Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๑๘๕

 

sangharaja-section


อภิญญา 1 ปริญญาในนามรูป

sungarachaพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระบรมศาสดาสั่งสอนธรรมแก่เราทั้งหลาย พระองค์ทรงเป็นผู้รู้ ผู้เห็น จนเป็นผู้ตื่นขึ้นด้วยความรู้ พระคุณของพระองค์ข้อนี้ ย่อมปรากฏอยู่ในพระธรรมคำสั่งสอนทุกข้อทุกบท ที่ล้วนแต่สั่งสอนให้เป็นผู้รู้ผู้เห็น จนเป็นผู้ตื่นขึ้นด้วยความรู้ พิจารณาดูตามกระแสพระธรรมคำสั่งสอน บุคคลผู้ยังประกอบด้วยความรู้ที่เป็นความรู้ผิดเป็นความรู้หลง ย่อมเป็นเหมือนอย่างเป็นผู้หลับอยู่ ซึ่งหลับสนิทไม่ฝัน หรือว่าหลับฝัน หลับสนิทไม่ฝันนั้นก็ไม่รู้อะไรเลย แต่ว่าหลับฝันก็ย่อมมีความรู้อยู่ในฝัน ฝันบางคราวบางอย่างก็น่าตกใจ ทำให้เกิดความดีใจอยู่ในความฝัน ก็คล้ายๆกับว่า เรื่องที่ฝันไปนั้นเป็นความจริง แต่ครั้นตื่นขึ้นมาแล้วก็รู้ว่าฝันไปทั้งนั้น ความยินดีความยินร้ายทั้งปวงนั้น ก็เป็นความยินดีความยินร้ายอยู่ในเรื่องที่ฝันเห็น ก็ล้วนเป็นความฝันไปทั้งสิ้น หาใช่เป็นความจริงไม่ ฉันใดก็ดี บุคคลผู้ที่ยังรู้ผิด ยังรู้หลงอยู่ในอารมณ์คือเรื่องทั้งหลาย เรื่องทั้งหลายนั้น เมื่อกล่าวยกเอาอายตนะขึ้นเป็นที่ตั้ง ก็ได้แก่เรื่องรูปที่ตาเห็น เรื่องเสียงที่หูได้ยิน เรื่องกลิ่นที่จมูกได้รู้ เรื่องรสที่ลิ้นได้รู้ เรื่องสิ่งที่ถูกต้องที่กายได้ถูกต้อง และเรื่องของรูป เสียง เป็นต้น เหล่านั้นที่ประสบพบผ่านมาแล้ว แต่ยังจำอยู่และเก็บมานึกมารู้อยู่ในใจ หรือเมื่อยกเอาโลกธรรม ธรรมสำหรับโลกขึ้นเป็นที่ตั้ง ก็เป็นเรื่องลาภ เรื่องยศ เรื่องสรรเสริญ เรื่องสุข อันเป็นฝ่ายที่เป็น อิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าปรารถนาต้องการยินดีบ้าง เป็นเรื่องความเสื่อมยศ เสื่อมลาภ ได้รับนินทาและทุกข์ต่างๆ อันเป็น อนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่ายินดีพอใจบ้าง และเมื่อได้รับเรื่องที่เป็นอารมณ์ของใจเหล่านี้ ก็เกิดความยินดีบ้าง ความยินร้ายบ้าง ไปในเรื่องทั้งหลายเหล่านั้น

