Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๑๘๑

sangharaja-100years

sangharaja-section

กาย เวทนา จิต ธรรม

กระแสของธรรมนั้น คือกระแสของความจริงที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และได้ทรงแสดงสั่งสอน กระแสของความจริงนี้ ก็เป็นความจริงภายในตนเองนี้เอง กระแสของธรรมซึ่งมีอยู่ภายในตนเองนี้ ก็มีอยู่ที่กายและใจอันนี้ ไม่ใช่มีอยู่ในที่อื่น โดยปริยายคือทางอันหนึ่ง ทุกๆคนย่อมมีกาย มีเวทนา มีจิต และมีธรรม

กาย ก็คือรูปกายอันนี้ ที่ประกอบขึ้นด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม อันเป็นวัตถุ ซึ่งเรียกว่า เป็น มหาภูตรูป คือเป็นรูปที่เป็นส่วนใหญ่ ประกอบด้วยรูปที่เป็นส่วนละเอียดต่างๆ เช่น ประสาททั้งห้า มีจักขุประสาท ประสาทตา โสตประสาท ประสาทหู เป็นต้น ประกอบด้วยชีวิต นี้เรียกว่าเป็น กาย

เวทนา เมื่อเป็นกายที่ประกอบด้วยชีวิตดั่งนี้ ก็ย่อมมี เวทนา คือ ความรู้เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ ไม่สุข นี้เรียกว่า เวทนา

จิต คือ ธรรมชาติที่มีความรู้ มีความคิด ที่อาศัยอยู่ในกายอันนี้ ดังที่เรียกกันว่า จิตใจ ซึ่งทุกๆคนมีอยู่และย่อมจะรู้จิตใจของตนเองอยู่เสมอ ว่ามีความคิดอย่างไร และมีอาการอย่างไร นี้เรียกว่า จิต

ธรรม ธรรมหมายถึงส่วนประกอบที่ประกอบอยู่กับจิต เป็นส่วนชั่วเรียกว่า อกุศลธรรม ก็มี เป็นส่วนดีเรียกว่า กุศลธรรม ก็มี เป็นส่วนกลางๆ เรียกว่า อัพยากตธรรม ก็มี นี้เรียกว่า ธรรม

