Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๑๙๐


sangharaja-section


sungaracha

อภิญญา 3 สัจฉิกรณะในวิชชา วิมุติ

ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน อันเป็นข้อปฏิบัติอบรมจิตนั้น ก็มุ่งให้จิตได้รับความสงบตั้งมั่น และให้ปกติ ฉะนั้น จึงได้ทรงสั่งสอนให้ทำความรู้ในนามรูป ให้ทำความรู้ในอวิชชาและภวตัณหา นามรูปนั้นก็เป็นสิ่งที่ทุกๆคนมีความรู้กันอยู่ แต่ก็เป็นความรู้ตามสมมติบัญญัติ และเป็นความรู้ยึดถือ อันเรียกได้ว่าเป็นความรู้ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า ไม่รู้ และตรัสเรียกว่าเป็นตัวภวตัณหา ฉะนั้น จึงได้ทรงแสดงธรรมสั่งสอนให้ทำความรู้ นามรูป ตามสัจจะ คือ ตามที่เป็นจริงว่า เป็น อนิจจะ คือ ไม่เที่ยง ต้องเกิดดับ เป็น ทุกขะ เป็นทุกข์ คือ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง เป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน

คำสั่งสอนเป็นอันมาก ได้ทรงแสดงให้ทุกๆคนพิจารณาให้มีความรู้ในนามรูป ดั่งนี้ และ

ในการที่จะปฏิบัติทำความรู้ดั่งนี้ได้ ก็ต้องอาศัยจิตที่มีสมาธิ สงบจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย ถ้าจิตยังพลุกพล่านอยู่ด้วยกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ทำปัญญาให้บังเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงตรัสสอนให้ทำสมาธิก่อน คือ ทำจิตให้สงบจากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลาย ด้วยการฝึกหัดปฏิบัติตั้งจิตไว้ในอารมณ์ของกรรมฐาน เป็นต้นว่า อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก เมื่อจิตสงบจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ตั้งสมาธิจิตนี้กำหนดเข้ามาที่นามรูปให้รู้จักว่า นี่รูป นี่นาม และเมื่อนามรูปปรากฏลักษณะหน้าตาขึ้นในความรู้ สัจจะ คือความจริงของรูปนาม อันได้แก่ความเกิดดับก็จะปรากฏขึ้น ความรู้ที่รู้เข้าถึงสัจจะของนามรูป คือความเกิดดับดั่งนี้ เป็น อภิญญา คือความรู้ยิ่งประการหนึ่ง และเมื่อพบความรู้ยิ่งดั่งนี้ ก็ย่อมจะได้พบอวิชชาและภวตัณหา  กล่าวคือเมื่อยังไม่พบสัจจะ คือความจริงของนามรูป คือความเกิดดับ ความรู้ที่รู้อยู่ในนามรูป ย่อมเป็นความรู้ตามสมมติบัญญัติ และตามความยึดถือ ยึดถือว่าเป็นของ เที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตาตัวตน เป็นของสวยงาม ความรู้ดั่งนี้พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าไม่รู้ คือเรียกว่าอวิชชา แต่ว่าคนสามัญทั่วไปเรียกว่าวิชชา คือเรียกว่ารู้ และก็เถียงกับพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา

พระองค์ตรัสสอนว่าไม่เที่ยง     ความรู้สามัญก็เถียงว่าเที่ยง
ตรัสสอนว่าเป็นทุกข์     ความรู้สามัญก็เถียงว่าเป็นสุข
ตรัสสอนว่าเป็นอนัตตา     ความรู้สามัญก็เถียงว่าเป็นอัตตา
ตรัสสอนว่าไม่สวยงามเป็นของปฏิกูล     ความรู้สามัญก็เถียงว่าเป็นของสวยงาม ดังนี้

และเพราะ ความรู้สามัญ ที่เถียงพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ตรัสว่าเป็นอวิชชานี้จึง เป็นภวตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากในภพ ความเป็นนั่นเป็นนี่ตั้งต้นแต่เป็นเรา เป็นของเรา มีความยึดถืออยู่ สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า อวิชชาและภวตัณหานี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่แก่สามัญบุคคลทั่วไป ซึ่งเมื่อยังไม่ได้ปฏิบัติ ก็ยังไม่รู้สึกว่าความรู้ยึดเช่นนี้เป็นตัวอวิชชา แต่ก็ยังยืนยันว่าเป็นวิชชาคือความรู้ เพราะมีความยึดถืออยู่ ครั้นเมื่อได้ปฏิบัติทำสมาธิจนจิตสงบจากกามและอกุศลธรรม เพ่งสมาธิจิตอันบริสุทธิ์กำหนดในนามรูป เห็นลักษณะหน้าตาของนามรูป จนสัจจะของนามรูปปรากฏขึ้น เมื่อสัจจะของนามรูปปรากฏขึ้น ก็จะพบหน้าตัวอวิชชาของตนเองเข้าอย่างประจักษ์ชัดว่า ที่เคยรู้มา เคยเข้าใจยึดถือมาว่าเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตาของตน เข้าใจว่าเป็นของสวยงามนั้น เป็นตัว ทิฏฐิวิปลาส จิตวิปลาส สัญญาวิปลาส คือความเห็นที่วิปลาสคลาดเคลื่อน ความคิดที่วิปลาสคลาดเคลื่อน ความหมายรู้ที่วิปลาสคลาดเคลื่อน เป็นตัวอวิชชาโดยตรง และที่ยึดถือไว้ทุกประการนี้ ก็เป็นตัวตัณหาอุปาทาน เมื่อสัจจะ คือความจริงปรากฏขึ้น ก็ไม่มีอะไรที่จะยึดถือเอาไว้ได้ เพราะฉะนั้น ตัณหาอุปาทาน นี้ จึงเป็น ตัวกิเลส เป็นตัวอวิชชาโดยตรงนั่นแหละ เพราะไม่เป็นความจริงอย่างที่ยึดถือเอาไว้อย่างหนึ่ง แต่สัจจะคือความจริงปรากฏขึ้นอีกอย่างหนึ่งดั่งนี้ ความรู้ที่บังเกิดขึ้นรู้จักตัวอวิชชา ภวตัณหานี้เรียกว่าอภิญญา คือความรู้ยิ่งอีกประการหนึ่ง อภิญญาคือความรู้ยิ่ง ที่รู้ในสัจจะของนามรูป เป็นความรู้ที่เป็น ปริญญา คือความรู้กำหนดรอบคอบในสัจจะคือความจริง ว่านามรูปมีลักษณะเป็นเช่นนี้ๆ เมื่อรู้นามรูปก็คงเป็นนามรูป เพราะนามรูปนี้เป็นสภาวธรรม ธรรมที่บังเกิดขึ้น คือสิ่งที่เกิดขึ้นตามเหตุและปัจจัย นับว่าเป็นธรรมชาติธรรมดาอย่างหนึ่ง ก็คงเป็นนามรูปเหมือนอย่าง ต้นไม้ ภูเขา ทั้งหลาย ดินฟ้าอากาศ ทั้งหลาย ก็คงเป็น ต้นไม้ ภูเขา ดินฟ้าอากาศ เป็นสิ่งที่มีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น เมื่อสิ้นเหตุปัจจัยที่รักษาเอาไว้ก็ดับไป เหมือนอย่างนามรูปนี้ก็เกิดขึ้นตามเหตุและปัจจัย เหตุปัจจัยนี้ก็เลี้ยงรักษา

เหตุ     ก็คือกรรม
          ปัจจัย   ก็คืออาหาร

          เมื่อเหตุปัจจัยยังรักษาอยู่ ก็ยังมี สันตติ คือความสืบต่ออยู่ เมื่อสิ้นเหตุปัจจัยก็ดับไป หมดสันตติ คือความสืบต่อ ก็เป็นธรรมชาติธรรมดาอยู่อย่างนี้

          เพราะฉะนั้น อภิญญา คือความรู้ยิ่งในนามรูป จึงเป็นความรู้ชนิดที่เรียกว่า ปริญญา รู้กำหนดรอบคอบตามสัจจะคือความเป็นจริง ก็เหมือนอย่างที่รู้สัจจะ คือความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายในโลกดังกล่าว ส่วนความรู้ยิ่งในอวิชชาและภวตัณหาเป็น ปหานะ คือความรู้ละ เพราะว่าเมื่อรู้จัก อวิชชา ภวตัณหา อวิชชาภวตัณหาก็ย่อมดับไป ละไป สิ้นไป ด้วยอำนาจของความที่รู้จัก เพราะว่าอวิชชาภวตัณหานี้ก็เหมือนอย่างว่าความมืด ส่วนความรู้ที่เป็นอภิญญา คือความรู้ยิ่ง เหมือนอย่างว่าเป็นความสว่าง เมื่อความสว่างบังเกิดขึ้น ความมืดก็หายไป เมื่อความมืดหายไป สิ่งทั้งหลายที่เนื่องกับความมืดก็หายไปหมดเช่นกัน เพราะฉะนั้น อภิญญา คือความรู้ยิ่ง ที่รู้จักหน้าตา อวิชชา ภวตัณหา จึงเป็นปหานะ คือความรู้ละ รู้ขึ้นเมื่อใด อวิชชา ภวตัณหาก็หลบหน้าไปทันที ละไปทันที ดังนี้

          และเมื่อ อวิชชา ภวตัณหา ดับไป ละไป หลบไป ดั่งนี้ ภาวะแห่งความรู้ก็จะปรากฏขึ้นอีกลักษณะหนึ่ง จากที่เคยเป็นมาแล้วที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า วิชชาและวิมุติ    วิชชา ก็คือความรู้ เป็นความรู้ที่แจ่มแจ้ง ตรงกันข้ามกับอวิชชา ถ้าจะเทียบกันกับอวิชชาเป็นความมืด วิชชาก็เป็นความสว่างที่ตรงข้ามกัน วิชชาคือความรู้ที่เป็นความสว่างตรงกันข้ามกันนี้ เป็นความสว่างไสวที่มองเห็นสัจจธรรม ธรรมที่เป็นตัวความจริงประจักษ์ชัด นามรูปก็จะประจักษ์ชัดขึ้นโดยเป็นสิ่งที่เกิดดับอยู่เป็นประจำ และเมื่อยังไม่รู้คือยังเป็นอวิชชา ก็ย่อมมีตัณหาอุปาทานอยู่ในนามรูป อวิชชาตัณหาอุปาทานเป็นตัวเหตุให้เกิดความทุกข์ต่างๆ เพราะเป็นตัวที่ยึดเอาทุกข์ไว้ไม่ปล่อยวาง ส่วนปัญญาที่พิจารณาเห็นสัจจะ คือความจริงของนามรูปเป็น วิชชา และเมื่อเป็นวิชชา มองเห็นความจริงของนามรูปสว่างไสวขึ้น ก็ย่อมมีความปล่อยวางไม่ยึดถือ เพราะว่า

                   ไม่มีส่วนไหนเป็นของเที่ยง  อันจะพึงยึดถือไว้ว่าเที่ยง
                   ไม่มีส่วนไหนเป็นสุข  อันจะพึงยึดถือไว้ว่าเป็นสุข
                   ไม่มีส่วนไหนที่เป็นอัตตาตัวตนโดยแท้จริง  ที่จะถึงยึดถือไว้ว่าเป็นอัตตาตัวตน
                   ไม่มีส่วนไหนที่เป็นของสวยงาม  อันจะพึงยึดถือไว้ว่าเป็นของสวยงาม

         

ปล่อยวางธรรมดาไว้ที่ธรรมดา

          เมื่อปรากฏว่า ไม่มีไม่เป็นเช่นนั้น จึงมีความปล่อยวางจากความยึดถือ ความปล่อยวางนี้ก็ปล่อยวางลงไปที่นามรูปนั่นแหละ ไม่ใช่ไปปล่อยวางไว้ที่ไหน ปล่อยให้นามรูปเป็นนามเป็นรูป ปล่อยให้อนิจจัง เป็นอนิจจัง ปล่อยให้ทุกขังเป็นทุกขัง ปล่อยให้อนัตตาเป็นอนัตตา ปล่อยให้อสุภัง คือความไม่งาม ก็เป็นอสุภัง เป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นอย่างนั้น ก่อนที่จะมีวิชชาความรู้บังเกิดขึ้น ย่อมมีความยึดถือที่ฝืนไปจากสัจจะคือความจริง ฝืนไปจากธรรมชาติธรรมดา สิ่งนี้เขาไม่เที่ยงก็ไปยึดถือให้เที่ยง ที่เป็นทุกข์เป็นอนัตตาก็ไปยือถือฝืนไว้ ให้เป็นสุขเป็นอัตตา ที่เป็นอสุภะ ก็ไปยึดถือไว้ให้เป็นสุภะ แต่ก็ไม่สามารถจะฝืนได้เพราะว่าสิ่งที่มีธรรมดาเป็นอยางไรก็จะต้องเป็นอย่างนั้น

          บุคคลที่ยึดจึงต้องเป็นทุกข์เดือดร้อน แต่เมื่อมีวิชชามองเห็นสัจจะ คือความจริงขึ้น ก็ย่อมปล่อยวางความยึดถือที่ฝืนธรรมดาอย่างนั้น ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมดานั่นเอง ไม่ใช่ไปปล่อยวางไว้ที่ไหน ดั่งนี้เป็น วิมุติ ความหลุดพ้น เมื่อความปล่อยวางธรรมดาไว้ที่ธรรมดาตามที่ธรรมดาจะเป็นไปดั่งนี้ ก็ย่อมปล่อยวางทุกข์ทั้งสิ้น วิชชาวิมุตินี้เป็นผลของการปฏิบัติทำความรู้ในนามรูป ดังที่กล่าวมาโดยลำดับ และแม้ว่าจะยังไม่เป็นวิชชาวิมุติที่สิ้นเชิงหรือที่เป็น อกุปธรรม ธรรมที่ไม่กำเริบ แต่ว่ายังเป็น กุปธรรม ธรรมที่กำเริบก็ตาม เมื่อมีขึ้น ก็ย่อมจะทำให้บุคคลผู้ปฏิบัติได้พบความรู้และได้พบความสุขที่เกิดจากวิมุติเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ละเอียดประณีตกว่าความสุขทั้งหลายที่เคยได้รับ และข้อนี้แหละที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ ให้ผู้ที่ได้หมั่นกระทำให้แจ่มแจ้งขึ้นคือ วิชชาวิมุติ เป็นผลของการปฏิบัติธรรม อบรมปัญญาให้รู้จักนามรูปโดยวิธีที่กล่าวแล้ว

          เมื่อมีจิตเป็นสมาธิที่บริสุทธิ์และเพ่งกำหนดพิจารณานามรูป ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ย่อมจะได้พบภาวะของความรู้ที่นับว่าเป็นวิชชา และภาวะของจิตที่นับว่าเป็นวิมุติอันมีลักษณะปล่อยวางอย่างนี้ไม่มากก็น้อย แต่ว่าถ้าไม่ได้รักษาเอาไว้ก็จะเสื่อมไปเร็ว และบางทีเมื่อเสื่อมไปแล้วจะทำให้กลับมาอีกก็ยาก เพราะฉะนั้นเมื่อได้มาแล้วแม้น้อยก็ต้องรักษา เหมือนอย่างว่าทำงาน ก็ย่อมจะต้องได้รับผลของงานไม่น้อยก็มาก แม้จะได้มาสักหนึ่งสตางค์ แต่ถ้ารู้จักรักษาก็จะทำให้หนึ่งสตางค์นั้นพอกพูนมากขึ้นได้ คนที่จนมาแต่เดิมประกอบอาชีพร่ำรวยขึ้น ก็ต้องพอกพูนมาแต่น้อยดั่งนี้ การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน เมื่อได้รับผลของการปฏิบัติทางจิตใจนี้ ก็คือการที่กระทำให้แจ้ง ดูลงไปที่ตัวความรู้ที่ได้ในขณะที่ปฏิบัติ ดูลงไปที่ภาวะของจิตที่ปล่อยวางที่ได้จากความรู้ในขณะที่ปฏิบัติ ให้มองเห็นลักษณะหน้าตาว่าความรู้เช่นนี้ ภาวะของจิตเช่นนี้ เป็นอย่างนี้ อย่างนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ วิชชาคือความรู้และวิมุตินั้น ก็จะแจ่มแจ้งขึ้นมา ดั่งนี้แหละเป็นอภิญญาอีกประการหนึ่ง ที่ตรัสสอนให้ทำ สัจฉิกรณะ คือการกระทำให้แจ้งเป็นการรักษาไว้ กล่าวอย่างสามัญก็เหมือนอย่างว่า เมื่อทำความดีก็ให้รักษาความดีเอาไว้และหมั่นทำความดีนั้นพอกพูนให้มากขึ้น ถ้าหากว่าไม่หมั่นรักษาความดีเอาไว้ ความดีทำไว้ครั้งหนึ่งแล้วก็แล้วไป ดั่งนี้ ความดีก็จะไม่พอกพูน กลับจะเป็นโอกาสให้ทำความชั่วอื่นๆมากขึ้นไปอีกก็ได้ เพราะฉะนั้น ก็ให้รักษาความดีไว้ แม้ที่ทำทีละน้อยและทำให้มากๆขึ้น

          ภาวะทางจิตใจทางปัญญาก็เช่นเดียวกัน เมื่อได้มาก็ต้องรักษาและต้องพอกพูน กล่าวคือหมั่นเพ่งพินิจ การกระทำให้แจ่มแจ้งและรักษาความรู้กับภาวะเช่นนี้ของจิตไว้ให้นานที่สุด ให้ยั่งยืนที่สุดและพอกพูนไว้อยู่เสมอ การกระทำดั่งนี้ จะเป็นปัจจัยให้บรรลุถึงการละโดยสิ้นเชิงในที่สุด และบุคคลผู้จะละได้สิ้นเชิงในที่สุดนั้น กะต้องเริ่มปฏิบัติ มาจากการรักษาสิ่งที่ได้ไว้ทีละน้อยๆดั่งนี้

 

 

ธรรมกถาในการปฏิบัติอบรมจิต
ห้องประชุมสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
8 กันยายน พ.ศ.2515