Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๑๘๔

sangharaja-100years


sangharaja-section

สมถะ 2 วิธี

ได้แสดงวิธีปฏิบัติฝ่ายสมถะ คือ ให้ทำจิตใจให้สงบตั้งมั่นมาแล้ว 2 ประการ คือ อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออกอย่างหนึ่ง กายคตาสติ สติที่ไปในกายอย่างหนึ่ง การทำสมาธิด้วยวิธีทั้ง 2 ดังกล่าวมานั้น อานาปานสติ มุ่งรวมจิตไว้เป็นหนึ่งให้รู้หายใจเข้าหายใจออก ส่วนกายคตาสติ สติที่ไปในกาย มุ่งพิจารณาไปตามอาการของกาย มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น เพื่อให้ความปฏิกูลปรากฏตามเป็นจริง

ธาตุกรรมฐาน

จะแสดงอีกวิธีหนึ่ง อันเรียกว่า ธาตุกรรมฐาน คือการกำหนดพิจารณาโดยความเป็นธาตุ คำว่า ธาตุ ในที่นี้ คือส่วนซึ่งเป็นที่รวมโดยลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ไม่ใช่ความหมายว่าเป็นธาตุคือเป็นต้นเดิม กล่าวคือในกายนี้ ส่วนที่แข้นแข็งก็สมมติเรียกว่า ปฐวีธาตุ ธาตุดิน  ส่วนที่เอิบอาบก็สมมติเรียกว่า อาโปธาตุ ธาตุน้ำ  ส่วนที่อบอุ่นก็สมมติเรียกว่า เตโชธาตุ ธาตุไฟ  ส่วนที่พัดไหวก็สมมติเรียกว่า วาโยธาตุ ธาตุลม  การพิจารณากายโดยอาการ 31 หรือ 32 ดังที่ได้แสดงแล้วในวันก่อน เป็นการจำแนกออกไปตามอวัยวะภายนอกอวัยวะภายใน ส่วนในการพิจารณาโดยความเป็นธาตุนี้ก็สรุปอาการเหล่านั้นเข้ามา กล่าวคือ :

ธาตุดิน

เกสา ผม  โลมา ขน  นขา เล็บ  ทนฺตา ฟัน  ตโจ หนัง  มํสํ เนื้อ  นหารู เอ็น  อฏฺฐิ กระดูก  อฏฺฐิมิญชํ เยื่อในกระดูก  วกฺกํ ไต  หทยํ หัวใจ  ยกนํ ตับ  กิโลมกํ พังผืด  ปิหกํ ม้าม  ปปฺผาสํ ปอด  อนฺตํ ไส้ใหญ่  อนฺตคุณํ ไส้เล็ก  อุทริยํ อาหารใหม่  กรีสํ อาหารเก่า  และส่วนใดส่วนหนึ่งที่แข้นแข็งในร่างกายนี้ ก็สมมติเรียกว่า เป็น ปฐวีธาตุ คือธาตุดิน

ธาตุน้ำ

ปิตฺตํ ดี  เสมฺหํ เสลด  ปุพฺโพ น้ำหนอง  โลหิตํ น้ำเลือด  เสโท น้ำเหงื่อ  เมโท มันข้น  อสฺสุ น้ำตา  วสา มันเหลว  เขโฬ น้ำลาย  สิงฺฆานิกา น้ำมูก  ลสิกา ไขข้อ  มุตฺตํ มูตร  และส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกายนี้เป็นส่วนเหลวเอิบอาบ ก็สมมติเรียกว่าเป็นอาโปธาตุ ธาตุน้ำ

ธาตุไฟ

เยน สนฺตปฺปติ ไฟที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น  เยน ชิริยติ ไฟที่ทำให้ร่างกายชำรุดทรุดโทรม  เยน ปริฑยฺหติ ไฟที่ทำให้ร่างกายเร่าร้อน  เยน อสิตปีตขายิตสายิตํ สมฺมา ปริณามํ คจฺฉติ ไฟที่ทำให้อาหารที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้มย่อย และส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกายนี้ที่มีลักษณะอบอุ่น ก็สมมติเรียกว่า เป็น เตโชธาตุ ธาตุไฟ