นี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาโลกที่บังเกิดขึ้นแก่ทุกๆคน ผู้เกิดอยู่ในโลก แต่ผู้ที่มิได้พิจารณาให้เห็นสัจจะ คือ ความจริงของโลก ของสิ่งทั้งหลายในโลก ก็ย่อมเป็นผู้มีความรู้ผิดมีความรู้หลง ยึดถือโดยความเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา และเมื่อได้สมปรารถนา ก็เกิดความยินดี เมื่อไม่ได้สมปรารถนา ก็เกิดความยินร้าย ความยินดีความยินร้ายนี้ ก็ย่อมมีน้อยบ้างมากบ้าง ให้เกิดทุกข์โทษน้อยบ้าง มากบ้าง แต่เมื่อได้มาศึกษาให้รู้พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พิจารณาให้เห็นสัจจะ คือ ความจริงของโลกของสิ่งทั้งหลาย ก็ย่อมจะได้ความรู้ขึ้นอีกอย่างหนึ่งที่ตรงกันข้ามกับความรู้ที่เคยรู้มาก่อน ความรู้ที่เคยรู้มาก่อนนั้น เป็นความรู้ยึดถือด้วยความเห็นในสิ่งที่ ไม่เที่ยง ว่าเป็นของเที่ยง  ในสิ่งที่เป็น ทุกข์ ว่าเป็นสุข  สิ่งที่เป็น อนัตตามิใช่ตัวตน ว่าเป็นอัตตาตัวตน   ในสิ่งที่ ไม่สวยงาม ว่าเป็นสิ่งที่สวยงาม   ความรู้แต่เดิมมาก่อนแต่ได้ปฏิบัติอบรมก็ย่อมเป็นเช่นนี้ แต่เมื่อได้มาปฏิบัติอบรม พิจารณาให้เห็นสัจจะ คือความจริง คือพิจารณาให้เห็นสิ่งที่ ไม่เที่ยง ต้องเกิดต้องดับ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง   สิ่งที่เป็น ทุกข์ ว่าเป็นทุกข์   สิ่งที่เป็น อนัตตา ว่าเป็นอนัตตา   สิ่งที่ ไม่สวยงาม ก็ว่าไม่สวยงาม  ตามสัจจะคือความจริง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ความรู้ที่บังเกิดขึ้นจึงเป็นความรู้ปล่อย เป็นความรู้วาง เป็นความรู้ที่เหมือนอย่างตื่นขึ้นจากหลับ เห็นความยินดีความยินร้ายทั้งหลายในโลก ที่เคยเป็นมาอยู่นั้น เป็นเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในความฝัน แต่ครั้นตื่นขึ้นมาก็รู้ว่านั่นเป็นความฝันไปทั้งนั้น หาใช่เป็นความจริงไม่ ความจริงนั้นจึงอยู่เหนือจากความฝัน

เมื่อรู้เมื่อเห็นในสัจจะ คือ ความจริงที่เหนือขึ้นไปเช่นนี้ จึงทำให้เป็นผู้อยู่เหนือทุกข์ ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะโลกหรือเพราะสิ่งทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นในโลก เพราะเมื่อรู้เมื่อเห็นตามสัจจะคือความจริงแล้ว ก็ไม่ยึดถือ มีความปล่อยวาง ความรู้ดั่งนี้แหละที่เรียกว่าเป็น อภิญญา แปลว่า ความรู้ยิ่ง   ความรู้ที่เป็นอภิญญา คือความรู้ยิ่งนี้ก็คือ ยิ่งไปกว่าความรู้สามัญ เหนือความรู้สามัญ   ความรู้สามัญเป็นความรู้ผิด เป็นความรู้หลง ดังที่กล่าวแล้ว ส่วนความรู้ยิ่งที่เป็นอภิญญานี้ ก็เป็นความรู้ที่ยิ่งกว่า ที่เหนือกว่า เพราะเป็นความรู้ถูกตามสัจจะคือความเป็นจริง ทำให้คนผู้รู้เป็นผู้อยู่เหนือจากความทุกข์ของโลก เป็นผู้ที่ยิ่งไปกว่าสามัญที่ยังอยู่ด้วยความทุกข์ของโลก เพราะฉะนั้นอภิญญา คือความรู้ยิ่งนี้ จึงสมควรที่ผู้ปฏิบัติธรรม จะพึงอบรมจิตใจของตนให้เกิดมีอภิญญา คือ ความรู้ยิ่งดังกล่าวนี้มีขึ้นเมื่อใด ก็จะพบความพ้นเมื่อนั้น แม้เป็นความพ้นทุกข์ชั่วครู่ ชั่วขณะ หรือเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็ยังเป็นอันได้พบทางปฏิบัติและผลของความปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า