กาย เวทนา จิต ธรรมนี้ จึงเป็นส่วนที่ทุกคนมีอยู่ และทั้ง 4 นี้ ก็ย่อมมีกระแส คือความเป็นไป ความเป็นไปของกาย ของเวทนา ของจิต ของธรรม ดังกล่าวนี้โดยปริยายคือทางอันหนึ่ง ก็คือ ความเกิด ความดับ ซึ่งมีอยู่เสมอตลอดเวลา และอีกอย่างหนึ่ง ก็คือกระแสของจิตใจ ที่ปรารถนาและยึดถืออยู่ใน กาย เวทนา จิต ธรรมนี้ ดังเช่นปรารถนาให้กายสวยงาม ไม่เจ็บ ไม่แก่ ดำรงอยู่เสมอ ปรารถนาให้เวทนาเป็นสุขเวทนาอยู่เสมอ คือต้องการสุข ปรารถนาให้จิตใจเป็นจิตใจที่สมประสงค์อยู่เสมอ อยากจะได้อะไรก็ต้องการที่จะให้ได้ดังใจ และปรารถนาที่จะให้พบเรื่องที่พอใจ ที่ชอบใจอยู่เรื่อยๆ เช่นต้องการที่จะพบแต่สิ่งที่เรียกว่า เป็นลาภ เป็นยศ เป็นสรรเสริญ เป็นสุข ที่จะมาเป็นอารมณ์ คือ เป็นเรื่องที่ปรารถนาพอใจ และก็มีความยึดถืออยู่ในสิ่งเหล่านี้ จึงได้กลายเป็น จริต คือ ติดเป็นอัธยาศัย เป็นนิสัยขึ้น ที่ทำให้ต้องการแต่ความสวยงามของร่างกาย ไม่ชอบแก่ ไม่ชอบเจ็บ ไม่ชอบตาย ต้องการความสุข ต้องการที่จะตามใจตนเอง และต้องการสิ่งทั้งหลายที่ใจชอบ จึงกลายเป็นตัณหา อุปาทาน ขึ้น และตัณหาอุปาทานที่เป็นตัวจริต ดังที่กล่าวมานี้ ก็ซับซ้อนอยู่ ในตัณหาอุปาทานที่ยึดถืออยู่ ในกาย เวทนา จิต ธรรมนี้นี่แหละ ว่าเป็น ตัวเรา เป็น ของเรา เพราะฉะนั้น จึงต้องการที่จะให้สิ่งที่เป็นตัวเรา ของเรานี้ ไม่แก่ ไม่ตาย สวยงามอยู่เสมอ เป็นสุขอยู่เสมอ ได้ดังใจอยู่เสมอ พบเรื่องราวอะไรที่ชอบอยู่เสมอ ตัณหาอุปาทานดั่งนี้ ย่อมทำจิตใจให้ปรารถนา ให้ยึดถือ ซึ่งทำให้บังเกิดผลอีกหลายอย่างสืบเนื่องกันไป เช่น ก่อเจตนา คือความจงใจ ประกอบกรรมต่างๆออกไป ทางกาย ทางวาจา และแม้ทางใจเอง ที่จะปรนปรือความต้องการและความยึดถือนี้นี่เอง เช่นต้องการไม่แก่ ไม่ตาย ต้องการความสวยงามของร่างกาย ก็ปรนปรือให้ได้รับผลเช่นนั้น แสวงหาสิ่งต่างๆมาบำรุงร่างกาย เป็นผ้านุ่งห่มบ้าง เป็นอาหารบ้าง เป็นสิ่งต่างๆบ้าง จนร่างกายนี้ใช้ไม่หวัดไม่ไหว แล้วยังไม่พอ และแสวงหาความสุขต่างๆมาปรนปรือให้เกิดสุขเวทนา แสวงหาสิ่งต่างๆมาปรนปรือใจเอง และแสวงหาเรื่องที่ใจชอบต่างๆ เมื่อความปรารถนานี้มีมากเพียงไร ก็ทำให้ความดิ้นรนแสวงหามากเพียงนั้น จนถึงไม่เลือกว่าเป็นทางผิดหรือทางถูก จึงบังเกิดเป็นบาป เป็นอกุศล เป็นทุจริตขึ้น และนอกจากนี้ ก็ยังจะต้องประสบกับความไม่สมปรารถนา เพราะการที่จะแสวงหาสิ่งต่างๆ มาปรนปรือความอยากความต้องการดังกล่าวนั้น ย่อมไม่สามารถที่จะสมปรารถนาไปทั้งหมดได้ และไม่สามารถที่จะทำให้เพียงพอกับความอยากได้ เหมือนอย่างการหาเชื้อมาใส่ไฟ ที่จะให้เพียงพอแก่ไฟนั้น หาได้ไม่ ยิ่งหาเชื้อมาใส่ไฟให้มากขึ้นเพียงไร ไฟก็ลุกกองโตขึ้นเพียงนั้น กินเชื้อมากขึ้น ไหม้หมดไปทั้งเมืองแล้วก็ยังไม่พอ ไฟของตัณหาก็เป็นฉันนั้น ไม่สามารถจะปรนปรือให้พอได้ และนอกจากนี้ คติธรรมดา คือ ความเกิด ความดับ ซึ่งเป็นอาการที่ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ก็ย่อมมีอยู่ในสิ่งทั้งหลาย กาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งทุกๆคนปรนปรืออยู่ด้วยตัณหาอุปาทานอย่างนักหนาดังกล่าวนี้ ก็ย่อมตกอยู่ในคติธรรมดาเช่นนั้น

เพราะฉะนั้น จึงต้องประสบความทุกข์ เดือดร้อน เพราะความปรารถนาไม่สมหวังบ้าง เพราะอกุศลทุจริตต่างๆทั้งหลายบ้าง และจิตใจเองก็ไม่ได้พบกับ ความสงบ ซึ่งเป็นตัวสุขอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นจึงต้องอยู่ด้วยความเศร้าหมอง คือตัณหาอุปาทานซึ่งเป็นตัวกิเลสเครื่องเศร้าหมอง และความทุกข์เดือดร้อนทั้งหลาย ต้องมีความไม่บริสุทธิ์กาย ไม่บริสุทธิ์วาจา ไม่บริสุทธิ์ใจ ต้องมีโสกะ ปริเทวะ คือความแห้งใจ ความคร่ำครวญใจ ต้องมีทุกข์โทมนัส คือความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ต้องตกต่ำ ต้องวนเวียนอยู่ในความทุกข์เดือดร้อนทั้งหลาย

 

จริต 4 ประเภท

โลกียสัตว์ย่อมเป็นไปอยู่เช่นนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงแสดงไว้ว่าสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้

บางจำพวกเป็นผู้มี ตัณหาจริตอย่างหยาบ คือ มีตัณหาความอยากอย่างหยาบเป็นอัธยาศัย ซึ่งทำให้ติดอยู่ใน กาย