ธาตุลม

          อุทฺธงฺคมา วาตา ลมพัดขึ้นเบื้องบน  อโธคมา วาตา ลมพัดลงเบื้องต่ำ  กุจฺฉิสยา วาตา ลมในท้อง  โกฏฺฐสยา วาตา ลมในไส้  องฺคมงฺคานุสาริโน วาตา ลมพัดไปตามอวัยวะน้อยใหญ่  อสฺสาโส ปสฺสาโส ลมหายใจเข้าลมหายใจออก และส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกายนี้มีลักษณะพัดไหวได้ ก็สมมติเรียกว่า เป็น วาโยธาตุ ธาตุลม

ธาตุอากาศ

อนึ่ง ได้มีแสดงธาตุที่ห้าในพระสูตรอื่น คือ อากาศธาตุ ธาตุคือช่องว่างในร่างกายอันนี้ ได้แก่ กณฺณจฺฉิทฺทํ ช่องหู  นาสจฺฉิทฺทํ ช่องจมูก  มุขทฺวารํ ช่องปาก  เยน จ อสิตปิตขายิตสายิตํ ช่องที่อาหารล่วงล้ำลำคอลงไป  ยตฺถ จ สนฺติฏฐติ และช่องที่อาหารเก็บอยู่  เยน จ อโธภาคา นิกฺขมติ และช่องที่อาหารออกไปในภายนอก หรือช่องว่างเหล่าอื่นในร่างกายอันนี้ สมมติเรียกว่าเป็น อากาศธาตุ อากาศธาตุ คือช่องว่าง

 

วิธีแยกธาตุ

          โดยปกติคนเราย่อมมีความยึดถือร่างกายอันนี้ว่าเป็นเรา เป็นตัวตนของเรา เมื่อมาพิจารณาโดยความเป็นธาตุ คือแยกให้ออกไปว่า  ส่วนที่แข้นแข็ง ก็เป็นธาตุดิน  ส่วนที่เอิบอาบ ก็เป็นธาตุน้ำ  ส่วนที่อบอุ่น ก็เป็นธาตุไฟ  ส่วนที่พัดไหว ก็เป็นธาตุลม  และส่วนที่เป็นช่องว่าง ก็เป็นอากาศธาตุ  เมื่อเป็นเช่นนี้ ตนหรือของตนที่ยึดถืออยู่นี้ก็กลายเป็นธาตุ และถ้าลองพิจารณาแยกธาตุเหล่านี้ออกไปทีละอย่าง คือเมื่อพิจารณาดูส่วนที่แข้นแข็งอันเรียกว่าเป็นธาตุดิน แยกเอาธาตุดินออกไปเสียจากร่างกายอันนี้ ก็จะเหลืออยู่แต่ธาตุน้ำเป็นต้น เมื่อแยกเอาธาตุน้ำออกไปเสียอีก ก็จะเหลืออยู่แต่ธาตุไฟ เป็นต้น เมื่อแยกเอาธาตุไฟออกไปเสีย ก็จะเหลือแต่ธาตุลม เป็นต้น เมื่อแยกเอาธาตุลมออกไปเสียอีก ก็จะเหลือแต่ช่องว่างไปทั้งหมด

 

