Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๑๘๒

sangharaja-100years


sangharaja-section

วิธีนั่งสมาธิ

กระแสของธรรมนั้นคือกระแสของธรรม ในคำบรรยายอบรม ซึ่งชี้เข้ามาถึงกระแสธรรมภายในตน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดรู้ ก็แหละในการปฏิบัติกรรมฐานนี้ เมื่อได้ทราบธรรมที่เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติ และสถานที่ที่จะพึงใช้ในการปฏิบัติดังที่กล่าวแล้ว ก็พึงทราบต่อไปว่าได้ตรัสสอนให้นั่งบัลลังก์ คือนั่งขัดสมาธิหรือขัดสมาธิ์ ตั้งกายตรงดำรงสติมั่นคือรวมใจเข้ามา กิริยาที่นั่งนี้ เป็นกิริยาที่ใช้ในการนั่งสมาธิทั่วไป แต่แม้จะใช้กิริยาในการนั่งอย่างอื่นซึ่งสะดวกแก่ตน เช่น นั่งพับเพียบหรือนั่งเก้าอี้ก็ใช้ได้ แต่ต้องนั่งตั้งตัวตรง เพราะกิริยาที่นั่งตัวตรงนี้การหายใจเข้าออกย่อมเป็นไปสะดวกและเป็นกิริยานั่งที่ถูกหลักอนามัย เลือดลมเดินสะดวกก็ทำให้การปฏิบัติอบรมใจสะดวก และไม่ชวนให้ง่วงได้ง่ายเหมือนอย่างนั่งพิงฝา เพราะว่าเมื่อนั่งพิงก็อาจทำให้สบายเกินไป ทำให้ง่วงได้ด้วย เมื่อได้นั่งให้มีสัปปายะแก่การปฏิบัติอย่างนี้

 

บุพภาคของการปฏิบัติกรรมฐาน

ข้อที่หนึ่ง ท่านอาจารย์ทั้งหลายท่านก็สอนให้ ตั้งใจถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ คือที่พึ่งโดยแท้จริง พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์นี้ เป็นสรณะที่พึ่งของจิตใจที่ผู้ปฏิบัติจะพึงตั้งใจถึงให้มั่นคงดังบทสวดว่า

นตฺถิ เม สรณํ อญฺญํ               ที่พึ่งอื่นของข้าพเจ้าไม่มี
            พุทฺโธ เม สรณํ วรํ                  พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า
            ธมฺโม เม สรณํ วรํ                   พระธรรมเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า
            สงฺโฆ เม สรณํ วรํ                   พระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า
            เอเตน สจฺจวชฺเชน                 ด้วยความกล่าวคำสัตย์นี้
            โสตฺถิ เม โหตุ สพฺพทา           ขอความสวัสดี จงมีแก่ข้าพเจ้า ดั่งนี้

            การตั้งใจถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะคือที่พึ่งอย่างแท้จริงดั่งนี้ ก็เชื่อว่าได้ถึงสรณะ เป็นบุพภาคของการปฏิบัติกรรมฐานข้อหนึ่ง

อีกข้อหนึ่ง ก็ตั้งใจทำ วิรัติ คือความงดเว้น ทางกาย ทางวาจา ตลอดถึงทางใจ ต่อความละเมิดศีล ทางกาย ทางวาจา ทางใจทั้งปวง ให้เป็นผู้มีศีลขึ้นในปัจจุบัน เพราะวิรัติเจตนานี้เป็นตัวศีล ซึ่งเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบทั้งสิ้น แม้การปฏิบัติในกรรมฐาน ก็ต้องมีศีลนี้แหละเป็นพื้นฐาน ถ้าไม่มีศีลเป็นพื้นฐาน การปฏิบัติกรรมฐานก็เป็นไปไม่ได้ แต่ก็พึงทำความเข้าใจว่าศีลที่เป็นพื้นฐานนี้ ให้จำกัดเข้ามาเป็นศีลในปัจจุบัน เพราะว่าศีลในอดีตนั้นอาจจะบริสุทธิ์บ้าง เศร้าหมองบ้าง อาจจะมีบ้าง ไม่มีบ้าง ถ้าพึงนึกถึงศีลในอดีตที่เศร้าหมอง หรือถึงความไม่มีศีลในอดีต ข้อนี้ก็จะเป็นนิวรณ์ต่อการทำกรรมฐาน เพราะฉะนั้น ให้ตั้งศีลเข้าในปัจจุบัน คือตั้งทำวิรัติในปัจจุบันว่า บัดนี้ ข้าพเจ้าตั้งใจงดเว้นจากความประพฤติละเมิดผิดทางกาย ทางวาจา ตลอดจนถึงทางใจ วิรัติเจตนานี้ก็จัดเป็นข้อป้องกันโลภ โกรธ หลง อย่างหยาบที่จะดึงใจไปให้ละเมิดผิดต่างๆ ไม่ไปพูดอะไรทางวาจาเป็นการผิดศีล แต่ใจก็คิดว่าจะไปทำร้ายเขาบ้าง คือคิดจะไปทำการฆ่าเขาบ้าง คิดจะไปลักของๆเขาบ้าง ดั่งนี้เป็นต้น เรียกว่าไม่มีศีลทางใจ กายไม่ได้ทำ วาจาก็ไม่ได้ไปพูด แต่ว่าศีลทางใจไม่มี เมื่อศีลทางใจไม่มี การที่จะไปนั่งกรรมฐานที่เป็นสมาธิเป็นปัญญาก็เป็นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น เมื่อกายสงบ วาจาสงบ ใจก็ต้องสงบ คือความสงบความคิดล่วงดังกล่าวนั้น ดั่งนี้ เรียกว่า กายเป็นศีล วาจาเป็นศีล ใจเป็นศีล

