Print

แสงส่องใจ ฉบับที่ ๔๔๙

 

 sungaracha

 sangharaja-section

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ในเหตุผลและเหนือเหตุผล

 

                  

--------------------------------------------

กรรมวัฏ

                   ธรรมนั้นได้กล่าวแล้วว่า สัจจะความจริง และความจริงนั้นก็แบ่งออกเป็น ๒ ชั้น

                   คือชั้นที่เป็นเหตุผล และชั้นที่เหนือเหตุผล

                   ชั้นที่เป็นเหตุผลนั้นก็ได้แก่ เหตุผลที่เป็นกรรม และเหตุผลที่เป็นสภาพ คือเป็นไปเองตามกฎเกณฑ์หรือหลักธรรมดาของตนเอง

                   เหตุผลที่เป็นกรรม นั้นคือที่เกี่ยวกับการกรกระทำเหมือนอย่างเช่นเหตุผลในฝ่ายที่เป็นอกุศลกรรม คือปาณาติบาต การทำสัตว์มีชีวิตให้ตกร่วง หรือว่าการฆ่าสัตว์ นี่เป็นเหตุผลของกรรมอันนี้อันเป็นผลที่เป็นความทุกข์ เช่นความมีอายุสั้น ตามที่ได้ตรัสแสดงไว้ในบางพระสูตรเป็นผล กรรมคืออทินนาทาน การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ หรือว่าการลักเป็นเหตุผลคือผลที่เป็นทุกข์ เช่นคามที่ยากจนขัดสน ความที่มีทรัพย์วิบัติ ตามที่ได้ตรัสไว้ในบางพระสูตร นี่เป็นของอทินนาทานกรรม เหตุและผลดังกล่าวนี้เนื่องด้วยกรรม คือการงานที่บุคคลกระทำกรรมคือการงานที่บุคคลกระทำนนี้ ก็เนื่องด้วยกิริยา การกระทำต้องกระทำจึงจะเป็นกรรมขึ้นมา ต้องทำการฆ่าจึงจะเป็นปาณาติบาตกรรม ต้องการทำการลักจึงจะเป็นอทินนาทานกรรม

                   ยกตัวอย่างในฝ่ายดี ทานกรรม กรรมคือทานการให้ การบริจาคเป็นเหตุ ผลก็คือการมีทรัพย์เป็นต้น ตามที่ได้ตรัสไว้ในบางพระสูตร นี้เป็นผลของทานกรรม กรรมคือทานการให้การบริจาค ศีลกรรม กรรมคือศีล ได้แก่ความตั้งใจงดเว้นจากความประพฤติชั่วประพฤติผิดข้อนั้น ๆ ผลก็คือสุคติและโภคสมบัติเป็นต้น ตามที่ได้ตรัสแสดงไว้เช่นเดียวกัน นี้เป็นผลของศีลกรรม กรรมคือศีล

                   ยกตัวอย่างในทางที่เป็นกลาง ๆ ไม่จัดว่าเป็นกุศล หรืออกุศล เช่นอาชีวกรรม กรรมที่เป็นอาชีพต่าง ๆ เช่น กสิกรรมหรือเกษตรกรรม พาณิชยกรรม และอาชีวกรรมอื่น ๆ นี้เป็นเหตุผลก็คือเมื่อเป็นกสิกรมหรือเกษตรกรรมก็ได้แก่พืชผลนั้น ๆ เมื่อเป็นพาณิชยกรรมก็ได้แก่ทรัพย์นั้น ๆ และเมื่อเป็นอาชีวกรรมก็ได้แก่ผลนั้น ๆ นี้เป็นต้น

                   แม้กรรมในฝ่ายดี และฝ่ายที่เป็นกลางๆ นี้ก็เช่นเดียวกัน เกิดจากกิริยาคือการกระทำของบุคคล บุคคลต้องกระทำ เช่นต้องการกระทำการให้ ต้องการกระทำความตั้งใจวิรัติงดเว้น จึงจะเป็นทานเป็นศีลขึ้นมา บุคคลต้องทำนา ทำการเกษตร ต้องทำการค้า ต้องประกอบอาชีพอื่น ๆ นั้น ๆ จึงจะเป็นกสิกรรม เกษตรกรรม เป็นพาณิชยกรรม เป็นอาชีวกรรมนั้น ๆ นี้เป็นผลทางกรรมอันเกี่ยวแก่กิริยาคือการกระทำของบุคคล บุคคลต้องทำจึงจะเป็นเหตุเป็นผลขึ้นมา ถ้าไม่ทำก็ไม่เป็นเหตุเป็นผลขึ้นมา