Print

แสงส่องใจ ฉบับที่ ๔๔๒

 sungaracha

 sangharaja-section

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

bornunderstand
ความเข้าใจเรื่องชีวิต (๑๑)

 

 

เงื่อนไขของความสุข

                   สิ่งภายนอกโดยมาก ถ้าเป็นส่วนที่ดีมี เงิน ทอง ยศชื่อเสียง เป็นต้น ก็เป็นที่ปรารถนาตรงกันของคนเป็นอันมาก จึงต้องมีการแสวงหาแข่งขันกันโดยทางใดทางหนึ่ง เมื่อได้มาก็ให้เกิดความสุขเพราะสมปรารถนาบ้าง เพราะนำไปเลี้ยงชีพตนและผู้อื่นให้อิ่มหนำสำราญบ้าง สิ่งภายนอกย่อมอุดหนุนความสุขฉะนี้ แต่สิ่งภายนอกเป็นของไม่ยั่งยืน แปรเปลี่ยนไปอยู่เสมอ ความสุขที่เกี่ยวเกาะติดอยู่ก็ต้องแปรเปลี่ยนไปตาม ความทุกข์จึงปรากฏขึ้นติด ๆ กันไปทีเดียว ความสุขเช่นนี้เป็นความสุขที่ลอยไปลอยมา หรือเรียกว่าเป็นความสุขลูกโป่ง และในความแสวงหา ถ้าไม่ได้ หรือได้สิ่งที่ไม่ชอบ ก็ให้เกิดความทุกข์ เพราะไม่สมปรารถนา อนึ่งถ้าได้สิ่งนั้น ๆ มาด้วยการกระทำที่ไม่ดี การกระทำนั้นก็จักเป็นเครื่องตัดทอนตนเองอีกส่วนหนึ่ง ข้อความที่กล่าวมานี้แสดงว่า สิ่งภายนอกอุดหนุนความสุขสำราญให้บ้าง แต่จัดเป็นเหตุของความสุขหรือ? ถ้าเป็นเหตุของความสุข ผู้ที่มีสิ่งภายนอกบริบูรณ์จักต้องเป็นสุขทุกคน แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น ผู้ที่บริบูรณ์ด้วยสิ่งภายนอก แต่เป็นทุกข์มีถมไป เพราะเหตุนี้ สิ่งภายนอกจึงมิใช่เป็นตัวเหตุของความสุข เป็นเพียงเครื่องแวดล้อมอุดหนุนความสุขดังกล่าวแล้วเท่านั้น บัดนี้ยังเหลืออยู่อีกความเห็นหนึ่ง ซึ่งว่าสุขทุกข์เกิดจากเหตุภายใน

                   อันสิ่งภายนอก มีเงิน ทอง ยศ ชื่อเสียง เป็นต้น อันเป็นอุปกรณ์แก่ความสุข เมื่อคิดดูให้ซึ้งลงไป จักเห็นว่าเกิดจากการกระทำของตนเอง ถ้าตนเองอยู่เฉย ๆ ไม่ทำการงานอันเป็นเหตุที่เพิ่มพูนสิ่งภายนอกเหล่านั้น สิ่งภายนอกนั้นก็จะไม่เกิดขึ้น ที่มีอยู่แล้วก็ต้องแปรเปลี่ยนไป ถ้าไม่มีใหม่มาชดเชย ก็จักต้องหมดไปในที่สุด เพราะเหตุฉะนี้ จึงกล่าวได้ว่า สิ่งภายนอกที่เป็นอุปการณ์แก่ความสุขนั้น ก็เกิดขึ้นเพราะการกระทำของตนเอง ในทางธรรมการประกอบอาชีพมีกสิกรรมพาณิชยกรรมเป็นต้นไปตามธรรมดา ไม่เรียกเป็นการงานที่ดีหรือชั่ว แม้ชาวโลกก็ไม่เรียกผู้ประกอบการอาชีพไปตามธรรมดาว่าเป็นคนดีหรือเป็นคนเลว แต่หากว่ามีการทำอย่างอื่นพิเศษออกไป ถ้าต้องด้วยเนติอันงามก็เรียกกันว่าดี ถ้าไม่ต้องด้วยเนติอันงามก็เรียกกันว่าเลว ไม่ดี เพราะเหตุฉะนั้น ผู้ปรารถนาสุขเบื้องต้นจึงสมควรหมั่นประกอบการงานหาเลี้ยงชีพตามทางของตน ๆ โดยไม่ตัดรอนกัน ไม่เฉื่อยชา เกียจคร้าน และแก้ไขในการงานของตนให้ดีขึ้น ก็จักไม่ต้องประสบความแร้นแค้นขัดข้อง ถ้าไม่หมั่นประกอบการงาน เกียจคร้าน เฉื่อยชา และไม่คิดแก้ไขการงานของตนให้ดีขึ้น ปล่อยไปตามเรื่อง ก็อาจจักต้องประสบความยากจนข้นแค้น ต้องอกแห้งเป็นทุกข์ และนั่นเป็นความผิดใหญ่ต่อประโยชน์ปัจจุบันของตนเอง

