Print

ยารักษาใจ - ฉบับที่ ๑๙๒

ตามรอยพระศาสดา : ตอนที่ ๒ ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง

wilasinee2
โดย Nat Wimuttisuk
 

 

 

heal 192 

เพื่อนๆหลายคนคงเคยบอกตัวเองว่า
โลกทุกวันนี้ช่างวุ่นวายเสียจริง
ตอนเด็กๆ ผู้เขียนเคยคิดเล่นๆว่า
ไม่น่ามาเกิดในยุคนี้เลย
ชีวิตคนสมัยก่อน ดูจะเรียบง่ายและน่าจะสบายกว่ากันเยอะ
ชีวิตไม่เร่งร้อน รถก็ไม่ติด
เหลียวมองไปรอบตัวทุกวันนี้ ที่ไหนบ้างไม่วุ่นวาย ที่ไหนบ้างไม่ขัดข้อง
กระทั่งได้เดินทางไปที่ ตำบลคยาสีสะ เมืองพาราณสี จึงประจักษ์แก่ใจว่า

สถานที่ที่ไม่วุ่นวาย ไม่ขัดข้องนั้นมีอยู่


* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *


ย้อนเวลากลับไปสองพันห้าร้อยกว่าปีก่อน ณ ตำบลคยาสีสะ เมืองพาราณสี
บุตรชายเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ “ยสกุลบุตร” (อ่านว่า ยะ-สะ-กุลบุตร)

ท่านผู้นี้มีชีวิตที่สุขสบายอยู่ในปราสาทสามฤดูที่บิดาสร้างไว้ให้
มีนางกำนัลคอยขับกล่อมด้วยดนตรีและระบำอันเป็นความบันเทิงยู่ไม่ขาด

ฟังดูชีวิตท่านก็น่าจะสบายมากพอดูครับ
ถ้าเทียบกับสมัยนี้คงประมาณลูกเศรษฐีที่มีบ้านพักตากอากาศหลายหลัง
อากาศที่นี่หนาว ก็หนีไปพักที่โน่น มีอุปกรณ์บันเทิงครบครันว่าชีวิตที่เหมือนบริบูรณ์พร้อมของท่านนั้น
หาได้เต็มบริบูรณ์อย่างแท้จริง


* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

คืนหนึ่ง ยสกุลบุตร ตื่นขึ้นกลางดึก
บุตรเศรษฐีมองเห็นเหล่านางรำระบำฟ้อน
ที่เคยมีสิริโฉมงดงามเป็นที่เจริญตาอยู่เป็นนิจ

มาคืนนี้กลับมีลักษณะอันวิปริตวิกลไป
ด้วยอำนาจแห่งความหลับ
บ้างนอนขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน กอดก่ายกองทับกัน น้ำลายไหล
หาความงามไม่ได้แม้สักนิด

ในคืนนี้ ยสกุลบุตรได้มองเห็น
มายางดงามที่ปรุงแต่งนางระบำทั้งหลายอยู่เป็นนิจคลายอำนาจลง
เรียงได้ว่า ความไร้สติของเหล่านางรำทั้งหลาย
เปิดช่องให้สติของยสกุลบุตรเห็นความจริงได้ชัดเจนขึ้น จนประจักษ์แก่ใจว่า
แม้สิ่งที่ท่านเห็นว่าเคยเป็นที่น่าเจริญตาเจริญใจอย่างนางระบำทั้งหลายนี้
ก็กลับกลายเป็นความแปรปรวน
กลายเป็นสิ่งที่หาความงามใดใดไม่ได้เลย

* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

มาณพหนุ่มดุ่มเดินมากลางดึกเพียงลำพัง
กล่าวแก่ตนเองซ้ำๆว่า
“ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ”

คำรำพันดังกล่าว แว่วไปถึงหูของพระศาสดา
ทันทีนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกับยสกุลบุตรว่า

“ดูกรยส ที่นี่ไม่วุ่นวายที่นี่ไม่ขัดข้อง
มาเถิดยส นั่งลง เราจักแสดงธรรมแก่เธอ”

ที่นั้น ยสกุลบุตรร่าเริงบันเทิงใจว่า
ได้ยินว่า ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ดังนี้
แล้วถอดรองเท้าทองเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
เมื่อยสกุลบุตรนั่งเรียบร้อยแล้ว
พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถา
คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา
โทษความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย
และอานิสงส์ในความออกจากกาม
เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า ยสกุลบุตรมีจิตสงบ
มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน
มีจิตผ่องใสแล้วจึงทรงประกาศพระธรรมเทศนา
ว่าด้วยเรื่องอริยสัจ
จนยสกุลบุตรได้ดวงตาเห็นธรรมในที่สุด


* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *


สถานที่ที่ไม่วุ่นวาย สถานที่ที่ไม่ขัดข้องหาใช้สถานที่ทางกายภาพไม่

พระศาสดามิได้พายสกุลบุตรหนีความวุ่นวายไปที่ใด
ทรงแสดงธรรมเทศนา เพื่อดับความวุ่นวายลงที่ใจต่างหาก
เมื่อเข้าใจตนเองแล้ว
โลกก็ไม่ใช่สิ่งน่าขัดข้อง หรือวุ่นวายอีกต่อไป
สถานที่ที่ไม่ไม่วุ่นวายคือที่ใจที่ถึงธรรมแล้วนั่นเอง


* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *


พวกเราหลายคนอาจมีบางเวลา
ที่อยากหลีกหนีจากสภาพแวดล้อมที่กำลังประสบ

จากมหาวิทยาลัย จากงาน จากครอบครัว
จากบ้าน จากถนนหนทางที่ต้องผ่านจำเจอยู่ทุกวัน
ไม่ว่าผู้คน หรือสภาพแวดล้อม ล้วนแต่น่าเบื่อหน่าย
ล้วนแต่ไม่ดี ไม่เหมาะ กับเราผู้ปฏิบัติธรรมสักอย่างเดียว

อันที่จริงการภาวนา ไม่ขัดแย้งกับสภาพแวดล้อมแต่อย่างไร
การภาวนานั้นดูกันที่กิเลสที่เกิดที่ใจของตนนี้ต่างหาก
กิเลสเกิดที่ใจ การรู้ทันกิเลส ก็ต้องรู้ที่ใจ

ถ้าเป็นทุกข์อยู่เดี๋ยวนี้
ก็ต้องเร่งสร้างเหตุเอาทุกข์ออกจากใจของเราเสียเดี๋ยวนี้
เพราะไม่ว่าจะอยู่ในสังคมเมืองไทยอย่างทุกวันนี้
หรือมีชีวิตอยู่ในสังคมอินเดียโบราณอย่างยสกุลบุตร
เราก็มีสิทธิ์เป็นทุกข์ทางใจได้เสมอกัน
และมีสิทธิ์พ้นทุกข์ทางใจได้เสมอกันด้วย
ขอเพียงลงมือทำจริงเท่านั้น.