สรณะและศีลทั้งสองนี้ รวมกันเป็นภาคพื้นของการปฏิบัติกรรมฐาน เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติในกรรมฐานก็พึงตั้งใจถึงสรณะ และตั้งใจทำวิรัติเจตนาให้เป็นตัวศีลขึ้นในปัจจุบัน เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้กระทำภาคพื้นสำหรับการปฏิบัติกรรมฐาน และก็ทำความตั้งใจอัญเชิญพระกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่งมาปฏิบัติด้วยกายและใจอันนี้ ให้เป็นที่รองรับการปฏิบัติ และกรรมฐานที่จะพึงเลือกมา อัญเชิญมา ปฏิบัตินั้น ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ ก็คือ สติปัฏฐานทั้ง 4 ที่ได้กล่าวมาแล้ว

 

อานาปานปัพพะ

ในการปฏิบัตินั้นก็ให้อัญเชิญมาตั้งสำหรับปฏิบัติเพียงหนึ่งข้อ และข้ออันพึงควรอัญเชิญปฏิบัติข้อแรกที่ทรงตรัสสอนไว้ คือ อานาปานปัพพะ ข้อที่ตรัสสอนให้ตั้งสติ ทำความรู้ในความหายใจเข้า หายใจออก ตั้งสติ คือตั้งความรู้หายใจเข้าหายใจออก ตามที่ได้ตรัสสอนไว้ตามลำดับ ดังนี้

- หายใจเข้ายาว ก็ให้รู้ว่าเราหายใจเข้ายาว  หายใจออกยาว ก็ให้รู้ว่าเราหายใจออกยาว

- หายใจเข้าสั้น ก็ให้รู้ว่าเราหายใจเข้าสั้น  หายใจออกสั้น ก็ให้รู้ว่าเราหายใจออกสั้น

- ศึกษา คือทำความสำเหนียกว่า เราจักรู้กายทั้งหมด หายใจเข้าออก (เป็นอันรู้การหายใจทั้งหมด)

- ศึกษา คือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักสงบระงับกายสังขาร คือเครื่องปรุงกายหรือการปรุงกายหายใจเข้า ออก ดั่งนี้

ตามวิธีที่ตรัสสอนไว้นี้ มีอธิบายโดยสังเขปว่า การหายใจเข้า การหายใจออก ของทุกๆคนนี้ ย่อมมีอยู่ประจำขาดไม่ได้ นับว่าเป็นเอกของความดำรงชีวิต หรือเป็นตัวชีวิต ทำสติในลมหายใจ ก็คือทำความรู้ในลมหายใจนั้นเอง เมื่อทำความรู้ให้รู้อยู่ในลมหายใจ หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ ดั่งนี้ ชื่อว่าทำสติในลมหายใจ

 

จุดกำหนดลมหายใจ

เพราะฉะนั้น กล่าวสั้นๆ การทำสติในลมหายใจ ก็คือการทำความรู้ในการหายใจ ลมหายใจนั้นก็คือลมที่หายใจเข้าหายใจออก เมื่อพิจารณาดูก็ย่อมจะรู้ว่า ในการหายใจดังกล่าวนี้ ลมมากระทบที่ปลายจมูกหรือที่ริมฝีปากเบื้องบน และนาภีก็จะเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เมื่อทำความรู้เข้ามา ก็ย่อมจะพบลมกระทบจมูก หรือริมฝีปากเบื้องบน และย่อมจะพบความเคลื่อนไหวของนาภีที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน ท่านอาจารย์จึงได้สอนให้ตั้งจุดกำหนด เป็นสามจุด คือ

