Print

แสงส่องใจ ฉบับที่ ๔๔๘

 

 sungaracha

 sangharaja-section

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ในเหตุผลและเหนือเหตุผล

 

                  

--------------------------------------------

 สังสารวัฏ (๓)

                  อันที่จริงถ้าพิจารณาด้วย โยนิโสมนสิการ คือพิจารณาโดยแยบคายด้วยปัญญาแล้ว แม้จะไม่เชื่อก็ยังไม่ควรที่จะปฏิเสธ เพราะว่าเมื่อตนเองยังไม่รู้ เมื่อไม่รู้จะปฏิเสธได้อย่างไรว่าสิ่งนั้นไม่มี หรือแม้ว่าจะรับรองก็ย่อมรับรองไม่ได้อีกเหมือนกัน เพราะไม่รู้ สิ่งนั้นอาจจะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ เหมือนอย่างชาติอดีตและชาติอนาคตเป็นสิ่งที่สามัญชนทั่วไปไม่รู้ สิ่งที่ไม่รู้นี้อาจจะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ เพราะฉะนั้นจะด่วนปฏิเสธได้อย่างไร ถ้าแสดงเสียว่า ไม่รู้ ดังนี้จะถูกต้อง

                   คราวนี้มาพิจารณาดูว่า ทุก ๆ คนนั้นรู้จบหมดแล้วหรือยัง ก็จะต้องกล่าวว่ายังรู้ไม่จบไม่หมด สิ่งที่รู้นั้นก็จะต้องกล่าวว่าน้อยนิดเดียว แต่ว่าสิ่งที่ไม่รู้มีอยู่เป็นอันมาก ว่าสิ่งที่ที่เป็นของสามัญธรรมดา ไม่ต้องละเอียดลึกซึ้งอะไร และในปัจจุบันชาตินี้เอง ที่ทุก ๆ คนไม่รู้ก็มีอยู่อีกมากมาย และจะว่าไม่ต้องอาศัยความเชื่อก็หาได้ไม่ ทุกคนอาศัยความเชื่ออยู่เป็นอันมาก ยกตัวอย่างเช่น ทุกคนเรานี้เกิดมาเมื่อไหร่ เอาว่าตอนที่คลอดออกจากครรภ์มารดาเมื่อไหร่ ทุกคนหารู้ไม่ แต่ที่แสดงว่าเกิดเมื่อวันที่เท่านั้นเดือนนั้น ปีนั้น เวลานั้น ก็เชื่อตามที่มารดาบิดาเป็นต้นท่านบอกเท่านั้น แต่ตนเองหาได้รู้ไม่ แม้อาการกริยาทั้งหลายเป็นต้น ที่ทุกคนกระทำในเวลาที่ยังไม่รู้เดียงสาก็ไม่รู้อีกเหมือนกัน เมื่อมารดาบิดาเป็นต้นท่านบอกว่า เมื่อเล็ก ๆ เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้จึงได้ทราบ แล้วก็ต้องเชื่อตามที่ท่านบอกนั้น แม้ว่าเมื่อเติบโตขึ้นมา เล่าเรียนศิลปวิทยาก็รู้ตามตำรา แต่ว่าสิ่งทั้งหลายจะเป็นจริงตามที่ตำราแสดงหรือไม่ก็หารู้ไม่ ในประเทศถิ่นของตนเองที่ตนไม่เคยไปแต่ก็รู้ว่ามีอยู่ ในต่างประเทศที่ตนไม่เคยไปก็รู้ว่ามีอยู่ แต่ว่าเป็นการรู้ตามที่มีผู้บอก มีตำราแสดง และมีเหตุแวดล้อมต่าง ๆ แสดง ก็ต้องว่าเป็นความเชื่ออีกเหมือนกัน เพราะว่าไม่มีประสบการณ์ด้วยตนเอง ทุกคนจึงต้องอาศัยความเชื่ออยู่เป็นอันมาก สิ่งที่ตนรู้จริง เอาเพียงว่ามีประสบการณ์จริงนั้นน้อย

                   เมื่อพิจารณาดูดังนี้แล้ว ก็จะเห็นว่า อาศัยความเชื่ออยู่เป็นอันมาก มากกว่าอาศัยปัญญาคือความรู้เสียอีก และแม้ความเป็นไปของชีวิต อนาคตจะเป็นอย่างไรก็ไม่มีใครรู้ ชั่วโมงหน้าก็ไม่รู้ วันหน้าตั้งแต่วันพรุ่งนี้ไปก็ไม่รู้ แต่ว่าอาศัยความเชื่อเอา จึงได้มีกำหนดต่าง ๆ ว่าจะทำนั่นทำนี่ เมื่อนั่นเมื่อนี่ ในเวลาข้างหน้า อันที่จริงก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ว่ากำหนดไว้ตามความเชื่อว่าจะอยู่ไปได้ และจะทำนั่นทำนี่ เพราะฉะนั้น จึงได้มีพระพุทธดำรัสที่ตรัสเตือนไว้ว่า ทุกคนควรปฏิบัติในทางที่เรียกว่า อปัณณกปฏิปทา คือข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด

                   ทรงยกตัวอย่างเหมือนอย่างว่า เรื่องชาติหน้า ที่คนทั่วไปไม่รู้ จะควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อ ได้ทรงยกตัวอย่างเปรียบเทียบไว้ว่า ผู้ที่ไม่เชื่อจึงไม่คำนึงถึงผลต่าง ๆที่จะไปรับในชาติหน้า จึงประกอบกรรมที่จะทำให้ตนเป็นสุข สนุกสำราญตามใคร่ปรารถนาในชาตินี้เท่านั้น จึงประกอบกรรมที่ชั่วต่าง ๆ เพราะว่าจะไปประกอบกรรมดีเพื่ออะไรเมื่อเป็นดังนี้ เมื่อกายแตกทำลายตายไป เมื่อชาติหน้ามี สุคติทุคติมี ก็จะต้องไปเกิดในทุคติ และแม้ในชาติปัจจุบันนี้เองก็ปรากฏแป็นคนไม่ดี ส่วนผู้ที่มีความเชื่อในชาติหน้าตลอดทั้งเชื่อในสุคติย่อมจะมีความสำรวมในตนเอง ละความชั่วประกอบกรรมดี เมื่อเป็นดังนี้ เมื่อชาติหน้ามี สุคติทุคติมี กายแตกทำลายตายไป ก็จะไปเกิดในสุคติ และในชาติปัจจุบันนี้เอง ก็จะปรากฏว่าเป็นคนดี ฉะนั้นความเชื่อว่าชาติหน้ามี สุคติทุคติมี อันจะทำให้มีความสังวรระวังตนเอง ละความชั่วประกอบกรรมดีดังกล่าว จึงเป็นอปัณณกปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด ดังนี้

 

-----------------------------------------------------------------------