Print

แสงส่องใจ ฉบับที่ ๔๔๑

 sungaracha

 sangharaja-section

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

bornunderstand
ความเข้าใจเรื่องชีวิต (๑๐)

 

ความสุขอยู่ทีไหน ?

อันความสุขย่อมเป็นที่ปรารถนาของคนทุก ๆ คน และทุก ๆ คนย่อมเคยประสบความสุขมาแล้ว ความสุขเป็นอย่างไร จึงเป็นที่รู้จักกันอยู่ ในเวลาที่กายและจิตใจอิ่มเอิบสมบูรณ์ สบายก็กล่าวกันว่าเป็นสุข ความสุขจึงเกิดขึ้นที่กายและจิตใจนี่เอง สำหรับกายนั้น เพียงให้เครื่องอุปโภคบริโภคพอให้เป็นไปได้ก็นับว่าสบาย แม้กายสบายดังกล่าวมานี้ ถ้าจิตไม่สบาย กายก็พลอยซูบซีดเศร้าหมองด้วย ส่วนกายเมื่อไม่สบายด้วยความเจ็บป่วย หรือด้วยความคับแค้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าจิตยังร่าเริงสบายอยู่ ก็ไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์เป็นร้อนเท่าใดนัก และความไม่สบายของกายก็อาจบรรเทาไปได้ เพราะเหตุนี้ความสุขจิตสุขใจนั้นแลเป็นสำคัญ อันความสุขทางจิตใจนี้ คิด ๆ ดูก็น่าเห็นว่าหาได้ไม่ยากอีกเพราะความสุขอยู่ที่จิตใจของตนเอง จักต้องการให้จิตเป็นสุขเมื่อใดก็น่าจะได้ ใคร ๆ เมื่อคิดดูก็จักต้องยอมรับว่า น่าคิดเห็นอย่างนั้น แต่ก็ต้องยอมจนอีกว่า สามัญชนทำไม่ได้เสมอไป เพราะยังต้องการเครื่องอุปกรณ์แห่งความสุข หรือเรียกว่าเครื่องแวดล้อมอุดหนุนความสุข มีเงินทองเครื่องอุปโภคเป็นต้น ถ้าเครื่องอุปกรณ์แห่งความสุขขาดไปหรือมีไม่เพียงพอ ก็ทให้เป็นสุขมิได้ นี้เรียกว่ายังต้องปล่อยใจให้เป็นไปตามเหตุการณ์อยู่ ข้อนี้เป็นความจริง เพราะเหตุฉะนี้ในที่นี้จึงประสงค์ความสุขที่มีเครื่องแวดล้อมหรือที่เรียกว่าสุขสมบัติ อันเป็นความสุขขั้นสามัญชนทั่วไป

คิดดูเผิน ๆ ความสุขนี้น่าจักหาได้ไม่ยาก เพราะในโลกนี้มีเครื่องอุปกรณ์แห่งความสุขแวดล้อมอยู่โดยมาก หากสังเกตดูชีวิตของคนโดยมากที่กำลังดำเนินไปอยู่ จักรู้สึกว่าตรงกันข้ามกับที่คิดคาด ทั้งนี้มิใช่เพราะเครื่องแวดล้อมอุดหนนุนความสุขในโลกนี้มีน้อยจนไม่เพียงพอ แต่เป็นเพราะผู้ขาดแคลนความสุขสมบัติ ไม่ทำเหตุอันเป็นศรีแห่งสุขสมบัติ จึงไม่ได้สุขสมบัติเป็นกรรมสิทธิ์ ส่วนผู้ที่ทำเหตุแห่งสุขสมบัติย่อมได้สุขสมบัติมาเป็นกรรมสิทธิ์ เพราะเหตุนี้ ผู้ปรารถนาสุขจึงสมควรจัดเหตุให้ได้ก่อนว่า อะไรเป็นเหตุของความสุข และอะไรเป็นเหตุของความทุกข์ บางคนอาจเห็นว่าเหตุของความสุขความทุกข์อยู่ภายนอก คือสุขเกิดจากสิ่งภายนอก มีเงินทอง ยศ ชื่อเสียง บ้านที่สวยงาม เป็นต้น ส่วนความทุกข์ก็เกิดจากสิ่งภายนอกนั้นเหมือนกัน บางคนอาจเห็นว่าความสุขความทุกข์เกิดจากเหตุภายใน จักพิจารณาความเห็นทั้งสองนี้ต่อไป