นแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ คือ

1) เพราะเมืองนี้มี จักรแก้ว ซึ่งหมุนไปในทิศต่าง ๆ ได้ จึงนำชัยชนะมาให้
2) เพราะเมืองนี้มี ช้างแก้ว เป็นช้างเผือกชื่อ อุโบสถ
3) เพราะเมืองนี้มี ม้าแก้ว สีขาวล้วน ชื่อ วลากห
4) เพราะเมืองนี้มี แก้วมณี เป็นแก้วไพฑูรย์
5) เพราะเมืองนี้มี นางแก้ว รูปร่างงดงาม มีสัมผัสนิ่มนวล
6) เพราะเมืองนี้มี ขุนคลังแก้ว (คหปติรตนะ) ช่วยจัดการทรัพย์สินอย่างดีเลิศ
7) เพราะเมืองนี้มี ขุนพลแก้ว (ปริณายกรตนะ) บัณฑิตผู้สั่งสอนแนะนำ

อนึ่ง พระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิทรงมีความสำเร็จ (ฤทธิ์) 4 ประการ คือ
1) รูปงาม
2) อายุยืน
3) มีโรคน้อย
4) เป็นที่รักของพราหมณ์และคฤหสบดี (ประชาชน)

ด้วยเหตุที่เคยเป็นเมืองสำคัญและรุ่งเรืองยิ่งเช่นนี้
จึงควรเป็นที่ดับขันธปรินิพพานได้

* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

ฟังพระวิทยากรเล่ามาถึงตรงนี้ผู้เขียนก็เกิดสะท้อนใจขึ้นมาอีกคราวหนึ่ง
กาลเวลาล่วงไป ป่าจะกลายเป็นบ้าน
กาลเวลาล่วงไป บ้านจะกลายเป็นเมืองน้อย
กาลเวลาล่วงไป เมืองน้อยจะกลายเป็นเมืองใหญ่
กาลเวลาล่วงไป เมืองใหญ่จะกลายเป็นอาณาจักร
กาลเวลาล่วงไป อาณาจักรจะกลายเป็นเมืองใหญ่
กาลเวลาล่วงไป เมืองใหญ่จะกลายเป็นเมืองน้อย
กาลเวลาล่วงไป เมืองน้อยจะกลายเป็นบ้าน
กาลเวลาล่วงไป บ้านจะกลายเป็นป่า
เมืองใหญ่เช่นเมืองกุสาวดี วันหนึ่งก็กลายเป็นเมืองน้อยเช่นเมืองกุสินารา
อะไรๆก็ไม่เที่ยง

* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

เมื่ออะไรๆก็ไม่เที่ยงล้วนเอาใจไปผูกไว้ไม่ได้เช่นนี้ ควรทำอย่างไรดี
คำถามน้อยๆ ผุดขึ้นมากลางใจผู้เขียนวันนั้น

มีใครสงสัยเหมือนผู้เขียนบ้างครับ

ครูบาอาจารย์ของผู้เขียนสอนเสมอครับว่า

“สงสัยให้รู้ลงไปว่ากำลังสงสัย
แล้วจะเห็นความไม่เที่ยงของของความสงสัยนั้นด้วย”

ท่าทีจริงๆที่เราควรมี ในฐานะสาวกของพระศาสดานั้น
ผู้เขียนคิดว่า พระพุทธเจ้าท่านเฉลยไว้ให้เราแล้วครับ


ก่อนจะดับขันธปรินิพพาน พระศาสดามีปัจฉิมโอวาทว่า

“หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว
วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลายบัดนี้เราขอเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า
สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”

หากการไปสักการะสังเวชนียสถานของผู้เขียน
ด้วยความตั้งใจจะเจริญสติตลอดการเดินทางนี้
จะมีอานิสงส์อยู่บ้าง
ขอให้ผู้อ่านทุกท่านจงมีส่วนในอานิสงส์อันนั้นร่วมกัน
เสมอหนึ่งได้ไปสักการะสังเวชนียสถานด้วยตนเองด้วยครับ _/!\_

* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *