Print

แสงส่องใจ ฉบับที่ ๔๕๑

 

 sungaracha

 sangharaja-section

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ในเหตุผลและเหนือเหตุผล

 

                  

--------------------------------------------

ตายเกิดหรือตายสูญ

                

                    เหตุผลซึ่งเป็นสภาพมีภาวะความเป็คือมีเป็นขึ้นมา ตามธรรมชาติของตนนั้น ที่เป็นส่วนภายนอกคือที่เป็นส่วนโลกธาตุก็มีอยู่เป็นอันมากทั่วไป ส่วนที่เป็นผลนั้นก็เช่นว่า โลกธาตุนี้เองคือพื้นพิภพที่อาศัยอยู่นี้ ประกอบด้วยธาตุ ๔ หรือดิน น้ำ ไฟ ลม หรือว่าดินฟ้าอากาศ สภาพของดินฟ้าอากาศที่ปรากฏอยู่ทั่วๆ ไป ตลอดจนถึงต้นไม้ภูเขาทั้งหลาย และต้นไม้ที่ยกตัวอย่างมาแล้ว คือการปลูกต้นให้เป็นขึ้น และต้นไม้ให้ผลเหล่านี้ก็เป็นเหตุผลตามธรรมชาติธรรมดาของโลกธาตุ ที่เรียกว่าเป็นสภาพหรือเป็นสภาวะอย่างหนึ่ง ๆ สิ่งที่ปรากฏของโลกธาตุดังกล่าวตลอดจนถึงกลางวันกลางคืน เดือนฤดูปี อันเนื่องด้วยกาลเวลาย่อมเป็นผลอย่างหนึ่ง ๆ ที่จะต้องมีเหตุ

                     คราวนี้จึงถึงข้อที่กล่าวว่า ผลและเหตุ หรือเหตุและผลที่เป็นสภาพเหล่านี้ย่อมเป็นมูลเหตุอันหนึ่งที่ทำให้เกิดศาสนาต่าง ๆ ขึ้น คือก็ได้มีผู้ที่ค้นคิดหาเหตุว่าอะไรเป็นเหตุของสิ่งที่ปรากฏขึ้นเหล่านี้ เช่นว่าโลกธาตุอันนี้ประกอบด้วย ดิน น้ำ ไฟ ลม หรือว่าดินฟ้าอากาศ อันแสดงลักษณะต่าง ๆ เช่น บางคราวก็ฝนตก บางคราวก็ฝนแล้ง บางคราวก็น้ำท่วม บางคราวก็ฟ้าผ่า เป็นต้นที่เรียกว่าให้เกิดภัยธรรมชาติ จึงทำให้มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์หลายเกิดความกลัวภัยทั้งหลายเหล่านั้น จึงได้มีความคิดที่จะแสวงหาที่พึ่งเพื่อให้พ้นภัย ฉะนั้น จึงได้ปรากฏมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลแล้ว ว่าได้มีผู้คิดค้นหาเหตุผลที่เป็นสภาพหรือที่เป็นธรรมชาติดังกล่าวมานี้

                     เมื่อสมัยพุทธกาล ผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ ก็แสดงว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างโลก และได้แสดงว่ามีเทพประจำธาตุต่าง ๆ ประจำสิ่งต่าง ๆ เช่น ฝนก็มีเทวดาของฝน ไฟก็มีเทวดาของไฟ ตลอดจนถึงดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ก็เป็นเทพเหล่านี้เป็นต้น และเมื่อต้องการจะพ้นภัย เช่นภัยธรรมชาติดังกล่าวมาจึงได้ถึงต้นไม้ภูเชาที่เป็นเจดีย์ทั้งหลายบ้าง ถึงเทพทั้งหลายบ้างก็เป็นสรณะคือเป็นที่พึ่ง และก็ปฏิบัติพิธีกรรมในทางที่จะให้บรรดาที่พึ่งเหล่านั้นโปรดปรานรักษาคุ้มครองบำบัดภัยอันตรายต่าง ๆ ตลาดจนถึงอำนวยโชคลาภต่าง ๆ ให้ จึงได้เกิดลัทธิศาสนาต่างๆ ขึ้นตั้งแต่ก่อนพุทธกาลมา

                     แม้ในพระพุทธภาษิตเองก็มีแสดงไว้ว่า มนุษย์ทั้งหลายถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมถึงภูเขาและต้นไม้ที่เป็นเจดีย์ทั้งหลาย ว่าเป็นสรณะคือที่พึ่งกันเป็นอันมาก และได้ตรัสว่านั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันอุดม บุคคลถึงสิ่งนั้นๆ เป็นที่พึ่งแล้ว ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้