                   การทำอย่างหนึ่งทางธรรมเรียกว่าเป็นวิถีทางของคนฉลาดและทางโลกยกย่องนับถือว่าดี การทำอย่างนี้เรียกว่าสุจริต แปลว่า ประพฤติดี ประพฤติดีทางกาย เรียกว่ากายสุจริตประพฤติดีทางวาจา เรียกว่าวจีสุจริต ประพฤติดีทางใจ เรียกว่า มโนสุจริต กายสุจริต จำแนกเป็น ๓ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในทางกามประเวณี ,วจีสุจริต จำแนกเป็น ๔ คือ ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล , มโนสุจริตจำแนกเป็น ๓ คือ ไม่เพ่งเล็งทรัพย์สมบัติของผู้อื่นด้วยโลภเจตนาคิดจะเอามาเป็นของของตน ไม่พยาบาทปองร้าย ไม่เห็นผิดจากคลองธรรม มีความเห็นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น รวมเป็น ๑๐ ประการ ส่วนการกระทำที่ตรงกันข้ามเรียกว่าทุจริต แปลว่าประพฤติชั่ว ประพฤติชั่วทางกายเรียกว่า กายทุจริต ประพฤติชั่วทางวาจาเรียกว่าวจีทุจริต ประพฤติชั่วทางใจ เรียกว่ามโนทุจริต ทุจริต ๓ นี้มีจำแนกตรงกันข้ามกับสุจริต

                   คำว่า ประพฤติ มักจะพูดม่งุ หมายถึงการกระทำทางกาย และวาจา คำว่า ทำก็มักพูดหมายถึงการทำทางกาย การทำทางวาจาเรียกว่าพูด การทำทางใจเรียกว่าคิด ส่วนทางธรรมการทำ พูด คิด เรียกเป็นอย่างเดียวกันว่า ทำหรือประพฤติ และมีคำว่า กาย วาจา ใจ กำกับ เพื่อให้รู้ว่าทำหรือประพฤติทางไหน

                   ทุจริต ทางธรรมเรียกว่าไม่ดี เป็นวิถีทางของผู้ไม่ฉลาด ทางโลกก็เหยียดหยามว่าเลว ไม่ดี โดยนัยนี้ จึงเห็นว่าทั้งทางโลกทั้งทางธรรม นับถือสิทธิของผู้อื่น หรือเรียกว่านับถือขอบเขตแห่งความสงบสุขของผู้อื่น เพราะสุจริตและทุจริตที่จำแนกไว้อย่างละ ๑๐ ประการนั้น โดยความก็คือ ไม่ประพฤติละเมิดสิทธิหรือไม่เบียดเบียนความสงบสุขของผู้อื่น และการประพฤติละเมิดสิทธิและความสงบสุขของผู้อื่น นั่นเอง แต่ทางโลกนับถือสิทธิของบุคคลและสัตว์เดียรัจฉานบางจำพวก ไม่นับถือบางจำพวก โดยอาศัยกฎหมายเป็นหลัก ส่วนทางธรรมนับถือทั่วไปไม่มีแบ่งแยกยกเว้น เพราะทางธรรมละเอียดประณีต

