Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๑๗๙

sangharaja-100years


sangharaja-section

ความทุกข์ 2 อย่าง

ทุกข์ นั้นมีความหมายเป็น 2 อย่าง คือ
หมายถึง ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ อันเป็นตรงข้ามกับสุข อย่างหนึ่ง
หมายถึง สิ่งที่ทนอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวจเปลี่ยนแปลงไป อย่างหนึ่ง

ทุกข์ตามที่พูดถึงกันนั้น มักหมายถึงทุกข์ คือความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ อันเป็นทุกขเวทนา คือความเสวยอารมณ์เป็นทุกข์ นี้ก็เป็นทุกข์ในลักษณะหนึ่งเหมือนกัน
อีกอย่างหนึ่ง ทุกข์ คือความทรงอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป สิ่งอันใดทนอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป สิ่งอันนั้นเป็นทุกข์ทั้งหมด นี้เป็นทุกข์อีกลักษณะหนึ่ง ในทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์นี้ หมายรวมกันทั้งสองลักษณะคือ
สิ่งที่ทนอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และที่เป็นความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ

ในการแสดงทุกขสัจจะ พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ไว้ชัดเจนว่า

ชาติปิ ทุกฺขา                       ความเกิด เป็นทุกข์
ชราปิ ทุกฺขา                        ความแก่ เป็นทุกข์
มรณมฺปิ ทุกฺขํ                      ความตาย เป็นทุกข์
โสกปริเทวทุกฺข-                   ความแห้งใจ ความคร่ำครวญรำพันอยู่ในใจ หรือรำพันออกมา-
โทมนสฺสุปายาสาปิ ทุกฺขา        ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ เป็นทุกข์
อปฺปิเยหิ สมฺปโยโค ทุกฺโข       ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์
ปิเยหิ วิปฺปโยโค ทุกฺโข           ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก เป็นทุกข์
ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ ตมฺปิ ทุกฺขํ       ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นสมปรารถนา เป็นทุกข์
สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา-  กล่าวโดยย่อแล้ว ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง 5 ประการ-
ทุกฺขา                               เป็นทุกข์ ดังนี้

ทุกข์ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงชี้ให้เห็นนี้ เป็นการชี้ลักษณะของทุกข์ทั้งสองอย่างประกอบกัน คือทุกข์ที่เป็นความทนอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และทุกข์ที่เป็นตัวทุกขเวทนา คือความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ

ในประการแรก ได้ทรงชี้ว่า เกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ ทั้ง 3 ประการนี้ เมื่อว่าถึงความรู้สึกที่เป็นสามัญของชาวโลกทั่วไป ก็มักจะเห็นว่า ความแก่เป็นทุกข์อย่างหนึ่ง ความตายเป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง แต่ไม่เห็นว่า ความเกิดเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงถือว่าเกิดเป็นมงคล แต่ว่า แก่ ตาย เป็นอวมงคล ในงานวันเกิดไม่มีใครไว้ทุกข์ แต่แสดงความรื่นเริง แต่ว่าในคราวตายมีการไว้ทุกข์ นี้เป็นความรู้สึกสามัญของชาวโลกทั่วไป แต่ในทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า เป็นทุกข์ทั้งหมด เกิดก็เป็นทุกข์ แก่ก็เป็นทุกข์ ตายก็เป็นทุกข์ เพราะว่า มีแก่ มีตาย ก็เพราะมีเกิด ถ้าไม่มีเกิดก็จะไม่มีแก่มีตาย
ฉะนั้น ความเกิดจึงเป็นตัวทุกข์สำคัญ นี้เป็นหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา พระอาจารย์ก็ได้แสดงอธิบายว่า ความเกิดเป็นทุกข์อย่างไร ความแก่เป็นทุกข์อย่างไร ความตายเป็นทุกข์อย่างไร ไว้เป็นอันมาก เช่นแสดงว่า ความเกิดนั้นเป็นทุกข์ ก็เพราะว่าผู้ที่เกิดมาต้องทนทุกข์อยู่ในครรภ์ของมารดามาตั้งแต่เบื้องต้นเป็นเวลานานเดือน และแสดงอาการที่ชวนให้เห็นว่าเป็นทุกข์ต่างๆ คราวนี้มาถึงความแก่ แสดงถึงลักษณะที่เป็นความเสื่อมโทรมของสังขาร อันแสดงถึงเป็นความทุกข์ และความตาย ก็แสดงถึงอาการที่น่ากลัวต่างๆ ดังที่คนสามัญทั่วไปกลัวตาย ก็เพราะเห็นว่าความตายเป็นความทุกข์ เมื่อนึกถึงความตายก็เกิดทุกข์ขึ้นมาเสียแล้ว เหมือนอย่างว่า นึกถึงจะต้องไปเผชิญกับอันตรายที่ใหญ่หลวงอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เกิดความกลัวขึ้นมา รู้สึกในความตายก็คล้ายๆอย่างนั้น ถือว่าเป็นภัยใหญ่หลวงอันหนึ่ง และเมื่อพิจารณาดูให้เห็นแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ความกลัวตายนี้แหละ เป็นความกลัวที่เป็นต้นของความกลัวทั้งหลาย เช่นกลัวต่ออันตรายอันเกิดจากอาวุธ หรือเกิดจากสัตว์ร้าย เป็นต้น ก็เพราะเหตุที่ว่า อาวุธและสัตว์ร้ายนั้นจะมาตัดชีวิต คือทำให้ตาย ก็คือกลัวตายนั่นเอง ซึ่งนำให้กลัวต่อเหตุต่างๆอันจะนำความตายมาถึง พระอาจารย์ได้แสดงให้เห็นว่า เกิดเป็นทุกข์อย่างไร แก่เป็นทุกข์อย่างไร ตายเป็นทุกข์อย่างไร รวมความเข้าแล้วก็คือ แสดงในทางให้เห็นว่าเป็นความไม่สบายกายไม่สบายใจ ดังที่เรียกว่าทุกขเวทนานั่นเอง

นี้ก็เป็นทางพิจารณาอย่างหนึ่ง แต่ว่าควรจะพิจารณาอีกอย่างหนึ่ง คือในลักษณะที่เป็นความตั้งมั่นอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป อันเป็นลักษณะของทุกข์อย่างละเอียด

ชีวิตนี้ เป็นทุกข์ก็เพราะเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่คงที่ไม่ได้ เพราะแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ชีวิตนี้ตั้งต้นขึ้นด้วยชาติ คือความเกิด ในระหว่างก็เป็นชรา คือความแก่ ลงท้ายด้วยมรณะ คือความตาย เกิดจึงเป็นต้นชีวิต ตายเป็นปลายของชีวิต และแก่ก็เป็นท่ามกลางของชีวิต เพราะฉะนั้น แก่ เจ็บ ตายนี้ จึงเป็นลักษณะของทุกข์ที่มีความหมายว่าตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ถ้าหากว่าชีวิตนี้จะไม่เป็นทุกข์ คือตั้งอยู่คงที่โดยไม่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ก็จะมีแต่ชาติคือความเกิดเท่านั้น แล้วก็ไม่ต้องแก่ ไม่ต้องตาย ดังที่เรียกว่าเป็นอมตะ คือเป็นผู้ไม่ตาย แต่ว่าจะเป็นเช่นนั้นหาได้ไม่ เมื่อมีชาติคือความเกิด ก็ต้องมีแก่ มีตาย จะมีแต่ชาติคือความเกิด โดยปราศจากแก่ตายนั้น หาได้ไม่

ฉะนั้น ทั้งหมดนี้ จึงรวมเป็นตัวทุกข์ที่มีลักษณะเป็นความตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ดังกล่าว

 

การพิจาณาให้เห็นทุกขสัจจะ

การพิจารณาให้เห็นทุกข์ในลักษณะนี้ ย่อมพิจารณาให้เห็นได้ทั้งในกาลทั้ง 3 และทั้งในปัจจุบัน
ในกาลทั้ง 3 นั้นก็คือ พิจารณากายอย่างหยาบ
ชาติ คือความเกิด เป็นอดีต คือได้เกิดมาแล้ว
มรณะ คือความตาย เป็นอนาคต เพราะว่ายังไม่ตาย ความตายรออยู่ข้างหน้า
ชรา เป็นปัจจุบัน เพราะในปัจจุบันนี้ก็ต้องเก่าแก่ไปอยู่ทุกวินาที หรือว่าทุกขณะ

ชาติ คือความเกิดที่เป็นอดีต ชรา คือความแก่ที่เป็นปัจจุบัน และ มรณะ ที่เป็นอนาคตนี้ รวมกันเข้าเป็นทุกข์ คือเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ดังจะพึงเห็นได้ว่า ตั้งแต่เกิดมาก็ต้องบ่ายหน้าไปหาความดับอย่างไม่หยุดยั้ง เหมือนอย่างอาทิตย์อุทัยก็โคจรไปสู่อัศดงคต คือความดับอย่างไม่หยุดยั้ง นี้จึงเป็นทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์อย่างหนึ่ง และเมื่อพิจารณาให้ละเอียดเข้ามา ชาติ คือความเกิด ชรา คือความแก่ มรณะ คือความตาย ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน กล่าวคือ ชีวิตนี้ต้องประกอบด้วยขันธ์ทั้งหลายที่เป็นส่วนรูปและเป็นส่วนนาม รูปและนามนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดดับอยู่ทุกขณะ เกิดก็เป็นชาติ ดับก็เป็นมรณะ ความแปรไปจากเกิดถึงดับ แม้จะเป็นระยะที่นั้นที่สุดก็เป็นชรา และเมื่อพิจารณาให้ละเอียดเข้ามาสั้นเข้ามาที่สุด ก็เหลือแต่เกิดดับ เกิดก็เป็นชาติ ดับก็เป็นมรณะ และเมื่อพิจารณาให้ละเอียดเข้ามาอีก ก็จะปรากฏแต่ความดับ คือปรากฏแต่มรณะ

ความพิจารณาให้เห็นเกิดดับ ปรากฏขึ้นในปัจจุบันดั่งนี้ เป็นทุกขสัจจะ ที่ปรากฏในปัจจุบัน การพิจารณารูปก็รูปกายอันนี้ เป็นสิ่งที่เกิดดับอยู่ทุกขณะ ธาตุทั้ง 4 ที่ประกอบเข้าเป็นรูป ก็สิ้นเสื่อมไปอยู่ทุกขณะ แต่อาศัยธาตุทั้ง 4 ที่พอกพูนเข้าไปใหม่ ก็ไปทดแทนสิ่งที่สิ้นเสื่อมไปนั้น เหมือนอย่างที่ทุกๆคนต้องบริโภคอาหาร ต้องหายใจเข้าหายใจออก อยู่ทุกขณะ ก็เป็นการบริโภคธาตุดิน น้ำ ไป ลม นี่เอง เข้าไปเป็นอาหารสำหรับที่จะทดแทนสิ่งที่สิ้นไปหมดไป ก็มีสิ่งที่ทดแทนเข้าไปใหม่ เหมือนอย่างลมหายใจเข้าลมหายใจออก หายใจเข้าแล้วก็หายใจออก ออกแล้วก็หายใจเข้าไปใหม่ เป็นสันตติสืบต่อไปอยู่ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น จึงมองเห็นเหมือนอย่างว่าเป็นความเที่ยง และปรากฏเป็นความสุข เพราะความทุกข์ที่เกิดขึ้นก็มีสิ่งที่มาบำบัด ความทุกข์นั้นก็หายไป ก็ปรากฏเป็นความผาสุกขึ้น เช่นว่าร่างกายหิวกระหายเป็นความทุกข์ ดื่มน้ำ บริโภคอาหารเข้าไปบำบัดความทุกข์นั้น ก็ปรากฏเป็นความสุข นั่งนานเมื่อย ก็ลุกขึ้นยืน หรือเดินยืนนานเมื่อยก็นั่ง เดินนานเมื่อยก็หยุดยืนหรือนนั่ง หรือว่านั่งนานเหน็ดเหนื่อยก็นอนพัก นอนนานพอแล้วก็ลุกขึ้น ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถกันไปดั่งนี้ ก็เป็นการแก้ทุกข์ ปรากฏเป็นความสุขขึ้น