1. ปลายกระพุ้งจมูก หรือริมฝีปากเบื้องบน
2. นาภีที่เคลื่อนไหว จุด 2 นี้นับว่าเป็นจุดต้นจุดปลาย
3. สมมติที่หทัยเป็นศูนย์กลาง

หายใจเข้าก็รู้ ลมหายใจเข้าผ่านปลายกระพุ้งจมูก ผ่านหทัยถึงนาภี หายใจออกจากนาภีผ่านหทัยมาออกปลายกระพุ่งจมูก อาจารย์ท่านหนึ่งสอนกำหนดอย่างนี้ และให้ทิ้งเสียสองจุด ให้เหลือไว้เพียงจุดเดียว คือที่ปลายกระพุ้งจมูกหรือที่ริมฝีปากเบื้องบน เมื่อรวมใจเข้ามารู้ อยู่ดั่งนี้

 

สงบระงับกายสังขาร

รูปกายนามกาย กายทั้งหมดก็จะปรากฏขึ้นด้วย รูปกาย คือ รูปกายที่นั่งอยู่นี้ ตลอดถึงกองลมทั้งหมดที่หายใจเข้าออก นามกาย ก็คือจิตใจอันนี้ที่ประกอบด้วยความรู้ ความคิด หรือประกอบด้วยสติ ปัญญา คือความระลึกรู้ กำหนดความรู้ที่รวมกันอยู่นี้ รวมความว่าทั้งกายและใจทั้งหมดให้รวมกันเข้าปรากฏอยู่ในความรู้ เมื่อเป็นเช่นนี้จิตก็จะรวมเข้ามา การรวมจิตเข้ามานั้น ก็คือการรวมใจนี้เองเข้ามาอยู่ในความรู้ กายและใจทั้งหมดปรากฏอยู่แก่ความรู้ กำหนดเหมือนอย่างเป็นก้อนกลมๆก้อนหนึ่ง ปรากฏแก่สายตาที่ดูอยู่ เมื่อกายและใจทั้งหมดรวมเข้ามาแก่ความรู้อย่างนี้ สมาธิก็จะเริ่มมีขึ้น การก็จะเริ่มสงบเข้า ใจก็เริ่มสงบเข้า เมื่อกายและใจสงบเข้า อาการที่ปรุงทางกายอันเรียกว่า กายสังขาร ก็ละเอียดเข้าสงบเข้าตั้งต้นแต่กิริยาที่หายใจ ที่ว่าถึงอวัยวะภายในก็คือในทรวงอก เมื่อว่าถึงภายนอกที่ปรากฏก็คือใช้ทางจมูก และปรากฏความเคลื่อนไหวที่นาภี เรียกว่าการปรุงทางกายทั้งนั้น ใจก็ต้องปรุงคือต้องตั้งสติ ตั้งความรู้ ต้องมีวิตก คือต้องตั้งจิตไว้ในอารมณ์ของสมาธิ ต้องมีวิจาร คือคอยประคองไม่ให้ตกออกไป เมื่อตกออกไปต้องคอยนำเข้ามา นี้เป็นการปรุงทางใจ แต่เมื่อได้สมาธิดีขึ้น กายสงบ ใจสงบ อาการปรุงอย่างนี้ก็จะสงบเข้า จนถึงการเคลื่อนไหวของนาภีไม่ปรากฏ สงบเหมือนอย่างไม่ได้หายใจ แต่ความจริงก็เป็นการหายใจอย่างละเอียด ทั้งจิตใจเองที่ต้องคอยปรุงอยู่ เมื่อจิตรวมเข้า ความที่คอยปรุงก็สงบไป คือไม่ต้องปรุง เมื่อใจอยู่ที่ดีขึ้น เรียกว่าสงบระงับกายสังขาร คือการที่จะต้องปรุงใจ เพราะว่าจิตอยู่เป็นสมาธิดีขึ้น

เมื่อเป็นดั่งนี้ กาย กล่าวคือการหายใจเข้าหายใจออก ที่ตั้งไว้เป็นอารมณ์ของสมาธิก็มีอยู่ คือมีอยู่แก่ความรู้ ความรู้ก็กำหนดรู้อยู่เป็นจุดอันเดียว แต่ก็เพียงแค่รู้ ไม่ยึด จิตก็เป็นอุเบกขา คือความเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ก็นับว่าเป็นสติปัฏฐาน คือเป็นความตั้งสติ หรือเป็นความปรากฏแห่งสติ ซึ่งชื่อว่า อานาปานสติ ตั้งสติการหายใจเข้าออก

 

 

ธรรมกถาในการปฏิบัติอบรมจิต
ห้องประชุมสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
3 สิงหาคม พ.ศ.2515