Print

แสงส่องใจ ฉบับที่ ๔๕๒

 

 sungaracha

 sangharaja-section

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ในเหตุผลและเหนือเหตุผล

 

                  

--------------------------------------------

ตายเกิดหรือตายสูญ (ต่อ)

                

              ภัยคือความกลัวของคนเราที่ต้องถูกภัยต่าง ๆ คุกคาม อันเป็นเหตุให้แสวงหาสรณะคือที่พึ่ง ที่พึ่งให้พ้นภัย นี้คือมูลเหตุให้เกิดศาสนาต่าง ๆ ขึ้น พระพุทธเจ้าได้ทรงมองเห็นสัจจะคือความจริงแห่งมูลหตุที่ทำให้คนต้องแสวงหาที่พึ่ง ตรัสไว้ดังนี้ แม้นักปราชญ์ในภายหลังนี้ก็ได้เห็นตามรับรองตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสเอาไว้นี้ แต่ทางพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาที่พิเศษ คือมีลักษณะที่พิเศษจากศาสนาอื่น ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว และดังที่จะกล่าวต่อไป

                 พุทธศาสนานั้นมุ่งแสดงเข้ามาถึงเหตุผลที่เป็นภายใน คือเหตุผลที่มีอยู่ในบุคคลทุก ๆ คน ที่เนื่องด้วยกรรมและที่เป็นสภาพดังที่กล่าวมา พระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ ก่อนที่จะได้ตรัสรู้ได้ทรงปรารภถึงความแก่ ความเจ็บ ความตายที่มีอยู่แก่ชีวิตทุกชีวิต ทรงปรารภโมกขธรรม จึงได้เสด็จออกผนวช ครั้นเสด็จออกทรงผนวชแล้ว ก็ได้ทรงค้นคว้าแสดงหาทางเพื่อที่จะประสบโมกขธรรม จนได้ทรงพบทางอันเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง จึงได้ทรงปฏิบัติตดำเนินไปในทางนี้อย่างเต็มที่แล้ว จึงได้ตรัสรู้สัจจะคือความจริง อันได้แก่สัจจะ ๔ คือ ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดังที่ได้แสดงอธิบายมาแล้ว สัจจะทั้ง ๔ นี้ เป็นเหตุผลภายใน ที่เนื่องด้วยกรรมและที่เป็นสภาพ ทุกข์กับสมุทัยนั้นเป็นเหตุและผลฝ่ายสมุทยวาร คือวาระแห่งสมุทัยคือความเกิด ส่วนนิโรธกับมรรคเป็นเหตุผลฝ่ายนิโรธวาร วาระแห่งความดับ ดังจะพึงเห็นได้ว่า เมื่อมีทุกขสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์ อันได้แก่ตัณหา ก็ต้องมีทุกข์คือมีชาติความเกิด มีชรา ความแก่ มีมรณะ ความตาย โดยนัยนี้ แม้เมื่อตายไปแล้วก็ต้องมีชาติคือความเกิดขึ้นอีก แล้วก็มีความแก่ แล้วก็มีความตาย ตายแล้วก็ต้องมีชาติคือความเกิดขึ้นอีกแล้ว ก็มีแก่มีตาย จะเรียกว่าต้องมีการเกิดตาย หรือจะเรียกว่าต้องมีตายเกิดตลอดเวลาที่มีตัณหาอยู่ดังนี้ก็ได้

                 เพราะฉะนั้น หากจะถามว่าพระพุทธศาสนาแสดงว่าตายเกิดหรือตายสูญ ก็จะต้องตอบว่า พระพุทธศาสนาแสดงเป็นวิภัชวาทะ คือมีวาทะที่แบ่งแยกจำแนกแสดง คือแสดงว่าเมื่อยังมีตัณหาอยู่ก็ต้องตายเกิด และหากจะถามว่า เมื่อสิ้นตัณหาแล้วตายสูญหรือ ข้อนี้ตอบได้ตามหลักนิโรธวารที่จะกล่าวต่อไปว่า เมื่อสิ้นตัณหาแล้วตายไม่เกิด แต่พระพุทธศาสนาไม่ได้แสดงว่า พระอรหันต์ดับขันธ์ไปแล้วสูญ นี่เป็นวาทะทางพระพุทธศาสนา