บางจำพวกมี ตัณหาจริตอย่างละเอียด คือ มีตัณหาความอยากอย่างละเอียดเป็นอัธยาศัย ซึ่งทำให้ติดอยู่ใน เวทนา

บางจำพวกมี ทิฏฐิจริตอย่างหยาบ คือ มีความเห็นผิดอย่างหยาบเป็นอัธยาศัย ซึ่งทำให้ติดอยู่ใน จิต

บางจำพวกมี ทิฏฐิจริตอย่างละเอียด คือ ความเห็นผิดอย่างละเอียดเป็นอัธยาศัย ซึ่งทำให้ติดอยู่ใน ธรรม คือเรื่องราวที่ปรารถนาต้องการ

แต่เมื่อพิจารณาดูแล้ว โลกียสัตว์บุคคลทั่วไป ก็ย่อมมีจริตทั้ง 4 นี้อยู่ด้วยกันน้อยหรือมาก เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าซึ่งทรงเป็นผู้รู้ ทรงเป็นผู้เห็น ทรงเป็นผู้มีพระกรุณา จึงได้ตรัสบอกทางปฏิบัติเพื่อชำระจริตอัธยาศัยทั้ง 4 ประการนี้ อันเรียกว่า สติปัฏฐาน คือที่ตั้งของสติ หรือความปรากฏขึ้นแห่งสติ 4 ประการ สติปัฏฐาน 4 ประการนี้ก็มิได้ตรัสบอกไว้ในที่ห่างไกลที่ไหน แต่ก็ตรัสบอกไว้ให้ตั้งสติพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม ทั้ง 4 ประการนี้เอง ที่ทุกๆคนมีอยู่ เพื่อจะให้รู้ให้เห็นตามความเป็นจริง

 

อานิสงส์ของสติปัฏฐาน 4

สติปัฏฐาน ทั้ง 4 ประการนี้        มีอานิสงส์ผลดังที่ตรัสแสดงไว้ในต้นพระสูตรว่า
เอกายโน อยํ มคฺโค                  ทางนี้เป็นทางไปอันเอก คือเป็นทางไปอันเดียว
สตฺตานํ วิสุทฺธิยา                     เพื่อความบริสุทธิ์หมดจด แห่งสัตว์บุคคลทั้งหลาย
โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย         เพื่อก้าวล่วงความโศก ความปริเทวะทั้งหลาย
ทุกขฺโทมนฺสานํ อตฺถงฺคมาย       เพื่อดับทุกข์และโทมนัสทั้งหลาย
ญายสฺส อธิคมาย                     เพื่อบรรลุญายธรรม คือธรรมที่ถูกที่ชอบ
                                             ซึ่งจะพึงบรรลุได้ด้วยการปฏิบัติชอบโดยลำดับ
นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย            เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ดั่งนี้
 

เครื่องมือสำหรับปฏิบัติสติปัฏฐาน

ก็แหละ ครั้นตรัสแสดงชี้ทางปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง 4 ประการนี้ พร้อมทั้งตรัสบอกอานิสงส์ผลดังนี้ ก็ได้ตรัสจำแนกข้อที่พึงตั้งสติพิจารณาไว้เป็น 4 ประการ คือ กาย อย่างหนึ่ง เวทนา อย่างหนึ่ง จิต อย่างหนึ่ง ธรรม อย่างหนึ่ง ดังกล่าว และได้ตรัสบอกเครื่องมือสำหรับที่จะใช้ปฏิบัติไว้ อันผู้ปฏิบัติพึงทราบ และพึงใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติ 4 ข้อ คือ

อาตาปี มีความเพียร คือจะต้องมีความพากเพียรพยายามในการปฏิบัติ
- เพียรเริ่มต้นปฏิบัติ
- เพียรดำเนินการปฏิบัติ และ
- เพียรปฏิบัติเรื่อยไปให้ก้าวหน้าไปอยู่เสมอ ถ้าขาดความเพียรเสียดั่งนี้ ก็จะไม่มีการปฏิบัติขึ้นได้

สัมปชาโน มีสัมปชานะ คือความรู้ ในที่นี้หมายถึงความรู้ตัว คือมีความรู้ในอิริยาบทน้อย อิริยาบทใหญ่ ของตนเอง มีความรู้ที่ควบคุมตนเองอยู่

สติมา มีสติ ก็คือมีความรู้อีกนั่นแหละ แต่เป็นความรู้ที่รู้กำหนดอยู่ในข้อสติปัฏฐานที่ตั้งขึ้น สำหรับปฏิบัติ คือความรู้ที่ระลึกกำหนดในกาย เวทนา จิต ธรรม ตามที่ยกขึ้นสำหรับตั้งสติ และ

วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ กำจัดความยินดี ความยินร้ายในโลกเสีย คือเมื่อเกิดความยินดีขึ้นก็ดี ความยินร้ายขึ้นก็ดี ก็ให้กำจัดเสีย ดังเช่นเมื่อจับปฏิบัติขั้นแรกก็น่าจะเกิดความยินร้าย เช่นว่าต้องเมื่อยขบในการนั่ง จิตใจก็ไม่เป็นสุข เพราะต้องมานั่งกำหนดอยู่ในการปฏิบัติ ก็แปลว่า ก็น่าจะไม่สบายทั้งกายทั้งใจ เมื่อปฏิบัติทีแรก นี่ก็ทำให้ยินร้าย ถ้าหากว่าแพ้ต่อความยินร้ายเสียเช่นนี้ ก็ต้องเลิกการปฏิบัติ การปฏิบัติจะเกิดขึ้นและจะดำเนินไปไม่ได้ หรือว่าเกิดความยินดีในอารมณ์ภายนอกที่ดึงใจออกไปอยู่เสมอ ใจรวมเข้ามา ก็มีอารมณ์ที่น่ายินดีที่ค้างอยู่ในใจ คอยดึงใจออกไป ดั่งนี้ ก็ต้องกำจัด ใจจึงจะรวมเข้ามาเป็นสมาธิได้ แม้ยินดีในข้อปฏิบัติก็ต้องกำจัดเหมือนกัน เพราะจะทำให้จิตใจฟุ้งซ่านไปด้วยความยินดี ต้องคอยกำจัดความยินดียินร้ายอยู่ดั่งนี้ ประคองใจให้เป็นอุเบกขา คือเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ในการปฏิบัติ

รวมเข้า ก็เป็นเครื่องมือ 4 ประการ ซึ่งผู้ปฏิบัติจะพึงยึดถือเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติอยู่เป็นประจำ และครั้นทรงแสดงเครื่องมือในการปฏิบัติ 4 ประการดั่งนี้ ก็ทรงได้ตรัสสอนให้เลือกสถานที่ปฏิบัติ ที่ตรัสชี้ไว้ ก็คือ

- ป่า
- โคนไม้
- เรือนว่าง

พิจารณาดูถึงสถานที่ๆตรัสชี้ไว้นี้ ก็คือต้องการที่ๆสงบสงัด แต่ก็พึงเข้าใจว่าที่สงบสงัดนี้ เป็นสถานที่ภายนอกอย่างหนึ่งเป็นสถานที่ภายในอย่างหนึ่ง สถานที่ภายนอกนั้น ก็ต้องการสถานที่สงบสงัด จะเป็นป่า เป็นโคนไม้ เป็นเรือนว่าง หรือเป็นที่อื่นใดก็ตาม แม้จะหาสถานที่ๆมีลักษณะเป็นความสงบสงัดสมบูรณ์เต็มที่ไม่ได้ เมื่อรู้จักทำใจของตัวเองให้สงบสงัด ก็ใช้ได้เหมือนกัน ดั่งที่เรียกว่าทำบ้านให้เป็นป่า ทำให้เป็นเหมือนโคนไม้ ให้เป็นเหมือนเรือนว่าง ตามที่ตรัสสอนไว้ในบางพระสูตร ก็คือทำจิตใจ ให้สงบสงัดนี้เอง ไม่ยึดถือในรูป ในเสียง เป็นต้น ที่รบกวน เมื่อรู้จักทำใจให้สงบสงัดดั่งนี้ แม้จะไม่ได้สถานที่ๆสงบสงัดเต็มที่ ก็สามารถปฏิบัติได้ แต่ถ้าทำใจให้สงบสงัดไม่ได้ แม้จะไปอยู่ป่าจริงๆ ใจเองก็ยังไม่สงบสงัดอยู่นั่นเอง เพราะยังคลุกเคล้าอยู่ คลุกคลีอยู่ อลหม่านอยู่ ด้วยอารมณ์คือเรื่องทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น จึงต้องมีกาย มีใจ ประกอบด้วยสถานที่ภายนอกภายในดังกล่าว ที่สงบสงัดพร้อมที่จะปฏิบัติได้ จึงเริ่มปฏิบัติ ตามสติปัฏฐานทั้ง 4 ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้


ธรรมกถาในการปฏิบัติอบรมจิต
ห้องประชุมสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
2 สิงหาคม พ.ศ.2515