Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๑๗๗

sangharaja-100years

เนื่องในวโรกาสมหามงคล
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 
ทรงเจริญพระชันษาครบ ๑๐๐ ปี ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๖
นิตยสารธรรมะใกล้ตัวจึงขออัญเชิญพระนิพนธ์ต่างๆ
ซึ่งล้วนแล้วแต่ทรงคุณค่า มานำเสนอ (-/\-)

(สามารถศึกษาพระประวัติและพระกรณียกิจต่างๆ เพิ่มเติมได้
ตามลิงค์ค่ะ
 http://bit.ly/13ihsCc
)


sangharaja-section


อาหุเนยฺโย


พระธรรมเทศนา
ของ พระธรรมวราภรณ์ (สุวฑฺฒโน)* วัดบวรนิเวศวิหาร
(*สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

๒๕๐๑


sangharaja-section

อาหุเนยยกถา
พระธรรมวราภรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร


sangharaja-section


นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ อาหุเนยฺโย

บัดนี้จักแสดงพระธรรมเทศนา พรรณนาพระสังฆคุณบทหนึ่ง เพื่อเกื้อกูลปัญญาและสัมมาปฏิบัติ แก่บุคคลผู้ปรารถนาธรรมปฏิบัติทั่วไป แท้จริง พระสังฆคุณทุกบทย่อมแสดงสุปฏิบัติ คือข้อปฏิบัติดีของคนดีทั่วๆไป ไม่จำกัดเฉพาะพระสงฆ์ หรือพุทธศาสนิกชนเท่านั้น ใครก็ตามเมื่อปฏิบัติดีจริงใจทางพระสังฆคุณ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นคนดีจริงเหมือนกัน ในที่นี้ จักแสดงเฉพาะข้อว่า อานุเนยฺโย ดังบทบาลีที่ยกไว้แปลว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น อาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรมาบูชา หรือเป็นผู้ควรบูชาโดยเอื้อเฟื้อ จะอธิบายคำว่าบูชาก่อน เพื่อให้เกี่ยวโยงไปถึงความหมายคำว่า อาหุเนยฺย โดยตรง

คำว่าบูชา ในที่นี้มาจากศัพท์ว่าอาหุนะ หมายถึงการให้การบำรุงด้วยความเลื่อมใสนับถือ ดังคำว่าพราหมณ์บูชาไฟ ก็หมายถึงบำเรอไฟด้วยการให้เชื้อแก่ไฟ.
บุคคลทั่วไปในโลกย่อมทำการบำรุงบำเรอวัตถุต่างๆบ้าง บุคคลต่างๆบ้าง ตามที่เลื่อมใสนับถือ บางทีก็ทำด้วยความกลัวหรือปรารถนาผล.
บำรุงด้วยความเลื่อมใสนับถือ ก็เช่นบำรุงบุคคลผู้ประกอบด้วยสุปฏิบัติดังกล่าว ทั้งที่รู้อยู่ว่าบุคคลเช่นนั้นไม่มีวัตถุอะไรที่จะพึงตอบแทน.
บำรุงด้วยความกลัว ก็เช่นบำเรอวัตถุที่เข้าใจว่ามีอำนาจ หรือบุคคลผู้มีอำนาจ เพื่อให้วัตถุหรือบุคคลนั้นๆยินดีโปรดปราน เพื่อจักได้ระงับโทษภัยต่างๆ. บำรุงด้วยความปรารถนาผลก็เช่นบำรุงบำเรอวัตถุหรือบุคคลที่เห็นว่าจะอำนวยผลอย่างใดอย่างหนึ่งให้ได้ตามที่ปรารถนา.
ถ้าบำรุงแก่วัตถุหรือสิ่งที่ปรากฏ ตลอดถึงที่ไม่ปรากฏ ก็มักเรียกว่าบูชาบำบวง หรือบวงสรวง
, ถ้าทำสัญญาไว้ว่าจะบำรุงในเมื่อได้ผลแล้ว ก็มักเรียกว่าบนบาน, ถ้าบำรุงแก่บุคคลด้วยเจตนาและวิธีเช่นนี้ ก็มักเรียกกันต่างๆ ตลอดจนเรียกว่า สินบน.
เมื่อวัตถุหรือบุคคลเช่นนั้นมีอยู่ในที่ใด ก็มักจะพากันไปในที่นั้น นำสิ่งต่างๆไปเพื่อบวงบนกันต่างๆ.
จะยกขึ้นกล่าวเฉพาะบุคคล.