เพราะฉะนั้น ความสุขต่างๆดังกล่าวนี้ จึงเป็นความสุขที่เป็นความแก้ทุกข์ให้สุดสิ้นลงไปครั้งหนึ่งๆเท่านั้น หาใช่เป็นความสุขที่แท้จริงไม้ แต่บุคคลผู้ไม่พิจารณาก็ยังยึดมั่นอยู่ว่าเป็นความสุข และนอกจากนี้ ก็ยังยึดมั่นอยู่ในสิ่งที่เห็นว่าเที่ยง ที่เป็นสุขนี้ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ว่าเป็นตัวตนของเรา มีอัตตาตัวตนของเราในสิ่งเหล่านี้ และเมื่อมีอัตตาตัวตนของเราอยู่ในสิ่งเหล่านี้ ก็เที่ยวออกรับความสุขเป็นทุกข์และออกรับสิ่งต่างๆ

เพราะฉะนั้น ความที่มีสันตติคือมีความสืบต่อก็ดี ความที่ปรากฏเป็นความสุขแก้ทุกข์อยู่ก็ดี ความที่ปรารถนาเป็นก้อนเป็นแท่ง อันสืบเนื่องมาจากที่มีความสืบต่อและมีสุขดังกล่าวก็ดี จึงเป็นเครื่องปกปิด อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ และ อนัตตตา ความเป็นของไม่ใช่ตน ทำให้บังเกิดความยึดถือว่าเป็นความเที่ยง เป็นความสุข เป็นอัตตาตัวตน

เพราะฉะนั้น การพิจารณาให้เห็นทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ก็จำที่จะต้องใช้ปัญญา เจาะแทงเครื่องปกปิดเหล่านี้ลงไปให้เห็นความเกิด ความดับ ที่มีอยู่ทุกขณะเป็นปัจจุบัน และให้เห็นว่าความสุขที่ปรากฏนั้นเป็นเพียงความแก้ทุกข์ไปคราวหนึ่งๆเท่านั้น หาใช่เป็นความสุขที่แท้จริงไม่ และเพราะชีวิตนี้เป็นสิ่งที่เกิดดับ จึงไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยทุกข์ จึงเป็นทุกข์ และไม่ควรเป็นสิ่งที่จะพึงยึดถือว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา โดยเป็นสาระเป็นแก่นสาร จึงเป็นอนัตตา

ความพิจารณาลงไปให้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏขึ้นดั่งนี้ เรียกว่าเป็นการพิจารณาให้เห็นทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ โดยมีชาติ ความเกิด ชรา ความแก่ มรณะ ความตาย ดังกล่าวนี้แหละเป็นเครื่องนำความคิดพิจารณา และผู้ที่เห็นทุกข์ดั่งนี้ก็จะเป็นผู้ที่พ้นทุกข์ ไม่ใช่ผุ้ที่เป็นทุกข์ เพราะจะทำให้ไม่ยึดถือ ทำให้เป็นผู้ที่อยู่เหนือทุกข์ แต่ไม่ใช่เป็นตัวทุกข์

เพราะฉะนั้น ทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ จึงไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่ากลัว ที่เห็นแล้วตกใจเดือดร้อน แต่ว่าเป็นสิ่งที่เห็นแล้วมีความสุข เพราะจะพ้นทุกข์ จะอยู่เหนือทุกข์ จะมองเห็นทุกข์ เหมือนอย่างมองเห็นเรือนที่ไฟไหม้อยู่ข้างนอก แต่ไม่ได้อยู่ในเรือนที่ไฟไหม้ เมื่ออยู่ในเรือนที่ไฟไหม้จึงร้อน แต่เมื่อออกมาอยู่นอกเรือนที่ไฟไหม้และยืนมองดูเรือนที่ไฟไหม้นั้น ผู้ที่ดูอยู่นั้นก็เป็นผู้ที่ไม่ร้อน และก็มองเห็นสัจจะคือความจริง นี้เป็นสารัตถะแห่งการพิจารณาทุกขสัจจะ สภาพที่จริงของทุกข์ ของพระพุทธเจ้า


ธรรมกถาในการปฏิบัติอบรมจิต
ห้องประชุมสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
27 พฤศจิกายน พ.ศ.2514