อภิญญา คือความรู้ยิ่งนี้ เมื่อแสดงในทางปฏิบัติ โดยปริยายคือทางอันหนึ่ง ก็คือความรู้ที่เป็นเครื่องกำหนดให้รู้สัจจะ คือความจริงของนามรูป นามรูปนี้เป็นภายใน โดยปกตินั้นคนเราก็รู้จักนามรูปของตน  รูปก็คือรูปกายอันนี้ที่ประกอบขึ้นด้วยธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นที่อาศัยของจิต ซึ่งเป็น ธาตุรู้   จิตที่เป็นธาตุรู้นี้ก็อาศัยอยู่ในรูปกายอันนี้ และก็ออกมารู้อารมณ์ คือเรื่องภายนอก อาศัยอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ มนะ คือใจ เมื่อออกมารู้ก็มาเป็นเวทนา คือรู้เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข   รู้จำเรียกว่าสัญญาจำนั่นจำนี่ได้ต่างๆบ้าง   รู้คิด เรียกว่าสังขาร คิดนั่นคิดนี่ ดีบ้างไม่ดีบ้าง รู้สึกเห็นรูปอะไรทางตา รู้สึกได้ยินอะไรทางหู รู้สึกได้กลิ่นอะไรทางจมูก รู้สึกได้รสอะไรทางลิ้น รู้สึกสิ่งที่กายถูกต้อง และรู้สึกถึงเรื่องราวอะไรที่ใจคิดต่างๆ ก็เป็นวิญญาณ   เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้เป็นอาการของจิตที่ออกมารู้อารมณ์   เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็บังเกิดขึ้นในอารมณ์นั่นเอง   นี้เป็นนาม เรียกสั้นๆก็คืออาการของใจหรือว่าใจ   รูปก็คือ รูปกาย เรียกสั้นว่ากาย   รวมความก็คือกายและใจอันนี้ คนเราก็รู้จักกายและใจของตนอยู่ด้วยกันทั้งนั้น แต่ก็รู้จักโดยเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา หรือว่าเป็นหญิง เป็นชาย เป็นบุคคลนั้น เป็นบุคคลนี้ เหล่านี้เป็นต้น

 

ชาติ ชรา มรณะ ตามที่เข้าใจกัน

นี่ก็เป็นความรู้อย่างหนึ่ง แต่ว่าเป็นความรู้ตามสมมติบัญญัติบ้าง เป็นความรู้ตามความยึดถือซึ่งเป็นตัณหาอุปาทานบ้าง ยังไม่ใช่เป็นอภิญญา เป็นความรู้สามัญ แต่ที่ประสงค์ให้ทำความกำหนดรู้ซึ่งจะเป็นอภิญญาขึ้นดังที่กล่าวมาในเบื้องต้นนั้น ก็คือให้รู้ความเกิดดับของนามรูปที่เป็นไปอยู่ นามรูปนี้มีความเกิดดับอันจะพึงพิจารณาเห็นได้โดยชาติ ชรา มรณะ ตามที่เข้าใจ หรือว่า ชาติ ชรา มรณะ อย่างละเอียด  ชาติ ชรา มรณะ อย่างที่เข้าใจกันนั้นก็คือ ความเกิดขึ้นมาเป็นชาติ ความแก่เป็นชรา มรณะเป็นความตาย แต่ถ้าพิจารณาดูให้ดีแล้ว คนเรามองไม่เห็นไม่รู้ เพราะว่าชาติคือความเกิดนั้นก็เกิดมาแล้ว เกิดมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ บุคคลเริ่มมารู้จักตนเองในเมื่อรู้เดียงสาแล้วเท่านั้น ก่อนแต่นั้นไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็เป็นอันไม่รู้ไม่เห็นชาติ คือความเกิด ความตายก็เหมือนกัน ตายเมื่อไรก็ยังไม่รู้ และเมื่อถึงคราวจะตายจริงก็คงไม่รู้อีก ที่ยังรู้อยู่นั้นก่อนตาย กล่าวคือยังรู้เจ็บตลอดจนถึงยังรู้จักกลัวตาย นั่นก่อนตายทั้งนั้น ถ้ายังกลัวตายอยู่ก็ยังไม่ตาย เพราะว่าความกลัวตายนั้นก็เป็นความรู้สึกอย่างหนึ่ง จะตายจริงนั้นไม่รู้อะไรเสียแล้ว กลัวตายก็ไม่รู้ เจ็บก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นอันว่าไม่รู้ไม่เห็นมรณะคือความตายอีกเช่นกัน   ว่าถึงความเกิดก็เช่นกัน แม้ว่าร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ว่าก็ยากที่จะมองเห็นความแก่ เพราะแม้กายจะแก่ ใจก็ยังไม่ยอมแก่อยู่นั่นเอง เพราะว่าจิตใจนั้นเป็นธรรมชาติที่อาจจะกล่าวได้ว่าไม่แก่ ความจริงเป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้น แม้จะมองเห็นความแก่อยู่โทนโท่ แต่ใจก็ยังไม่ยอมรับความแก่ เพราะว่าจิตใจนั้นเป็นธรรมชาติที่อาจจะกล่าวได้ว่าไม่แก่ ความจริงเป็นเช่นนี้ เพราะฉะนั้น แม้จะมองเห็นความแก่อยู่โทนโท่ แต่ใจก็ยังไม่ยอมรับความแก่ เป็นอันว่าเหมือนอย่างไม่รู้ไม่เห็นความแก่เช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น การพิจารณาว่า เรามีความเกิด เรามีความแก่เป็นธรรมดา เราจะมีความตายเป็นธรรมดา หรือเติมเรามีความเจ็บเป็นธรรมดา จึงเป็นสิ่งที่จะต้องคิดว่าจะต้องพิจารณาอย่างไร ก็อาจพิจารณาด้วยคิดเอาเองว่า ต้องเกิดจึงได้มีกายใจอันนี้หรือนามรูปอันนี้ และก็จะต้องตาย เพราะทุกๆคนก็จะต้องตายและก็มองเห็นคนที่ตายอยู่เป็นปกติ และความแก่ความเจ็บก็อาจพิจารณาเห็นได้ แม้เช่นนี้ก็ยังเป็นประโยชน์ เพราะอาจทำให้เกิดธรรมสังเวชขึ้นได้ตามสมควร

ชาติ ชรา มรณะ อย่างละเอียด

แต่ว่าอีกอย่างหนึ่ง พิจารณาชาติ ชรา มรณะ อย่างละเอียด  คือ ชาติ ชรา มรณะ   ปัจจุบัน ชาติ ก็มีอยู่ในปัจจุบัน ชราก็ปัจจุบัน มรณะก็ปัจจุบัน  ว่าถึงรูป ก็มีชาติ ความเกิดอยู่ในปัจจุบัน เพราะว่าธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่มาประกอบขึ้นเป็นรูปกายนี้ เป็นสิ่งที่เสื่อมสิ้นไปอยู่เสมอ ไม่มีเวลาหยุดว่าง แต่ในขณะเดียวกันก็มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นอาหารเข้ามาทดแทนสืบต่อไป แปลว่า ดับหรือหมดสิ้น แต่ก็มีเกิดเข้ามาต่อเป็น สันตติ คือความสืบต่ออยู่ดังนี้ ทุกๆคนจึงต้องบริโภคอาหาร การบริโภคอาหารนี้ก็ดูเพียงอาหาร คือคำข้าวที่บริโภคกัน วันละหนึ่งมื้อ สองมื้อ สามมื้อ เป็นต้น แม้จะอดไปสักวันสองวันก็ยังไม่ตาย ยังอยู่ได้ ถ้าเพียงเท่านี้ก็ยังเป็นการหยาบ ถ้าพิจารณาให้ละเอียดยิ่งขึ้นแล้วจะเห็นว่า ต้องกินลมกันอยู่ทุกชั่วลมหายใจเข้าออก คือต้องหายใจเข้าออกกันอยู่ทุกขณะ ลมหายใจนี้เป็นวาโยธาตุ เป็นธาตุอย่างหนึ่งที่บำรุงเลี้ยงร่างหาย และในวาโยธาตุคือในลมนี้มีปฐวีมีวาโยมีเตโช อย่างละเอียดปนอยู่ด้วย ซึ่งทุกๆคนต้องบริโภค น้ำ ไฟ ลม ที่มาประกอบกันเป็นกายนี้ สิ้นไปหมดไปอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก จึงต้องหายใจเอาธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม นี้เข้าไปทดแทนกันอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ความเกิด ความดับของรูปกายอันนี้ จึงมีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก แต่มี สันตติคือความสืบเนื่อง ดับคือหมดสิ้นไป แล้วก็มีเกิดต่อไปอีก ตามเหตุปัจจัย เหตุก็คือกรรม กรรมที่สนับสนุนชีวิต ปัจจัยก็คืออาหาร เมื่อเหตุเกิด เมื่อเหตุคือกรรม ปัจจัยคืออาหาร ยังสนับสนุนอยู่ตราบใด ชีวิตของรูปกายอันนี้ ก็เป็นไปได้อยู่ตราบนั้น เมื่อสิ้นกรรมที่สนับสนุน สิ้นอาหารที่สนับสนุน รูปกายอันนี้ก็ดับ โดยที่ไม่มีเกิดขึ้นมาทดแทนอีก หรือหายใจออกแล้วก็เป็นอันสิ้นสุดของชีวิต ส่วน นามธรรม หรือใจนี้เล่า ก็ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นเกิดขึ้นในอารมณ์คือเรื่อง และเรื่องทั้งหลายที่ผ่านเข้ามาในใจนี้ก็มากมายมีอยู่ทุกขณะจิต เป็นเรื่องรูปบ้าง เรื่องเสียงบ้าง เป็นต้น และเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็บังเกิดขึ้นในอารมณ์อย่างหนึ่ง แล้วก็ดับไป รับอารมณ์อย่างอื่นก็เกิดใหม่แล้วก็ดับไป เป็นไปอยู่ดั่งนี้รวดเร็วยิ่งกว่าความเกิดความดับของรูปกายยิ่งนัก