บุคคลผู้รับการมาบำรุงหรือสิ่งที่เขานำมาบำรุงนั้นแบ่งออกโดยย่อเป็น ๒ คือ
ผู้ที่ไม่สมควร ๑
ผู้ที่สมควร คือเป็นอาหุเนยยะบุคคล ๑.

ผู้ที่ไม่สมควรนั้น คือผู้ที่ปราศจากคุณที่ควรบำรุง เช่นผู้ที่มิได้ประพฤติการที่เป็นคุณเกื้อกูลให้เกิดประโยชน์สุข บางทีซ้ำประพฤติร้าย เบียดเบียนตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน เพราะเป็นผู้มีความปรารถนาจัด และประพฤติไปตามอำนาจความปรารถนา.
การนำไปบำรุงผู้เช่นนั้น เป็นการให้กำลังแก่ผู้เช่นนั้นเพื่อได้ดำรงอยู่ประพฤติชั่วร้าย
, ทั้งเป็นการบำรุงที่ไม่มีการเพียงพอ เหมือนการให้เชื้อแก่ไฟ เพื่อบำเรอไฟ ให้เท่าไรก็คงไม่พอ เพราะไฟก็ยิ่งมีกองโตขึ้น กินเชื้อมากและเร็วเข้า.
การนำสิ่งของต่างๆไปบำรุงบุคลลผู้มีความปรารถนาจัด ก็คงไม่อาจจะบำรุงให้เต็มความปรารถนาได้เช่นเดียวกัน
ดังมีพระพุทธภาษิตกล่าวเตือนไว้ว่า นตฺถิ ตณฺหาสมา นที  แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาคือความปรารถนาจัดไม่มี ดังนี้.

ฝ่ายบุคคลผู้นำไปบำรุง บางทีก็ทำไปด้วยความปรารถนาจัดเช่นเดียวกัน มิใช่ด้วยความเคารพบูชา บางทีแม้ทำในสิ่งที่มีความเคารพนับถือกันอยู่ ก็ทำในทำนองที่เสียน้อยเพื่อให้ได้มาก เช่นทำนิดหนึ่ง แต่ปรารถนาผลมากมาย หรือไปทำสัญญาไว้ก่อนคือบนไว้ว่า เมื่อสำเร็จผลสมประสงค์แล้ว จะแก้บนอย่างนั้นๆ ดังเช่นว่าจะแก้บนด้วยทองเท่าลูกฟัก ครั้นได้รับผลที่ต้องการแล้ว ก็นำลูกฟักไปปิดทองแก้บน เพราะถือว่าเมื่อปิดทองแล้ว ก็กลายเป็นทองเท่าลูกฟักถูกต้องตามสัญญา หรือไปบนว่าจะถวายละคร ๑ โรง แล้วก็นำละครยก(ตุ๊กตา)ไปตั้งแก้บน ทำสิ่งที่เคารพอันพูดไม่ได้นั้นให้เป็นเหมือนอย่างเด็กเล่นตุ๊กตา แต่ก็ถือว่าได้แก้บนแล้ว เป็นที่พอใจโปรดปราน.
ส่วนในบุคคลผู้สมควรจะได้รับการบำรุง แต่เมื่อเห็นว่าจะให้ผลตอบแทนตามที่ปรารถนาไม่ได้ก็มักจะละเลย ไม่เห็นเป็นความสมควรหรือจำเป็นจะต้องทำอย่างไร
, ผู้เช่นนี้จึงไม่อาจจะได้อาหุเนยยะบุคคล ได้แต่บุคคลที่ตรงกันข้าม.

ผู้ที่สมควรจะได้รับการนำไปบำรุงด้วยความเคารพบูชา อันนี้เรียกว่า อาหุเนยยะบุคคลนั้น คือบุคคลผู้มีคุณอันสมควรจะรับการมาบูชาด้วยวัตถุที่สมควรก็ตาม ด้วยการช่วยต่างๆก็ตาม บุคคลเช่นนี้มีเป็นต้นว่ามารดาบิดา เป็นอาหุเนยยะของบุตรธิดา.
แม้ผู้มีคุณอื่นๆก็สงเคราะห์เข้าในข้อนี้ เพราะตั้งอยู่ในฐานะที่ผู้ได้รับคุณของท่านพึงนำสิ่งต่างๆไปบำรุงท่าน เป็นการบูชาคุณของท่านตามฐานะ.
ในฝ่ายพระศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวก ชื่อว่าเป็นอาหุเนยยะ เพราะเป็นผู้มีคุณสมควรที่บุคคลจะพึงเข้ามาบำรุงเป็นการบูชาคุณ จะยกคุณที่ทำให้เป็นอาหุเนยยะขึ้นแสดงพอเป็นนิทัสนะนัยต่อไปนี้
:

