Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๑๘๐

sangharaja-100years


sangharaja-section

อบรมจิตให้ปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา

จิตใจนี้ต้องอบรมจึงจะเป็นประโยชน์ และจะพบความสุขอย่างประณีตอันเหนือความสุขที่เคยได้รับ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรม โดยตรงก็เพื่ออบรมจิต แม้การปฏิบัติใน ศีล เมื่อปฏิบัติใหม่ๆย่อมกระวนกระวาย แต่เมื่อได้ปฏิบัติจนศีลหยั่งรากลงในจิต ศีลก็อบรมจิตให้มีความสงบ และจิตนี้ จะขาดศีลเสียมิได้ เมื่ออบรมใน สมาธิ ก็เช่นเดียวกัน ในชั้นแรก จิตจะไม่ยอมเป็นสมาธิ จะดิ้นรนกวัดแกว่ง กระสับกระส่าย แต่เมื่อสมาธิได้หยั่งรากลงในจิต จิตก็จะต้องการสมาธิ จะขาดสมาธิเสียมิได้ ปัญญา คือความรู้ ก็เช่นเดียวกัน ในชั้นแรก จิตจะมืดมัวไม่มองเห็นสัจจะคือความจริง แต่เมื่ออบรมปัญญาอยู่บ่อยๆ ปัญญาจะหยั่งรากลง จิตก็จะต้องการปัญญา คือต้องการความรู้ จะขาดปัญญา คือความรู้เสียมิได้ จิตที่มี ศีล สมาธิ ปัญญา หยั่งรากลงต้องการ ศีล สมาธิ ปัญญา อยู่เช่นนี้ ก็จะได้พบผล คือ สันติ ความสงบหรือ วิมุติ ความหลุดพ้นอันสันติ ความสงบ หรือ วิมุติ ความหลุดพ้นนี้ ไม่ใช่เป็นธรรมอันสุดเอื้อม อันสามัญชนไม่ได้ไม่ถึง แต่ว่าเป็นธรรมที่ผู้ปฏิบัติ จะได้ จะถึง อยู่ทุกเวลา ตามภูมิตามชั้น เพราะเมื่อได้ปฏิบัติอยู่ใน ศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะได้พบกับ สันติคือความสงบใจ และวิมุติคือความหลุดพ้น ซึ่งปรากฏอยู่ที่สันติ คือความสงบใจนี้ เพราะว่าจิตใจจะมีสันติคือความสงบระงับ ก็ต้องเป็นจิตใจที่มีวิมุติ คือพ้น พ้นจากสิ่งที่ทำให้ไม่สงบ เหมือนอย่างพื้นน้ำที่ในแม่น้ำหรือในทะเลที่สงบ ก็จะต้องสงบ ในขณะที่ลมได้พ้นไป หรือว่าพ้นไปจากลม ซึ่งเป็นเรื่องมากวนน้ำให้เป็นคลื่น อาการที่ทะเลหรือพื้นน้ำพ้นไปจากลมหรือว่าลมพ้นไป ดังนี้ เรียกว่าวิมุติ อาการที่สงบเป็นสันติ เพราะฉะนั้น วิมุติกับสันติจึงเป็นธรรมส่วนผลที่ประกอบอยู่ด้วยกัน อันผู้ปฏิบัติอยู่ใน ศีล สมาธิ ปัญญา จะพึงได้ประสบอยู่ทุกขณะ

ก็แหละจิตใจ ที่อบรมด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ย่อมเป็นจิตใจที่ได้พบกับวิมุติหรือสันติ และต้องการ ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องการวิมุติหรือสันติ ส่วนที่ได้อบรมไปแล้วก็ย่อมจะเป็นพื้นฐาน และเมื่อมีพื้นฐานที่สูงขึ้น ขั้นของการปฏิบัติก็ย่อมจะสูงขึ้น และในการปฏิบัติใน ศีล สมาธิ ปัญญา นี้ ก็จะพึงปฏิบัติให้มีประกอบกันอยู่ ศีลนั้นก็พึงมีเป็นภาคพื้น และสมาธิก็พึงอบรมให้มีขึ้นสำหรับเป็นบาทของปัญญา ความมุ่งหมายของสมาธิ โดยตรงต้องการให้เป็นบาทของปัญญา แต่ว่าผลของสมาธิอีกอย่งหนึ่งก็คือความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน เพราะสมาธิก็เหมือนอย่างห้องเย็น เมื่อเข้าสู่ห้องเย็นก็ย่อมมีความสุข ปราศจากความร้อนและเครื่องรบกวนทั้งหลาย จิตที่เข้าสู่สมาธิก็ย่อมเป็นสุขปราศจากเครื่องรบกวนทั้งปวง เพราะฉะนั้น ความอยู่เป็นสุขในปัจจุบันนี้ จึงเป็นผลของสมาธิอีกอย่างหนึ่ง แต่ว่าถ้าติดอยู่ในผลดั่งนี้ สมาธิก็จะกลายเป็นนิวรณ์ คือเป็นเครื่องกั้นอย่างหนึ่ง ไม่ให้เจริญปัญญา เพราะเมื่อเข้าห้องเย็น คือหลบเข้าสู่สมาธิ อยู่กับความสุขในสมาธิ ก็ไม่อยากที่จะทำอะไร ไม่อยากที่จะพิจารณาอะไร สงบอยู่เฉยๆ สบายๆ เมื่อมีความชำนาญในสมาธิ จะอยู่เฉยๆ สบายๆ ดั่งนี้ นานสักเท่าไหร่ก็ได้ แต่ว่าก็ไม่บังเกิดผลทางปัญญาแต่อย่างใด เมื่อติดอยู่ด้วยความสุขในสมาธิดั่งนี้ ก็กลายเป็นอุปกิเลส เป็นนิวรณ์ เป็นเครื่องกั้นไว้ไม่ให้เกิดปัญญาดังกล่าว เพราะฉะนั้น ท่านจึงต้องการให้มีสมาธิเป็นบาท คือให้เป็นที่ตั้ง เหมือนอย่างเป็นเท้าสำหรับที่จะดำเนินเข้าสู่ปัญญาซึ่งเป็นตัวความรู้

 

ลักษณะของสภาวธรรม

ก็แหละ อันปัญญา คือความรู้ที่เป็น ปัญญาสิกขา หรือเป็นข้อที่ 3 สืบมาจากสมาธิและศีลนั้น โดยตรงก็มุ่งถึง วิปัสสนาปัญญา คือความรู้ที่เห็นแจ้ง เห็นแจ้งในอะไร ก็คือ เห็นแจ้งในสภาวธรรมโดยสามัญญลักษณะ นี้เป็นคำจำกัดความอย่างสั้น เห็นแจ้งในสภาวธรรมโดยสามัญญลักษณะ

สภาวธรรม นั้น คือธรรมโดยสภาพ คำว่า สภาพ หรือ สภาวะ แปลว่า ภาวะของตน คือ มีภาวะของตนตามเหตุและปัจจัย หมายถึง นามรูป อันนี้ คือกายและใจอันนี้ กายและใจอันนี้ ชื่อว่าเป็นสภาวธรรม ธรรมโดยสภาพ คือมีภาวะของตนตามเหตุและปัจจัยนั้น เหตุ ก็คือ มีกิเลสและกรรมเป็นเหตุให้เกิดมาและมีปัจจัยอุดหนุนต่างๆเป็นต้นว่า ความประกอบกันเข้าของธาตุทั้ง 4 มีจิตใจเข้ามาครอง ก็เป็นชาติ คือความเกิดขึ้น และเมื่อเป็นชาติ คือความเกิดขึ้นมาแล้ว ก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป จนถึงแตกสลายในที่สุด ความเกิดและความแก่และความตาย ที่มีในอันดับต่อไปของนามรูป หรือกายและใจอันนี้ก็เป็นสภาวะ คือความเป็นไปของตนเองตามเหตุและปัจจัย ดั่งนี้ จึงชื่อว่าเป็นสภาวธรรม นามรูป หรือกายและใจอันนี้ ย่อมมีลักษณะที่กำหนดให้รู้ได้ คือ

อนิจฺจํ             ไม่เที่ยง คือเป็นสิ่งที่เกิดดับ
ทุกฺขํ              เป็นทุกข์ คือแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป
อนตฺตา           มิใช่อัตตาตัวตน

ลักษณะทั้ง 3 นี้ เป็นลักษณะของกายและใจอันนี้ ที่จะกำหนดให้รู้ได้

วิปัสสนาปัญญา ปัญญาคือวิปัสสนา ความเห็นแจ้ง ก็ต้องการให้เห็นแจ้งในนามรูปนี้โดยสามัญญาลักษณะ คือ อนิจฺจํ ไม่เที่ยง ทุกขํ เป็นทุกข์ อนตฺตา มิใช่ตัวตน ในการนี้ก็จะต้องอาศัยสมาธิ คือความรวมจิตเข้ามาเพ่งพินิจ ที่นามรูปอันนี้

 

ขันธ์ 5 เป็นอนัตตา

ในการรวมจิตเข้ามาเพ่งพินิจ เมื่อแสดงโดยอนัตตลักขณสูตร พระสูตรที่แสดงลักษณะอนัตตา คือยกอนัตตาขึ้นแสดง ก็ต้องการให้ใช้สมาธิ คือรวมจิตเข้ามาเพ่งพินิจดูที่กายอันเรียกว่า รูปขันธ์ คือกองรูป รูป อันประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่เป็นก้อน กองอยู่นี้ คือที่นั่งอยู่นี้ นี่เป็นรูปขันธ์ กองรูป

