Print

ยารักษาใจ - ฉบับที่ ๑๙๘

ตามรอยพระศาสดา : ตอนที่ ๕ จากตโปธาร คงคา ถึงเจตนาวิรัติ

wilasinee2
โดย Nat Wimuttisuk
 

 

 

ว่ากันว่าอินเดียเป็นเมืองที่รักษาวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนไว้ได้อย่างดีที่สุดแห่งหนึ่ง
สองพันกว่าปีล่วงแล้วเคยเป็นอย่างไร
บัดนี้ก็อาจเห็นร่องรอยของอดีตได้ชัดเจนอย่างนั้น
นี่เป็นความรู้สึกของผู้เขียนเมื่อครั้งที่ได้ไปเยือน “ตโปทาราม”
สถานที่ที่มองเห็นการแบ่งชนชั้นได้ชัดเจนยิ่ง

* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

ชาวอินเดียโบราณเชื่อกันว่ามนุษย์ทั้งหลายล้วนมีกำเนิดมาจากพระพรหม
พระพรหมในความเชื่อของชาวอินเดียโบราณนั้น
ท่านสร้างคนมาให้มีหน้าที่แตกต่างกันไปครับ

กลุ่มแรก กำเนิดจากปากของพรหม พวกนี้เรียกตัวเองว่า “พราหมณ์”
กลุ่มนี้มีหน้าที่สั่งสอนผู้อื่น และติดต่อกับเทพเจ้า

กลุ่มที่สอง กำเนิดจากแขนของพรหม พวกนี้เรียกตัวเองว่า “กษัตริย์”
กลุ่มนี้มีหน้าที่ทำสงครามปกป้องบ้านเมือง

กลุ่มที่สาม กำเนิดจากท้องของพรหม พวกนี้เรียกตัวเองว่า “ไวศยะ”
กลุ่มนี้มีหน้าทีใช้วาจาค้าขาย

กลุ่มที่สี่ กำเนิดจากเท้าของพรหม พวกนี้เรียกตัวเองว่า “ศูทร”
กลุ่มนี้มีหน้าที่เป็นแรงงาน

พวกเขาเมื่อเกิดมาต่างกัน หน้าที่จึงแตกต่างกัน
เมื่อมีหน้าที่ต่างกัน เมื่ออาบน้ำก็สถานที่ที่แตกต่างกันด้วย
คนที่อยู่ในวรรณะต่ำกว่าจะไม่กล้าอาบน้ำร่วมกับคนวรรณะสูงกว่า

เพราะเอื้อเฟื้อประโยชน์แก่หมู่ชนที่ยังยึดมั่นในระบบวรรณะ
พระศาสดาจึงได้บัญญัติสิกขาบทที่ว่า

สิกขาบทที่ ๗ สุราปานวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์
ภิกษุทั้งหลายอาบน้ำในแม่น้ำตโปทา
พระเจ้าพิมพิสารก็เสด็จไปจะสนานพระเกศา
ทรงรออยู่ภิกษุเหล่านั้นอาบอยู่ พระองค์จึงได้สนานพระเกศาและกลับไปไม่ทัน
ประตูเมืองปิด ต้องทรงพักค้างแรมอยู่นอกเมือง
พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท
ห้ามภิกษุอาบน้ำก่อนกำหนดกึ่งเดือน
ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด
ภายหลังทรงอนุญาตให้อาบน้ำได้ก่อนกำหนดระยะกึ่งเดือน
ในเมื่อมีเหตุจำเป็น เช่น ร้อนจัด เจ็บไข้
(ในปัจจันตประเทศ เช่น ประเทศเรา ไม่เกี่ยวกับสิกขาบทนี้
เพราะทรงบัญญัติสำหรับประเทศภาคกลางของอินเดีย).

พระศาสดาก็ทรงอนุเคราะห์โลกด้วยการบัญญัติสิกขาบทนี้
ด้วยไม่ทรงต้องการให้ภิกษุติดสบายจากการอาบน้ำอุ่น
ทั้งยังเป็นการเบียดเบียนผู้อื่น หากอาบน้ำอุ่นบ่อยอย่างไม่มีเหตุอันควรด้วย

สิ่งที่ประทับใจผู้เขียนอย่างยิ่งก็คือ
ชาวอินเดียวรรณะต่ำๆมีศรัทธาต่อพระเจ้าของเขา
ถึงขนาดยอมอาบน้ำในที่ที่ถูกกำหนดไว้ให้อย่างเหนียวแน่น
ตั้งแต่เมื่อสองพันกว่าปีก่อนมาจนถึงวันนี้