๑. เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละกิเลสให้สิ้นไปได้แล้ว หรือเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละกิเลส.
ในฉักกนิบาต ได้ตรัสยกธรรมหลายหมวดขึ้นแสดงชี้ลักษณะของผู้ที่เป็นอาหุเนยยะ เช่นธรรมหมวดหนึ่งว่า ผู้ที่มีขันติ คืออดทนต่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมคือเรื่องรูปเป็นต้นเหล่านั้น ชื่อว่าอาหุเนยยะ เหมือนอย่างม้าของพระเจ้าแผ่นดิน จะชื่อว่าเป็นม้าอาชาไนย ซึ่งควรเป็นราชพาหนะประจำพระองค์ ก็เพราะอดทนต่อรูปเป็นต้นดังกล่าว และสมบูรณ์ด้วยรูปสมบัติ.

๒. เป็นผู้มีอิ่มมีพอ มีมักน้อยสันโดษ รู้ประมาณในการรับ ในการบริโภค ไม่ทำความระเริงในส่วนที่ดี ไม่ทำความเหยียดหยามในส่วนที่เลว ในชาดก มีเล่าเปรียบเทียบไว้ว่า เหมือนอย่างม้าอาชาไนยได้บริโภคน้ำคั้นผลไม้ทีแรกมีรสหวาน แต่ก็มีอาการสงบ ส่วนลาได้พลอยบริโภคน้ำหางที่มีรสอ่อนมากแล้ว แต่มีอาการคะนอง.
พระบรมศาสดาพร้อมทั้งพระสาวกได้ทรงประสบทุกขภัยในขณะที่ประทับจำพรรษาอยู่ในครั้งหนึ่ง ได้ประทับอยู่ด้วยอาการสงบตลอดไตรมาศ เมื่อพระสาวกบางรูปทูลขอจะไปนำอาหารมาจากที่อื่น ก็ไม่โปรดอนุญาต คงทรงรับและโปรดให้รับแต่อาหารที่พึงได้ในที่นั้น แม้จะแร้นแค้นเพียงไรก็ตาม.
เมื่ออนาถบิณฑิกเศรษฐียากจนลงในคราวหนึ่งนำภัตตาหารในคราวยากมาถวาย ตรัสให้เกิดความยินดีโดยความว่า อย่าคิดว่าวัตถุเศร้าหมอง คือเป็นของเลวไม่ดี เพราะเมื่อเจตนาประณีต วัตถุก็ประณีต ดังนี้.

๓. ไม่ก่อหนี้ทางอริยวินัย อธิบายทางพระวินัยว่า พิจารณาบริโภคปัจจัยทั้ง ๔ ไม่บริโภคด้วยตัณหา ปฏิบัติดังนี้ชื่อว่าไม่บริโภคเป็นหนี้.
พิจารณาดูต่อไปก็เห็นความสืบต่อไปอีกว่า เมื่อได้บริโภคสิ่งที่เขานำมาบำรุงเป็นการบูชา ก็ปฏิบัติกรณียะคือการที่ควรทำให้สมบูรณ์ ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนให้พิจารณาเนืองว่า กิจอื่นที่ควรทำยังมีอยู่อีก มิใช่เพียงเท่านี้ วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ดังนี้เป็นต้น นอกจากปฏิบัติกรณียกิจ อันเป็นประโยชน์เฉพาะตน ก็ปฏิบัติกรณียกิจอันเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นตามสมควร เป็นต้นว่าแสดงธรรมอบรมสั่งสอนตามกาลให้เกิดความเห็นจริง ความสมาทานปฏิบัติ ความอาจหาญ และความรื่นเริงในธรรม ตามควรแก่บุคคลและบริษัท เมื่อเขานำสิ่งต่างๆมาบำรุงเป็นการบูชาก็ทำปฏิสัณฐานให้เหมาะสม และกล่าวอนุโมทนาด้วยธรรมีกถา ตามปฏิปทาของพระบรมศาสดาตั้งจิตแผ่เมตตาเป็นต้น เป็นอัปปมัญญาคือไม่จำกัดประมาณในสัตว์.

