Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๑๗๘

sangharaja-100years


sangharaja-section

ธรรมกถาในการปฏิบัติอบรมจิต
โดย สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร
ณ ห้องประชุมสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย


มหาสติปัฏฐานสูตร
 
1

คอยพิจารณาจับวิตก

บัดนี้จักแสดงธรรมเป็นเครื่องอบรม ในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านประมวลใจกำหนดฟังและส่งจิตให้ดำเนินไปในกระแสธรรม

จิตใจนี้ มีอารมณ์และกิเลสพอกพูนอยู่เป็นอันมาก ดังที่ปรากฏอยู่
ต้องรับอารมณ์ทางตา หู เป็นต้น อยู่เป็นปกติ และมโน คือใจ ซึ่งเป็นอายตนะที่ 6
ก็ยังคิดอารมณ์คือเรื่องที่เก็บผูกพันไว้อยู่อีกมากมาย และยังคิดปรุงเป็นเรื่องเป็นราว
ดังที่เรียกว่าวิตกวิจารณ์อีกเป็นอันมากทั้งที่เรื่องยังไม่เกิด แต่ก็คิดปรุงไป ปรุงคิดไป
ยินดีไป ยินร้ายไป หรือว่าชอบใจไป โกรธไป กับเรื่องที่ปรุงนั้นๆ อันไม่มีความเป็นจริง
ความคิดปรุงหรือความปรุงคิดนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก
ซึ่งนำจิตใจให้บังเกิดโลภ โกรธ หลง หรือบังเกิดนิวรณ์ขึ้นข้อใดข้อหนึ่ง

ฉะนั้น จึงมีพระพุทธภาษิตตรัสสอนให้คอยพิจารณา จับวิตก คือความคิดปรุงของจิต
และให้รู้ ถ้าคิดปรุงไปในทางอกุศลก็ให้รู้ คิดปรุงไปในทางกุศลก็ให้รู้
คิดปรุงไปในทางอกุศลนั้น คือคิดปรุงไปในทางกามบ้าง
คิดปรุงไปในทางพยาบาทปองร้ายผู้อื่นสัตว์อื่นบ้าง คิดปรุงไปในทางเบียดเบียนบ้าง
ถ้ามีความคิดปรุงไปดังนี้ ก็ให้รู้ว่านี่อกุศลวิตกข้อนี้บังเกิดขึ้น
และให้รู้ว่าอกุศลนี้มีโทษ ทำให้จิตใจเดือดร้อนไม่สงบ
เมื่อมีความรู้อยู่ดั่งนี้ อกุศลวิตกนั้นๆก็จะสงบไปได้

และถ้ากุศลวิตกบังเกิดขึ้น คือคิดปรุงหรือปรุงไปในทางดี
อันเป็นความคิดเป็นไปในทางออกจากเครื่องพัวพันทั้งหลาย คิดไปในทางไม่พยาบาทปองร้าย
คิดไปในทางไม่เบียดเบียน เช่นคิดไปในทางที่จะเกื้อกูลให้เกิดความสุข
ก็ให้รู้ว่า บัดนี้กุศลวิตกบังเกิดขึ้น
กุศลวิตกนี้บังเกิดขึ้นเป็นความคิดที่ดี ไม่ก่อให้เกิดทุกข์เดือดร้อน
แต่ว่าก็ให้ทำความรู้ด้วยว่า แม้เป็นกุศลวิตก คือความคิดไปในทางดี เป็นกุศล
ถ้าคิดนานเกิดไป คิดมากไป ก็ทำให้ร่างกายเหน็ดเหนื่อย ทำให้จิตใจเหน็ดเหนื่อยให้ฟุ้งซ่านขึ้นได้

เพราะฉะนั้น ก็ให้ทำสมาธิ คือหยุดความคิดแม้ที่เป็นกุศล
แต่ตั้งจิตให้เพ่งอยู่ในอารมณ์คือเรื่องอันเดียว ดังที่เรียกว่าทำสมาธิ
เมื่อจิตตั้งมั่นก็จะไม่หวั่นไหวไปในอารมณ์ทั้งหลาย ตามกำลังของความตั้งมั่นแห่งจิต
และเมื่อจิตมีความตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ดั่งนี้ ก็ไม่ติดอยู่ในความตั้งมั่นของจิตนี้
เพราะว่า ความติดอยู่ก็เป็นสังขารขึ้น คือเป็นความปรุงขึ้น
และเมื่อเป็นความปรุงขึ้น ก็จะต้องมีความเกิด ความดับ
ฉะนั้น ก็ไม่ให้ยึดมั่นอยู่ในความตั้งมั่นของจิตนั้น แต่ให้มีความรู้อยู่
เป็นความรู้ปล่อย รู้วาง และก็อยู่กับความรู้ปล่อยรู้วางนี้
นี้เป็นทางปฏิบัติอย่างสะดวกทางหนึ่ง คือปฏิบัติในทางแห่งสมาธิกับปัญญาประกอบกัน
สมาธิ ก็คือ ทำจิตให้ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปในอารมณ์
ปัญญา ก็คือ ทำความรู้ว่าแม้สมาธิก็เป็นสังขาร
เพราะฉะนั้น จึงไม่ยึดถือแต่ปล่อยวางทำความรู้อยู่กับความปล่อยวางนี้
ดังนี้ ก็เป็นการปฏิบัติทางปัญญา
และการปฏิบัติทางปัญญานี้ เมื่อแสดงตามหลักอริยสัจจ์
ก็คือ อบรมความรู้ในทุกข์ ในเหตุแห่งทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์


27 พฤศจิกายน พ.ศ.2514
(อ่านต่อฉบับหน้า: ความทุกข์ 2 อย่าง)