นาม หรือ ใจ ในส่วนที่รู้ เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ดังในบัดนี้ ใจก็มีทุกข์มีสุข กายเองก็มีทุกข์มีสุข ใจที่สงบเย็นก็เป็นสุข ใจที่ดิ้นรนกวัดแกว่ง อึดอัด ก็เป็นทุกข์ กายที่ร้อนที่เมื่อขบ ก็เป็นทุกข์ กายที่ต้องลมเย็น สะดวกคล่อง ก็เป็นสุข นี่ก็เป็น เวทนาขันธ์ กองเวทนา

คราวนี้ใจที่จำได้หมายรู้ จำรูปได้ จำเสียงได้ จำกลิ่นได้ จำรสได้ จำสิ่งที่กายถูกต้องได้ จำเรื่องราวต่างๆได้ นี่ก็เป็น สัญญาขันธ์ กองสัญญา

ใจที่คิดปรุงแต่งไปต่างๆ ดีบ้างไม่ดีบ้าง ก็เป็น สังขารขันธ์ กองสังขาร

ใจที่รู้สึกเห็นอะไร รู้สึกได้ยินอะไร ดังเช่นในบัดนี้ก็รู้สึกได้ยินเสียงที่พูดในที่นี้ รุ้สึกได้ยินเสียงรถข้างนอก นี่ก็เป็น วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ

ผู้ปฏิบัติอบรมวิปัสสนาปัญญา ก็พึงทำสมาธิ คือเพ่งพินิจลงไปให้รู้จักว่านี่กองรูป รูปกองอยู่นี่ นี่กองเวทนา เวทนากองอยู่ที่นี่ นี่กองสัญญา สัญญากองอยู่ที่นี่ นี่กองสังขาร ความคิดปรุงหรือความปรุงคิด สังขารกองอยู่ที่นี่ เพ่งพินิจลงไปให้รู้จักหน้าตาของขันธ์ทั้ง 5 นี้ และก็ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ตรัสแสดงไว้ว่า ทั้งหน้านี้เป็น อนัตตตา มิใช่ตัวตน เพราะว่าเป็นไปเพื่ออาพาธ ถ้าจะพึงเป็น อัตตา คือตัวตนแล้ว ก็จะไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ ใครๆก็จะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาได้ว่า ขอให้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย แต่ว่าจะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาอย่างนั้นหาได้ไม่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อมเป็นไปเพื่ออาพาธ เพราะฉะนั้น จึงเป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน อาพาธ นั้น แปลว่าเบียดเบียน เป็นไปเพื่ออาพาธก็คือเป็นไปเพื่อความเบียดเบียน ก็คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ มีอาพาธ คือมีเครื่องเบียดเบียนอยู่โดยรอบ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ถูกความแก่เบียดเบียนให้แก่ ถูกความเจ็บเบียดเบียนให้เจ็บ ถูกความตายเบียดเบียนให้แตกสลาย นี้ว่าตามหลักใหญ่ๆ และเมื่อจะพิจารณาให้ย่อยออกไป ก็จะพึงเห็นได้ว่า ถูกความสิ้นไป ความเสื่อมไป เบียดเบียนอยู่ตลอดเวลา

ว่าถึงรูปขันธ์ เห็นได้ชัดที่ต้องถูกความสิ้นไปเสื่อมไปเบียดเบียนอยู่ตลอดเวลา ซ้ำยังแถมถูกเครื่องแวดล้อมเป็นต้นว่า ดิน ฟ้า อากาศ และกรรมของบุคคลด้วยกันเองเบียดเบียนอีกด้วย นามขันธ์ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีความสิ้นความเสื่อมไปที่มีอยู่ประจำตลอดนี้เบียดเบียนอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน และเมื่อรูปต้องถูกเบียดเบียน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นส่วนนามธรรมหรือส่วนใจ ก็ถูกเบียดเบียนไปด้วย และเมื่อใจถูกเบียดเบียน รูปก็พลอยถูกเบียดเบียนไปด้วย เครื่องเบียดเบียนนั้นมีอยู่ตลอดเวลา จนถึงตาย หรือแตกสลายไปจนได้ในที่สุด แม้ในปัจจุบันนี้ ความสิ้นไป ความเสื่อมไป ความแตกสลาย ก็มีอยู่ตลอด แต่อาศัยอาหารมาเป็นเครื่องบำรุงเลี้ยงทดแทนกัน จึงดำรงอยู่ได้

เพราะฉะนั้น เมื่อบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ ต้องถูกเบียดเบียนอยู่เช่นนี้ตลอดเวลา จึงเป็น อนัตตา มิใช่ตัวตน เพราะถ้าเป็น อัตตา คือตัวตนแล้วไซร้ ก็จะต้องบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาได้

นัยแห่งพระสูตร สอนให้พิจารณาดั่งนี้ ก็หัดพิจารณาไปตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอยู่เนืองๆ ดั่งนี้ ก็เป็นทางปฏิบัติอบรมวิปัสสนาปัญญาประการหนึ่ง แต่ก็ต้องอาศัยมีสมาธิคือรวมจิต เพ่งพินิจพิจารณา

 

ธรรมกถาในการปฏิบัติอบรมจิต
ห้องประชุมสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
4 ธันวาคม พ.ศ.2514