พิจารณาให้เห็นดังนี้แล้ว ก็จะเกิดความรู้ขึ้นว่า นามรูปนี้ มีแต่ความเกิดความดับ ความเกิดความดับย่อมเป็นไปอยู่อย่างนี้ ก็เป็นอภิญญาคือความรู้ยิ่งอีกประการหนึ่ง ซึ่งเป็นความรู้ยิ่งขึ้นไปจากความรู้สามัญ

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมสั่งสอนโดยปริยาย คือทางเป็นอันมาก ก็เพื่อที่จะให้รู้เข้าถึงสัจจะ คือความจริง คือความเกิดความดับดั่งนี้ แต่การที่จะพิจารณาให้เข้าถึงสัจจะ คือความจริงดั่งนี้ได้ ก็จะต้องตั้งสติคือความรู้เพ่งพินิจเข้ามาดูที่กาย เวทนา จิต ธรรม ตามหลักสติปัฏฐาน แม้จะยกเอาข้อใดข้อหนึ่งขึ้นมาพิจารณาก็ได้ทั้งนั้น ลมหายใจเข้าออกก็ได้ อิริยาบถก็ได้ อาการ 31, 32 ก็ได้  ธาตุ 4 ก็ได้  หรือพิจารณาถึงศพในภายนอกเทียบเข้ามาถึงกายอันนี้ก็ได้

ดังเช่นที่ได้แสดงไว้ถึงบรรพที่ว่าด้วยป่าช้า ให้พิจารณาศพที่ตั้งทิ้งอยู่ในป่าช้า หรือนึกถึงศพเช่นนั้น ซึ่งตายวันหนึ่ง สองวัน สามวัน มีสีเขียวขึ้นอืด และนึกเทียบเข้ามาว่ากายนี้ก็จะต้องเป็นเช่นนั้น  หรือพิจารณาว่าศพที่ทิ้งไว้เช่นนั้น หรือพิจารณาว่าศพที่ทิ้งไว้เช่นนั้น ก็มีสัตว์ต่างๆ ทั้งสัตว์ใหญ่ สัตว์เล็ก มากัดกิน และพิจารณาเทียบเข้ามาถึงกายนี้ว่า ก็จะต้องเป็นเช่นนั้น หรือว่าพิจาณาถึงซากศพที่ทิ้งไว้ในป่าช้า หรือนึกถึงซากศพเช่นนั้น ซึ่งได้ถูกสัตว์กัดกินจนเหลืออยู่แต่โครงกระดูก แต่ก็ยังเปื้อนเลือดเปื้อนเนื้ออยู่ พิจารณาเทียบเข้ามาถึงกายอันนี้ว่าก็จะต้องเป็นเช่นนั้น ดั่งนี้ก็ได้ความพิจารณา เช่นนี้ รวมเข้าแล้วก็จะทำให้เห็นความเกิด ความดับ ดังที่กล่าวแล้ว และเมื่อเป็นเช่นนี้ ความรู้เช่นนี้ก็จะเป็นตัว อภิญญา อย่างหนึ่ง ซึ่งจะทำให้สลัดความยึดถือเกี่ยวเกาะพร้อมทั้งความทุกข์ทั้งหลาย ให้ตำลงไปจากใจ ได้ตามควรแก่ความอบรมปฏิบัติ

 

ธรรมกถาในการปฏิบัติอบรมจิต
ห้องประชุมสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
1 กันยายน พ.ศ.2515