Print

แสงส่องใจ ฉบับที่ ๔๔๕

 sungaracha

 sangharaja-section

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ในเหตุผลและเหนือเหตุผล

 

                  

--------------------------------------------

 

ความสำคัญของปฐมเทศนา (๒)

                   ทุกข์นั้นก็ได้แก่ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความโศกคือความแห้งใจ ความคร่ำครวญใจ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจเป็นทุกข์ ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ ปรารถนาไม่ได้สมหวังเป็นทุกข์ กล่าวโดยย่อแล้ว ขันธ์เป็นที่ยึดถือ ๕ ประการเป็นทุกข์

                   ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ นั้นได้แก่ ตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากของใจ อันนำไปสู่ภพใหม่ ประกอบกับ นันทิ คือความเพลิน ราคะ คือความติดใจ ยินดี มีความบันเทิงยินดียิ่งในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่ กามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในกาม คือในสิ่งที่น่ารักน่าใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในภพ คือความเป็นนั่นเป็นนี่ วิภวตัณหาคือความทะยานอยากไปในวิภพ คือความไม่เป็นนั่นเป็นนี่

                   ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ ก็ได้แก่ ความดับตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากได้สิ้นเชิง ทุกข์จะดับได้หมด

                   มรรค* ข้อที่ ๔ ก็ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น ดังกล่าวแล้ว

                   อริยสัจ ๔ นี้เอง เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ คือได้ทรงรู้ทรงเห้น

                   ในประการที่ ๓ แสดงว่า ตรัสรู้อย่างไร เพราะที่เรียกว่า รู้ ๆ นั้นก็ยังมีลักษณะหลายอย่าง ฉะนั้น ความรู้ของพระองค์ที่เรียกว่าเป็นความตรัสรู้นั้นมีลักษณะอย่างไร จึงได้ทรงแสดงว่า จักษุคือดวงตา ญาณคือความหยั่งรู้ ปัญญาคือความรู้ทั่ว วิชชาคือความแจ่มแจ้ง อาโลกะคือความสว่าง ได้บังเกิดผุดขึ้นแก่พระองค์ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยสดับมาก่อนว่า

                   นี้ทุกข์ ทุกข์นี้ควรกำหนดรู้ ทุกข์นี้ได้กำหนดรู้แล้ว

                   นี้สมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์ สมุทัยนี้พึงละ สมุทัยนี้ละได้แล้ว

                   นี้นิโรธคือความดับทุกข์ นิโรธนี้พึงกระทำให้แจ้ง นิโรธนี้ได้กระทำให้แจ้งแล้ว

                   นี้มรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงทางดับทุกข์ มรรคนี้ควรอบรมทำให้มีให้เป็นเป็นขึ้น มรรคนี้ได้อบรมและทำให้มีให้เป็นขึ้นแล้ว