แล้วลูกพระพุทธเจ้าอย่างพวกเราเล่า
ปฏิบัติตามคำสอนของพระศาสดา
ได้สักเสี้ยวหนึ่งของศรัทธา
ของชาวฮินดูเหล่านี้หรือไม่

* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

จะว่าไปชาวอินเดียนั้น นอกจากเขาเชื่อในเรื่องการอาบน้ำตามชนชั้นวรรณะแล้ว
การอาบน้ำศักดิ์สิทธ์ และเชื่อว่าน้ำนั้นล้างบาปได้จริง
ก็ยังเป็นความเชื่อที่เข้มแข็งมากจนถึงทุกวันนี้

ใช่ครับ ผู้เขียนกำลังกล่าวถึงแม่น้ำคงคา
แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดูทุกผู้ทุกนาม

ครั้งแรกที่ผู้เขียนไปถึงริมฝั่งแม่น้ำคงคานั้นเป็นเวลาเช้าตรู่ที่อากาศหนาวเหน็บยิ่ง
แต่แม้อากาศจะหนาวเหน็บเพียงไร
ผู้เขียนก็ยังเห็นชาวฮินดูนับร้อยนับพันมุ่งตรงมายังแม่น้ำสายนี้
บ้างก็เพื่อมาอาบน้ำชำระบาป
บ้างก็เพื่อนำร่างไร้วิญญาณของผู้เป็นที่รักแห่งตนมาฝากไว้ที่นี่
ที่แม่น้ำคงคา

* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

พระวิทยากรเล่าเกี่ยวกับความเชื่อตรงนี้ให้ฟังว่า
ชาวฮินดูเขาเชื่อว่าแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลผ่านมวยผมของพระศิวะ
คงคาจึงเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่อาจชำระบาปทั้งปวงได้
เรื่องการล้างบาปนี้พระศาสดากล่าวว่า

“คนพาล มีกรรมดำ แล่นไปยังแม่น้ำพาหุกาท่าน้ำอธิกักกะ
ท่าน้ำคะยา แม่น้ำสุนทริกา แม่น้ำสรัสสดี ท่าน้ำปยาคะ
และแม่น้ำพาหุมดีแม้เป็นนิตย์ ก็บริสุทธิ์ไม่ได้

แม่น้ำสุนทริกา ท่าน้ำปยาคะ หรือแม่น้ำพาหุกา จักทำอะไรได้
จะชำระนรชนผู้มีเวรทำกรรมอันหยาบช้า ผู้มีกรรมอันเป็นบาปนั้นให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย
ผัคคุณฤกษ์ย่อมพึงพร้อมแก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ
อุโบสถก็ย่อมถึงพร้อมแก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ
วัตรของบุคคลผู้หมดจดแล้ว มีการงานอันสะอาด ย่อมถึงพร้อมทุกเมื่อ

ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจงอาบในคำสอนของเรานี้เถิด
จงทำความเกษมในสัตว์ทั้งปวงเถิด
ถ้าท่านไม่กล่าวคำเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์
ไม่ถือวัตถุที่เขาไม่ให้เป็นผู้มีความเชื่อ
ไม่ตระหนี่ไซร้ ท่านจักต้องไปยังท่าน้ำคะยาทำไม
แม้การดื่มน้ำในท่าน้ำคะยาก็จักทำอะไรให้แก่ท่านได้ฯ ”

* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

สิ้นคำบรรยายของพระวิทยากร
ผู้เขียนหวนคิดถึงเรื่องที่ครูบาอาจารย์เคยเล่าว่า
ครั้งหนึ่งพระเจ้าอยู่หัว ท่านไปเยี่ยมหลวงปู่เทสก์
ท่านถามหลวงปู่เทสก์ บอกว่า
หลวงปู่ ที่สุดของศีลคืออะไร ที่สุดของสมาธิคืออะไร ที่สุดของปัญญาคืออะไร

หลวงปู่เทสก์ตอบในหลวงว่า
ที่สุดของศีลคือเจตนาวิรัติ เจตนางดเว้นทำชั่ว
ที่สุดของสมาธิคืออัปนาสมาธิ
ที่สุดของปัญญาคือไตรลักษณ์

ผู้เขียนแอบสรุปเองในใจว่า

ชาวฮินดูล้างบาปตรงพระคงคา
ชาวพุทธเว้นบาปทางกายวาจา
เว้นที่มีเจตนาวิรัติ :)

* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *