Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๑๘๖


sangharaja-section


อภิญญา 2 ปหานะในอวิชชา ภวตัณหา

sungaracha

       พระพุทธเจ้านั้นทรงเป็นพระผู้รู้ผู้เห็น เป็นผู้ตื่นขึ้นจากความหลับ คือ อวิชชา ความไม่รู้ โมหะ ความหลง ทรงแสดงธรรมเพื่อให้รู้ให้เห็นให้ตื่นขึ้นจากหลับและธรรมที่ทรงแสดงนั้น ก็มีเหตุผลที่ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้ เพราะได้ทรงจำแนกเหตุผลให้มองเห็น ไม่ใช่ทรงแสดงไม่จำแนกเหตุผลที่ทรงแสดงนั้น เหตุ ก็คือสิ่งที่ทำให้บังเกิดผล ผล ก็คือสิ่งที่บังเกิดขึ้นโดยเป็นผลของเหตุนั้น และเหตุผลที่ทรงจำแนกนี้ก็ทรงจำแนกที่บุคคลนี้เอง

        เพราะฉะนั้น เมื่อทรงแสดงธรรมให้ทำความรู้กำหนดนามรูปที่เกิดดับอยู่ เพื่อให้รู้ให้เห็นความเกิดดับของนามรูปตามเป็นจริงแล้ว ก็ได้ทรงแสดงเพื่อให้รู้ให้เห็น เป็นเหตุละ อวิชชา กับ ภวตัณหา อันเป็นตัวเหตุให้เกิดความทุกข์ทั้งหลาย ตั้งต้นแต่ชาติทุกข์ ทุกข์คือชาติความเกิดเป็นต้น ความรู้อันเป็นเหตุละนี้ก็สืบเนื่องมาจากความรู้กำหนด นามรูป ที่เกิดดับอยู่นี้เอง เพราะว่าเมื่อรู้เมื่อเห็นความเกิดความดับของนามรูป ก็ย่อมเป็นเครื่องละอวิชชาและภวตัณหาต่อไปด้วย เมื่อยังมิได้รู้กำหนดนามรูปที่เกิดดับอยู่ตามความเป็นจริง เมื่อรู้เมื่อเห็นนามรูปคราวใด ก็ย่อมยึดถือนามรูปที่รู้ที่เห็นนั้นคราวนั้น ความรู้ความเห็นนามรูปและยึดถือดังนี้ เป็นความรู้สามัญดังที่ได้กล่าวแล้ว ทุกๆคนต่างก็รู้ก็เห็นนามรูปของตนอยู่ รู้นาม ก็คือเมื่อเสวยเวทนาอะไร สุขทุกข์อย่างไรก็รู้เหมือนกัน จำอะไรได้ก็รู้ คิดอะไรก็รู้ เห็นอะไร ได้ยินอะไร ก็รู้สึกเห็น รู้สึกได้ยินสิ่งนั้นสิ่งนี้ ดั่งนี้เป็นนาม รู้รูป ก็เหมือนกัน เมื่อส่องดูกระจกก็มองเห็นเงาหน้า หรือเงารูปของตนในกระจก ถ่ายรูปก็มองเห็นรูปของตน และนอกจากนี้ นามเหล่านั้นก็เนื่องไปจากรูปเป็นส่วนมาก เพราะเหตุว่าอายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นรูป อายตนะภายนอกที่คู่กัน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เป็นรูป อายตนะที่ 6 คือ มโนหรือใจ แม้จะเป็นนาม คือไม่ใช่รูป แต่ก็เนื่องอยู่กับรูป เรื่องราวที่คู่กันกับใจ แม้จะไม่ใช่รูปก็เนื่องอยู่กับรูปเพราะฉะนั้น อารมณ์ของจิตใจอันเป็นที่เกิดขึ้นของนามธรรมทั้งหลาย ส่วนใหญ่ก็ไปจากรูป เพราะฉะนั้น รูปนี้จึงเป็นสิ่งที่เป็นที่เกิดส่วนใหญ่ของนาม และเป็นสิ่งที่ปรากฏแก่ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ที่เป็นประสาททั้งหมด

        เพราะฉะนั้น ต่างก็รู้ก็เห็นรูปกายกันอยู่ และรูปกายนี้เองก็เป็นที่รู้จักกันสำหรับคนอื่น เพราะแต่ละคนที่เห็นกันรู้จักกันก็ด้วยรูปกายนี้แหละ หาได้รู้ได้เห็นเข้ามาถึงนามธรรม คือใจของกันและกันไม่ นอกจากผู้ที่ได้เจโตปริยญาณเท่านั้น หรือผู้ที่มีกิเลสในใจยังเกิดขึ้นแรง แสดงออกมาทางหน้าตาและกิริยาอาการทางกาย ก็ทำให้รู้ได้ว่ากำลังมีใจเป็นอย่างไร เช่น กำลังมีใจชอบหรือกำลังมีใจชัง โกรธแค้นขัดเคือง ดั่งนี้เป็นต้น

 

สมมติ-บัญญัติ

       เพราะฉะนั้น ที่รู้ที่เห็นอันอยู่นี้ ต่างก็รู้เห็นกันอยู่ดั่งนี้ แต่รู้เท่าใด เห็นเท่าใด ก็ยึดถือเท่านั้น โดยเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา หรือเป็นเขา เป็นของเขา เป็นตัวตนของเขาตามสมมติบัญญัติทั้งหลาย และนอกจากนี้ยังมีความเห็นว่าเที่ยง ว่าเป็นสุข ว่าสวยงามต่างๆ ความเห็น ความรู้ ดั่งนี้ พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า อวิชชา ที่แปลว่าความไม่รู้ เพราะรู้เหมือนไม่รู้ หรือว่ารู้ผิด รู้หลง ด้วยว่าตามสัจจะคือความจริงของพระพุทธเจ้านั้น สมมติบัญญัติทั้งหลาย สมมติ ก็คือความหมายที่รู้กัน บัญญัติ ก็คือแต่งตั้ง เพราะว่าจะต้องมีความหมายรู้กัน สำหรับที่จะพูดจากันที่จะเรียกร้องกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องมีบัญญัติคือแต่งตั้งขึ้น นี้เป็นธรรมดาโลก เหมือนอย่างว่ากองทั้งห้าคือ ขันธ์ทั้งห้านี้ รูปขันธ์กองรูป ก็คือ กองของธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม ที่มากองรวมกันเข้าเป็นรูปขันธ์ ก็บัญญัติคือแต่งตั้งขึ้นว่า ให้กองรูปนี้จงเป็นรูปขันธ์ กองนี้ก็เป็นรูปขันธ์ขึ้น และคำว่ารูปขันธ์นี้ ก็เป็นสมมติคือเป็นที่หมายรู้กันรับรองกันเรียกกันทั่วไป สุข ทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขที่ทุกๆคนเสวยกันอยู่ รับกันอยู่ ก็แต่งตั้งขึ้นว่าเจ้าจงเป็นเวทนาขันธ์นะ ส่วนนี้ก็เป็นเวทนาขันธ์ขึ้น นี้เป็นบัญญัติ แล้วก็เป็นที่หมายรู้กันว่านี่เป็นเวทนาขันธ์ รับรองกัน เรียกกัน สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เหมือนกัน คราวนี้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้รวมกันเข้าก็แต่งตั้งขึ้นว่า ทั้ง 5 ที่มารวมกันเข้านี้จงเป็นสัตว์บุคคลนะ ก็เป็นสัตว์บุคคลขึ้น จงเป็นชายเป็นหญิงนะ ก็เป็นชายเป็นหญิงขึ้น หญิงชายนี้จงชื่อนั้นชื่อนี้ ตลอดจนถึงเป็นนั่นเป็นนี่นะ ก็เป็นขึ้น ดั่งนี้เป็นบัญญัติ ก็หมายรู้กัน รับรองกัน พูดจากัน ก็เป็นสมมติ สมมติบัญญัตินี้จึงต้องมีอยู่เป็นธรรมดาโลก แต่ว่าเมื่อยึดถือสิ่งที่สมมติบัญญัติขึ้นนี้ว่าเป็นจริงเป็นจัง เป็นตัวตนเราเขาก็ดี ยึดถือว่าเป็นของเที่ยงเป็นสุข เป็นของสวยงามน่ารักน่าชมก็ดีดั่งนี้ ความเห็น ความรู้ ที่เป็นเหตุยึดถือดั่งนี้ก็เป็น อวิชชา และความที่ยึดถือก็เป็น ตัณหา ซึ่งมีอาการเป็นความอยากและยึด ความอยากและยึดนี้ ลักษณะที่สำคัญก็คืออยากและยึดว่าเป็นตัวเราสืบมาเป็นของเรา ความอยากยึดว่าเป็นตัวเราขึ้นนี้ เรียกว่า อหังการ คือทำให้เป็นเราขึ้น สร้างให้เป็นเราขึ้น ความอยากและยึดว่าของเรา เรียกว่า มมังการ คือกระทำหรือสร้างให้เป็นของเราขึ้น

 

ลักษณะอวิชชาและภวตัณหา

      เพราะฉะนั้น อวิชชาคือความไม่รู้ อันหมายถึงรู้นั่นแหละแต่ว่ารู้ผิด รู้หลง อันเป็นความรู้ที่เป็นเหตุให้เกิดความอยาก และความยึดถือ ความรู้ ความเห็น ดั่งนี้เป็น อวิชชา ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่รู้ คือไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง ความอยากยึดซึ่งมีลักษณะสำคัญ คืออยากและยึดถือว่าเป็นตัวเราสืบมาเป็นของเราดั่งนี้ เป็นภวตัณหา

      อวิชชาและภวตัณหาดั่งนี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่แก่จิตใจที่เป็นสามัญทั่วไป ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และตรัสแสดงบอกไว้ว่า ยังมีอวิชชาและภวตัณหาอยู่ และนี่เป็นอวิชชา นี่เป็นภวตัณหา นี่เป็นอวิชชา ก็คือความรู้ ความเห็นในนามรูป ที่เข้าใจกันว่ารู้ว่าเห็น แต่เป็นความรู้เห็นที่ยึดถือดังที่กล่าวมาแล้ว รู้เห็นเท่าใดก็ยึดถือเท่านั้น มีตัวเราของเราออกไปครอบคลุมอยู่เต็มไปหมดเท่านั้น

       พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงตักเตือนให้รู้ว่า นี่เป็นตัวอวิชชานะ ไม่ใช่เป็นวิชชาคือความรู้ดอก คราวนี้อยากและยึดถือว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา ที่ออกไปรับรองอารมณ์ทั้งหลายอยู่นี่ก็เป็น ภวตัณหา คือเป็นตัณหาในภพ คือเป็นตัวความอยากที่เป็นเหตุให้ยึดถืออยู่ในภพคือความเป็น ได้แก่ ความเป็นเรา นี่เป็นภวตัณหาดอก ไม่ใช่เป็นตัวตนอะไรจริงจัง

    เพราะฉะนั้น นามรูปอันนี้จึงกลายเป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์ด้วย เป็นตัวทุกข์ด้วย ดังจะพึงเห็นได้ว่าตัวเราหรือของเรานี้ ได้ออกไปรับรองอยู่ในอารมณ์ทั้งหลายที่ประสบพบผ่านเต็มไปหมด เป็นต้นว่า เมื่อเห็นอะไรก็รู้สึกว่าตัวเราเป็นผู้เห็น และเมื่อตัวเราเป็นผู้เห็น สิ่งที่เห็นนั้นบางอย่างเราก็ชอบ บางอย่างเราก็ไม่ชอบ เมื่อได้ยินอะไร ก็มีตัวเราออกไปรับว่า ตัวเราได้ยินเสียงบางอย่างที่เราก็ชอบ เสียงบางอย่างเราก็ไม่ชอบ เมื่อได้กลิ่น ได้รส ได้ถูกต้อง ได้คิดถึงเรื่องอะไร ก็รู้สึกว่าตัวเรานี้เองเป็นผู้ได้รส เป็นผู้ได้กลิ่น เป็นผู้ได้ถูกต้อง เป็นผู้ได้คิด บางอย่างตัวเราก็ชอบ บางอย่างตัวเราก็ไม่ชอบ เพราะฉะนั้น จึงได้เกิดความชอบบ้าง ความชังบ้าง ความติดอยู่ที่เรียกว่าความหลงบ้าง ในอารมณ์คือ เรื่องทั้งหลายก็ตัวเราทั้งนั้น ตัวเรานี่เองเป็นผู้ชอบ ตัวเรานี่เองเป็นผู้ไม่ชอบ ตัวเรานี่เองเป็นผู้ติด หรือเป็นผู้หลง

 

การปฏิบัติเพื่อละอวิชชาและภวตัณหา

        คราวนี้ถ้ามาพิจารณาดูให้ดีว่า ตัวเรานี่อยู่ที่ไหนกัน สมมติว่าตัวเรามีสมมติบัญญัติขึ้นว่าเป็นนั่นเป็นนี่ และยึดถือในสมมติบัญญัติขึ้น แต่ว่าบางคราวได้รับการรับรองไม่สมยศสมเกียรติก็เกิดไม่ชอบขึ้น หรือว่าบางคราวก็ได้รับรองอย่างดี หรือได้รับสรรเสริญก็เกิดยินดีขึ้นดั่งนี้ เป็นต้น ก็พิจารณาลงไปว่าตัวเราที่มีสมมติบัญญัติ มียศ มีเกียรติ อะไรเป็นต้น หรือเป็นนั่น เป็นนี่ อะไรเป็นต้นนั้น อยู่ที่ไหนที่มาทำให้หัวใจต้องวุ่นวาย ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง เป็นต้น ตัวเราอยู่ที่รูปหรือ ก็รูปอันนี้เป็นสิ่งที่ประกอบขึ้นด้วยธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงต้องแปรปรวน ซึ่งในที่สุดก็ต้องแตกสลายกลายเป็นศพ ถ้าหากว่าเขาไม่นำไปเผาไปฝังเสียก็ต้องกลายเป็นศพเน่าเปื่อย

        ดังเช่นที่แสดงไว้ในบรรพว่าด้วยป่าช้า 9 ประการว่า เหมือนอย่างศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ตายวันหนึ่ง สองวัน สามวัน ขึ้นพองมีสีเขียวน่าเกลียด ร่างกายนี้ก็ฉันนั้น ถ้าเมื่อเป็นศพแล้วไม่มีใครเขาจัดอย่างไร หรือแม้มีใครเขาจัดใส่โลงไว้ก็จะต้องเป็นเช่นนี้ และถ้าเขาปล่อยทิ้งไว้ในป่าช้าก็จะต้องมีสัตว์มากัดกิน สัตว์ใหญ่บ้าง สัตว์เล็กบ้าง และเมื่อเขาปล่อยทิ้งไว้ในป่าช้า ต้องมีสัตว์มากัดกินดังนั้น อย่างน้อยก็จะเหลือเป็นโครงร่างกระดูก ยังเปื้อนเลือดติดอยู่ด้วยเนื้อและเลือด และถ้าเขายังทิ้งไว้เช่นนั้น ก็คงเป็นร่างกระดูกที่ปราศจากเนื้อเพราะว่าถูกสัตว์กัดกินไปหมด เหลือแต่เลือดที่ยังเปื้อนอยู่ ยังผูกเป็นร่างกระดูกดั่งนี้ เป็นต้น

        ถ้าหากว่ากายอันนี้จะเป็นตัวเป็นตนที่เป็นนั่นเป็นนี่ ก็กายอันนี้ยังต้องเป็นอย่างนี้แล้ว จะเป็นตัวเป็นตนที่ไหนกัน แล้วทำไมจึงจะมาหลงเอารูปกายอันนี้ ว่าเป็นเรา ซึ่งทำให้ต้องเดือดร้อน ยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง คราวนี้หากว่าจะมาถือเอาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอัตตา คือตัวตน สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดดับ ไม่เที่ยง ต้องแปรปรวนไปเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรจะมาถือว่าเป็นตัวเราให้เดือดร้อนรำคาญ

        พิจารณาอยู่ดั่งนี้เสมอ มองให้เป็นธรรมดาของนามรูปที่เกิดขึ้นแล้วต้องดับไปเสื่อมไป สัจธรรมก็จะปรากฏขึ้นแก่ความรู้ ดั่งนี้แหละเป็นตัวการปฏิบัติอบรมวิชชา และวิชชาดังกล่าวนี้ก็จะรู้จักว่า นี่แหละเป็นตัวอวิชชา นี่แหละเป็นตัวภวตัณหา ที่เป็นตัวสร้าง ตัวเรา ของเรา ให้บังเกิดความทุกข์ร้อนวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา ความรู้จักขึ้นดั่งนี้ นี่แหละเป็นตัวละ คือละอวิชชา ละภวตัณหา ละไปเองไม่ต้องไปคิดละ แต่ความรู้นี่เองเป็นตัวละ

        ความรู้จักกำหนดนามรูปที่เกิดดับอยู่อันทำให้รู้จักอวิชชา ภวตัณหา ว่านี่แหละที่เป็นตัวสร้าง ตัวเรา ของเรา ขึ้นในนามรูปอันทำให้บังเกิดความเดือดร้อนวุ่นวายอยู่เสมอ ซึ่งเป็นความรู้ที่เป็นเหตุละ ละอวิชชา ละภวตัณหา นี่เป็น อภิญญา คือความรู้ยิ่งขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ และความรู้ยิ่งดั่งนี้จะพึงปฏิบัติให้บังเกิดมีขึ้นได้ โดยปริยายอันหนึ่งก็คือการปฏิบัติตามสติปัฏฐาน ดังที่กล่าวมาข้างต้น

 

ธรรมกถาในการปฏิบัติอบรมจิต
ห้องประชุมสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
2 กันยายน พ.ศ.2515