                   อนึ่ง ทุจริต อยู่เฉย ๆ ประพฤติไม่ได้ ต้องประพฤติด้วยความขวนขวายพยายามจนผิดแผกแปลกไปจากปกติ จึงจัดเป็นทุจริตได้ ส่วนสุจริต ประพฤติได้โดยไม่ต้องลงทุนลงแรง ประพฤติไปตามปกติของตนนั่นแล ไม่ต้องตบแต่งเปลี่ยนแปลงก็เป็นสุจริตได้ เพราะเหตุนี้ เมื่อว่าทางความประพฤติ สุจริตจึงประพฤติได้ง่ายกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไรทุจริตจึงเกิดขึ้นได้ ? ข้อนี้เป็นเพราะยังขาดธรรมในใจเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้ง ความประพฤติจึงเป็นไปตามใจของตนเอง ผู้รักษาศีลหรือประพฤติสุจริต หรือแม้ประพฤติ

กฎหมายของบ้านเมือง ถ้าไม่มีธรรมอยู่ในใจบ้างแล้ว ก็มักจะรักษาหรือประพฤติทำนองทนายว่าความ เพราะการกระทำบางอย่างไม่ผิดศีลตามสิกขาบท ไม่ผิดสุจริตตามหัวข้อ แต่ผิดธรรมมีอยู่ และจะประพฤติหรือรักษาให้ตลอดไปมิได้ เพราะเหตุนี้จึงสมควรมีธรรมในใจสำหรับประพฤติคู่กันไปกับสุจริต

                   ธรรมมีมาก แต่ในที่นี้จักเลือกแสดงแต่ธรรมที่สมควรประพฤติปฏิบัติคู่กันไปกับสุจริต โดยนัยหนึ่ง คือมีความละอายใจในการเบียดเบียน มีความเอ็นดูขวนขวายอนุเคราะห์สัตว์ทั้งปวงด้วยประโยชน์ คู่กับการไม่ฆ่าสัตว์ มีความโอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เฉลี่ยความสุขของตนแก่คนที่ควรเฉลี่ยให้ด้วยการบริจาคให้ คู่กับการไม่ลักทรัพย์ มีสันโดษยินดีเฉพาะสามีหรือภริยาของตน ไม่คิดนอกใจ สำหรับผู้ที่ยังไม่มีครอบครัว ก็มีเคารพในธรรมเนียมประเพณีที่ดี ไม่คิดละเมิด คู่กับการไม่ประพฤติผิดในทางกามประเวณี อนึ่ง มีปากตรงกับใจ ไม่ลดเลี้ยวลับลมคมใน คู่กับไม่พูดปด พูดชักให้เกิดสามัคคีสมานสามัคคีด้วยใจสมาน

คู่กับไม่พูดส่อเสียด พูดกันดี ๆ อ่อนหวาน ตามสมควรแก่ภาษานิยม มิใช่กด มิใช่ยกยอ ด้วยอัธยาศัยอ่อนโยนนิ่มนวล ไม่กระด้างคู่กับไม่พูดคำหยาบ พูดมีหลักฐานที่อ้างอิง มีกำหนด มีประโยชน์ มีจบ อย่างสูงเรียกว่ามีวาจาสิทธิ์ ด้วยความตกลงใจทันท่วงทีมั่งคง ไม่โงนเงนโลเลคู่กับไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล อนึ่ง มีใจสันโดษยินดีในสมบัติของตนตามได้ ตามกำลัง ตามสมควร และมีใจยินดีด้วย หรือวางใจเฉย ๆ ด้วยความรู้เท่าในเมื่อผู้อื่นได้รับสมบัติ หรือในเมื่อเห็นสมบัติของผู้อื่น คู่กับไม่เพ่งเล็งทรัพย์สมบัติของผู้อื่นด้วยโลภเจตนาคิดจะเอามาเป็นของตน มีเมตตาไมตรีจิตในสัตว์ทั้งปวง คู่กับไม่พยาบาทปองร้าย ทำความเห็นให้ตรงเพื่อให้ถูกให้ชอบยิ่งขึ้น คู่กับความเห็นชอบ ธรรมตามที่แสดงมานี้มีอยู่ในบุคคลใด บุคคลนั้นชื่อว่าธรรมจารี ผู้ประพฤติธรรม หมายถึงความประพฤติเรียกว่าธรรมจริยา ส่วนที่ตรงกันข้ามกับที่แสดงมานี้ เรียกว่าอธรรม คู่กับทุจริต สุจริตกับธรรมที่คู่กันเรียกอย่างสั้นในที่นี้ว่า สุจริตธรรม นอกนี้เรียกว่าทุจริตธรรม