๔. ปฏิบัติในทางรักษาศรัทธาปสาทะ หรือเจริญศรัทธาปสาทะให้ยิ่งขึ้น เมื่อบุคคลผู้เข้ามาได้ศรัทธาปสาทะเป็นข้อแรก ก็ย่อมจะได้ศีล ได้สุตตะคือการสดับธรรม ตลอดจนได้ปัญญาเห็นธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้ให้มากกว่าที่เขาบริจาค เพราะเป็นผู้ให้อริยทรัพย์ หรือเป็นเหตุให้เขาได้อริยทรัพย์ ดังเช่นพระสารีบุตรเถระ เมื่อยังเป็นปริพาชก ได้เห็นพระอัสสชิเดินเที่ยวบิณฑบาต มีความเลื่อมใสอากัปกิริยาของท่าน จึงตามท่านไปจนถึงสำนัก และเข้าไปหาท่าน ได้ฟังธรรมของท่านที่แสดงแต่โดยย่อ จึงเกิดดวงตาเห็นธรรม.
พระพุทธสาวกหรือสมณพราหมณ์ผู้เป็นอาหุเนยยะบุคคล ย่อมปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เข้ามาหา เป็นที่เจริญศรัทธาสัมมาปฏิบัติเหมือนเช่นนั้น แม้ผู้เข้ามาหาจะมิได้สำเร็จประโยชน์ถึงชั้นสูง เมื่อได้ทราบทางปฏิบัติเพื่อประโยชน์ปัจจุบันและภายหน้าอันเป็นฝ่ายโลกียประโยชน์ ก็อาจนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ในทางคดีโลกนั้นด้วยดี.
พระบรมศาสดา เมื่อเสด็จประกาศพระพุทธศาสนาก็ปรากฏกิตติศัพท์ขจรไปดังที่แสดงไว้ในพระสูตรหลายสูตร เป็นต้นว่า พระองค์ทรงมีพระชาติอันดี ทรงละหมู่พระญาติและเงินทองเป็นอันมาก เสด็จออกทรงผนวช ทั้งที่ทรงกำลังมีพระวัยเจริญ ทั้งที่พระชนกชนนีทรงกรรแสง พระองค์ทรงมีพระรูปและฉวีวรรณน่าเลื่อมใส ทรงประกอบด้วยศีลอันประเสริฐ ทรงมีพระวาจาไพเราะ ทรงเป็นอาจารย์ของคนเป็นอันมาก ทรงปราศจากกามราคกิเลสจาบัล ตรัสแสดงกรรมเพื่อให้บุคคลไม่ทำบาป เสด็จออกผนวชจากสกุลสูงสกุลมั่งคั่ง หมู่ชนจากรัฐชนบทต่างๆพากันมาเฝ้าทูลถามปัญหา ทรงเป็นสรณะของเทพยดาและมนุษย์เป็นอันมาก ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ตรัสทักทายผู้มาเฝ้าผูกไมตรี มีพระพักตร์ชื่นบานไม่เศร้า มีปกติตรัสปราศรัยก่อน เป็นที่นับถือบูชาของบริษัททั้ง ๔ เมื่อเสด็จอยู่ ณ ที่ใด หมู่อมนุษย์ย่อมไม่เบียดเบียนหมู่มนุษย์ ณ ที่นั้น ทรงเป็นยอดคณาจารย์ มีพระยศปรากฏและอิสระชนทั้งหลายมีกษัตริย์เป็นต้นย่อมจะพากันไปเฝ้าถึงพระองค์เป็นสรณะ และพากันเคารพนับถือบูชา ฉะนั้นพระองค์จึงเป็นผู้ควรที่บุคคลจะพึงมาเฝ้า มิใช่ให้พระองค์เป็นฝ่ายเสด็จไปหาตน.
กิตติศัพท์ดังกล่าวนี้ย่อมแสดงความที่พระบรมศาสดาทรงเป็นอาหุเยยะบุคคล เพราะทรงเป็นผู้มีพระคุณควรที่ใครๆพึงเข้ามาบูชาทั้งด้วยอามิสบูชา ทั้งด้วยปฏิบัติบูชา แม้ด้วยมอบกายวาจาใจพร้อมทั้งชีวิต อุทิศถึงเป็นสรณะอันสูงสุดโดยแท้ แม้พระสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมเป็นอาหุเนยยะ มีอรรถาธิบาย ดังแสดงมาด้วยประการฉะนี้

---------

ร.พ. มหามกุฏฯ หน้าวัดบวรนิเวศฯ กรุงเทพฯ
นายพินิจ อู่สำราญ ผู้พิมพ์โฆษณา
๑/๑๐/๒๕๐๑