สมถะเจือวิปัสสนา

การพิจารณาโดยความเป็นธาตุนี้ จะพิจารณาตามที่ท่านแสดงไว้ดังกล่าวมานี้ก็ได้ หรือจะพิจารณาโดยวิธีอื่นที่วิทยาการในบัดนี้ได้กล่าวไว้อย่างละเอียดจนถึงเป็นอณูหรือปรมาณูก็ได้ เมื่อพิจารณาดูดังนี้และแยกเอาธาตุออกไปเสียทีละอย่างๆ ในที่สุดสิ่งที่สมมติที่ยึดถือว่า เป็นเรา เป็นของเรา นี้ก็จะกลายเป็น อากาศธาตุ คือเป็นช่องว่างไปทั้งหมด ไม่มีเรา ไม่มีของเรา ไม่มีตัวตนของเรา การพิจารณาธาตุกรรมฐานแยกร่างกายออกโดยความเป็นธาตุดังกล่าวมานี้ จึงเป็นอุบายที่จะระงับความยึดถือว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา และแม้ในภายนอก คือ บุคคลอื่น สิ่งอื่นก็คงมีลักษณะเช่นเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ทำให้ไม่ยึดถือในบุคคลอื่น สิ่งอื่นว่าเป็นตัวเป็นตน ทำให้เกิดความปล่อยวาง ทำจิตให้เกิดความสงบตั้งมั่น นี้ก็เป็นวิธีหนึ่งในฝ่ายสมถะ แต่ว่าสติที่พิจารณาไปในกาย ดังที่กล่าวมาแล้วในคราวก่อนก็ดี การพิจารณาแยกธาตุดังที่กล่าวในบัดนี้ก็ดี เป็นฝ่ายสมถะ คือทำให้ใจสงบตั้งมั่นด้วย เจือวิปัสสนา คือความรู้แจ้งเห็นจริงด้วย แต่มุ่งให้เกิดความรู้แจ้งขึ้นโดยที่ไม่ได้แกล้งจะให้เห็น เพราะว่าเมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นธาตุปรากฏขึ้นอย่างแจ่มแจ้งแล้ว ก็จะเห็นสักว่า เป็นธาตุ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เราเขา ทำให้จิตใจที่เคยหมกมุ่นอยู่ ที่เคยเป็นทุกข์อยู่ในความเป็นตน ในความเป็นของตน ตลอดจนถึงในภายนอกพลอยสงบไปด้วย จึงเป็นเหตุให้ได้ความสงบใจ ความเย็นใจ

 

นิ่งหรือคิด

การกำหนดพิจารณาไปในกายและโดยความเป็นธาตุนี้ จิตไม่ได้รวมเป็นหนึ่งเพราะต้องใช้พิจารณา ส่วนอานาปานสตินั้นมุ่งให้จิตรวมเป็นหนึ่ง ไม่ต้องใช้พิจารณา การจะใช้วิธีไหนนั้นก็สุดแต่ความพอใจ เพราะว่าจิตใจของคนเรานั้น ในบางคราวก็ชอบหยุดนิ่ง ในบางคราวก็ชอบคิด ฉะนั้น ในเวลาที่จิตพอใจในการหยุดนิ่งก็ใช้อานาปานสติ ในเวลาที่จิตชอบเที่ยว คิดไปทางโน้น ชอบคิดไปในทางนี้ แทนที่จะปล่อยให้จิตเที่ยวคิดไปภายนอก ก็หาที่เที่ยวให้จิตภายในกายนี้ กำหนดว่า เบื้องบนตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงไป มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ ให้จิตเที่ยวอยู่ภายในกายนี้เท่านั้น โดยพิจารณาให้เป็นไปในกาย หรือให้เป็นไปโดยความเป็นธาตุ

 

กายเป็นตำรากรรมฐาน

          การศึกษาในสมถะ การศึกษาในวิปัสสนา ก็ศึกษาที่กายนี้เท่านั้น ก็คล้ายๆกับการเรียนเป็นแพทย์ ตำราแพทย์เล่มใหญ่ก็อยู่ที่ร่างกายอันนี้ ศึกษาอยู่ที่กายอันนี้ การปฏิบัติในฝ่ายสมถวิปัสสนาก็เช่นเดียวกัน ศึกษาอยู่ที่กายอันนี้ แต่มุ่งผลให้จิตตั้งมั่น สงบ และให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ปล่อยวาง

 

ธรรมกถาในการปฏิบัติอบรมจิต
ห้องประชุมสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
4 สิงหาคม พ.ศ.2515
(๒/๒)