Print

แสงส่องใจ ฉบับที่ ๔๔๔

 sungaracha

 sangharaja-section

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ในเหตุผลและเหนือเหตุผล

 

                   เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์เมือวันพฤหัสบดี ที่ ๒๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖ เวลา ๑๙.๓๑ นาฬิกา ณ ที่ประทับชั้นพระมหากรุณาธิคุณ (ชั้น ๖) ตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สิริพระชนมายุ ๑๐๐ พรรษา กับ ๒๑ วัน

                   ตลอดระยะเวลาก่อนที่จะทรงประชวร และหลังจากที่ทรงประชวร จนต้องเข้ารับการถวายการรักษาพระอาการฯ ตั้งแต่ปีพุทธศักร ๒๕๔๕ นั้น ทรงปฏิบัติพระศาสนกิจที่ยังประโยชน์ไพศาลทั้งต่อพุทธศาสนิกชน และต่อชาวโลกต่างพระศาสนาด้วยพระวิริยะอุตสาหะโดยสม่ำเสมอ

                   พระอาการประชวรนั้น เป็นไปโดยปรกติภาพแห่งพระชนมายุ แต่ก็ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ ทรงเจริญอิทธิบาท ๔ และวิปัสสนากรรมฐานโดยสม่ำเสมอ แม้จนช่วงรุ่งเช้าของวันที่ ๒๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖ นั้นเอง ก็ทรงเข้านิโรธสมาบัติ ดำรงพระสติมั่นอยู่ในฌาน เป็นผลให้เครื่องวัดสัญญาณชีพอ่านค่าพระชีพจร พระหทัย และความดันพระโลหิตแปลกไปจากปรกติ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาเองนั้น ก็หวั่นเกรงว่าจะทรงสิ้นพระชนม์ไม่เกินช่วงสาย หากแต่การณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อทรงเข้านิโรธสมาบัติ ทรงเจริญฌาน และทวนญาณขึ้นไปเป็นตามลำดับ ยังเหตุอัศจรรย์เกินกว่าที่คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาพระอาการฯ นั้นจะวินิจฉัยได้ จวบจนเมื่อทรงพิจารณาเหตุปัจจัยแห่งการดับธาตุขันธ์ต่าง ๆ ทั่วพร้อมแล้ว ทรงมีพระอาการสงบนิ่ง ความดันพระโลหิต และพระชีพจร ค่อย ๆ แผ่วเบาลง จนความดันพระโลหิต ลดลงจาก ๒๐ ในช่วงเวลาย่ำรุ่ง เป็น ๐ ในเวลา ๑๙.๓๑ นาฬิกา

                   ก่อนเวลาที่จะทรงสิ้นพระชนม์นั้น เป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่บุคคลทั้งหลาย ที่ต่างมุ่งหน้าเข้ามาสู่ที่ประทับ เพื่อน้อมถวายมหานมัสการ เมฆก้อนใหญ่ลอยอยู่เหนือตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาร แสงสุดท้ายของดวงตะวันฉาดฉายสู่พื้นดิน พร้อมสายฝนที่พรั่งพรูกระหน่ำ หากแต่รอบบริเวณถัดออกไปนั้น กลับไม่มีแม้แต่สายลมพัดผ่าน

                   รุ่งขึ้นวันศุกร์ที่ ๒๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เชิญพระศพ จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มายังพระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร ตลอดเส้นทางที่กระบวนเชิญพระศพผ่าน มีพุทธศาสนิกชนตั้งโต๊ะหมู่บูชาประดิษฐานพระรูปเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ถวายสักการะพระศพเป็นระยะ ๆ พร้อมทั้ง มีประชาชนนั่งเฝ้าถวายสักการะตลอดเส้นทาง ตราบจนเชิญพระศพถึงวัดบวรนิเวศวิหารเวลา ๑๓.๒๐ นาฬิกา ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ตั้งขบวนเชิญพระศพ จากประตูวัดบวรนิเวศวิหารขึ้นสู่พระตำหนักเพ็ชร ประดิษฐานพระศพ ณ ห้องพระฉาก เพื่อประกอบพระราชพิธีถวายน้ำสรงพระศพต่อไป และตั้งแต่เชิญพระศพกลับมาประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศแล้ว พุทธศาสนิกชนทั่วโลกต่างทยอยหลั่งไหลเข้าถวายอภิสัมมานสักการะอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน

                   เหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านี้ สะท้อนถึงพระบารมีธรรมและพระเมตตาธรรมที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงมีต่อพุทธศาสนิกชนทั่วโลก สมดั่งที่คณะผู้นำพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ต่างพร้อมใจกันถวายตำแหน่ง “ผู้นำสูงสุดแห่งโลกพุทธศาสนา”

                   และด้วยเหตุอันเป็นที่ประจักษ์แก่ศิษยานุศิษย์ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงสามารถดำรงพระขันติธรรมอย่างล้ำเลิศ กอปรกับทรงมีพระสติ ทรงเจริญอิทธิบาท ๔ สมาธิวิปัสสนา ดำรงอยู่ในฌาน และมีพระปัญญารู้แจ้งอย่างไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนจนทุกข์ทั้งปวงไม่สามารถกล้ำกรายพระองค์ได้ สมดังพระนามสมณศักดิ์ “สมเด็จพระญาณสังวร” เหตุที่ทำให้เกิดพระขันติธรรม สมาธิ วิปัสสนา และพระปัญญาอันล้ำเลิศนั้น ก็ด้วยธรรมะที่ทรงประพฤติปฏิบัติจนเกิดเป็นผลแห่งการปฏิบัตินั้นขึ้น ธรรมะที่ทรงนำมาปฏิบัตินั้นมีอยู่อย่างประณีตวิจิตร และผลที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนั้น สร้างความอัศจรรย์ให้เกิดขึ้นแก่จิตแก่ใจของเหล่าศิษยานุศิษย์ผู้ยังเป็นปุถุชน เมื่อนำมาพินิจพิจารณาก็จะพบว่า “บางเรื่อง” เป็นเรื่อง “ในเหตุผล” แต่หลายเรื่องที่ประจักษ์ชัดแจ้งก็เป็นผลจากธรรมะที่ทรงดำรงมั่นอยู่ในเรื่อง “เหนือเหตุผล” ขึ้นไปแล้ว

                         ด้วยเหตุนี้ คณะศิษยานุศิษย์จึงพร้อมใจกันรวบรวมพระนิพนธ์ “ในเหตุผลและเหนือเหตุผล” ขึ้น สำหรับสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องดังกล่าวตามหลักการของพระพุทธศาสนา เป็นอนุสรณียวัตถุแห่งพระอริยบุคคลผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐพระองค์นั้น โดยเสด็จพระราชกุศลในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และเพื่อมอบเป็นปฏิการแก่ศรัทธาสาธุชนทั้งหลายที่ตั้งใจมาถวาย สักการะพระศพ โดยทั่วกัน

 

                                                                                ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๖

 

--------------------------------------------

 

ความสำคัญของปฐมเทศนา (๑)

                   ปฐมเทศนา คือเทศนาครั้งแรกของพระองค์อันเรียกว่า ธรรมจักร หรือธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร พระสูตรที่ว่าด้วยการยังจักรคือธรรมให้เป็นไปนั้น ได้ทรงแสดงถึงความตรัสรู้ของพระองค์เองพร้อมทั้งทางที่ทรงปฏิบัติมา และทรงแสดงถึงว่าได้ทรงตรัสรู้อะไร และ ตรัสรู้อย่างไร ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาจึงสมควรที่จะทราบ

                   ประการแรก เมื่อก่อนจะตรัสรู้พระองค์ได้ทรงปฏิบัติมาอย่างไร ตามปฐมเทศนานี้กล่าวไว้ว่า อันบรรพชิตคือผู้บวชผู้มุ่งนิพพานอันเป็นธรรมที่ดับกิเลสและกองทุกข์ด้วยประการทั้งปวง พึงเว้นจากความประกอบตนไว้ด้วยความสุขสดชื่อในกามทั้งหลาย และพึงเว้นจากความประกอบตนในการทรมานตนให้ลำบาก เพราะว่าเป็นทางสุดโต่งสองข้างที่ไม่ให้บังเกิดผลตามที่มุ่งหมายนั้น แต่พึงปฏิบัติตนในทางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง ไม่ข้องเกี่ยวด้วยทางสุดโต่งทั้งสองนั้น อันได้แก่มรรคมีองค์ ๘ ประการ คือ

                   ๑. สัมมาทิฏฐิ                                      ความเห็นชอบ

                   ๒. สัมมาสังกัปปะ                               ความดำริชอบ

                   ๓. สัมมาวาจา                                     เจรจาชอบ

                   ๔. สัมมากัมมันตะ                               การงานชอบ

                   ๕. สัมมาอาชีวะ                                  เลี้ยงชีพชอบ

                   ๖. สัมมาวายามะ                                  เพียรชอบ

                   ๗. สัมมาสติ                                        ระลึกชอบ

                   ๘. สัมมาสมาธิ                                    ตั้งใจชอบ

                   ทางงทั้ง ๘ ประการนี้ ทำให้เกิด จักษุ คือดวงตา ทำให้เกิด ญาณ คือความหยั่งรู้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นไปเพื่อความรู้พร้อม เป็นไปเพื่อพระนิพพาน เป็นอันว่าทรงแสดงว่าได้ทรงเว้นจากทางกาม และเว้นจากทางการทรมานตนให้ลำบาก แต่ว่าทรงปฏิบัติในทางอันเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง ซึ่งหมายความว่าอยู่ในระหว่างทางทั้งสองนั้น แต่ไม่เกี่ยวข้องด้วยทางทั้งสองนั้น อันเป็นเหตุให้ทรงได้จักษุดวงตาเห็นธรรม ได้ญาณคือความหยั่งรู้

                   จึงมีปัญหาว่า จักษุดวงตาที่มองเห็น ญาณคือความหยั่งรู้นั้น รู้เห็นในอะไร จึงมาถึงประการที่ ๒ ของปฐมเทศนาที่แสงว่า อริยสัจจะ คือความจริงที่พระอริยะคือผู้เจริญประเสริฐพึงรู้ความจริงที่ทำผู้รู้ให้เป็นพระอริยะ คือว่าความจริงอย่างประเสริฐ ความจริงอย่างยิ่ง ๔ ประการได้แก่

๑. ทุกข์

๒. ทุกขสมุทัย                                     เหตุให้เกิดทุกข์

                   ๓. ทุกขนิโรธ                                      ความดับแห่งทุกข์

                   ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา                   ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “มรรค”