Print

แสงส่องใจ ฉบับที่ ๔๓๘

 sungaracha

 sangharaja-section

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

bornunderstand
ความเข้าใจเรื่องชีวิต (๗)

 

 

แง่คิดเกี่ยวกับชีวิต

 

อันเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นแก่ชีวิต มีอยู่เป็นอันมากบังเกิดขึ้นโดยไม่รู้ไม่คิดมาก่อน แต่เมื่อเป็นเหตุการณ์ที่จะต้องเกิดก็เกิดขึ้นจนได้ ถ้าหากใครมองดูเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นอย่างของเล่น ๆ ไม่จริงจัง ก็ไม่เกิดทุกข์เดือดร้อน หรือจะเกิดบ้าง ก็เกิดอย่างเล่น ๆ ถ้าจะหนีเหตุการณ์เสียบ้าง ก็เหมือนอย่างหนีไปเที่ยวเล่น หรือไปพักผ่อนเสียครั้งคราวหนึ่ง

 

                   คนเรานั้นเมื่อเห็นว่าที่ใดมีทุกข์ ก็จะต้องหนีไปให้พ้นจากคนหรือเหตุการณ์ที่ก่อทุกข์ให้เกิดขึ้น ฉะนั้น ถ้าแต่ละคนได้ระลึกถึงข้อนี้ ก็ควรจะไม่ประพฤติหรือกระทำการก่อทุกข์ให้แก่กัน ทั้งนี้ด้วยมีความสำนึกตนและประพฤติตนให้อยู่ในขอบเขตที่สมควร

 

                   เรื่องว่าอะไรสมควรอะไรไม่สมควรนั้น ถ้าคนเรามีสติรู้จักตนตามเป็นจริง ไม่หลงตน ไม่ลำเอียงแล้ว ก็จะรู้ได้โดยไม่ยาก บางทีหลอกคนอื่นได้ แต่หลอกตนเองหาได้ไม่ เช่นคนที่รู้อยู่ว่าตนเองเป็นอย่างไร แต่เที่ยวพูดโอ้อวดคนอื่นว่าวิเศษต่าง ๆ บางทีหลอกตนเองให้หลงไปสนิท แต่หลอกคนอื่นไม่ได้ เช่นคนที่หลอกหาได้มีความวิเศษอันใดไม่ แต่เข้าใจตนเองว่าวิเศษ แล้วแสดงตนเช่นนั้น ส่วนคนอื่นเขารู้ว่าเป็นอย่างไร จึงหัวเราะเอา หากได้มองดูความเป็นไปต่าง ๆ กันของคนในทางที่น่าหัวเราะดังนี้ ก็น่าจะมีทุกข์น้อยลง การมองดูคนอื่นนั้นสู้มองดูตนเองไม่ได้ เพราะตนเองต้องรับผิดชอบต่อตนเองโดยตรง ส่วนคนอื่นเขาก็ต้องรับผิดชอบต่อตัวเขาเอง เรื่องความรับผิดชอบนี้ บางทีก็นึกไปไม่ออกว่า ได้ทำอะไรไว้ จึงต้องรับผิดชอบเช่นนี้ เช่นต้องรับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแก่ชีวิต

 

                   ในฐานะเช่นนี้ ผู้เป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าย่อมใช้ศรัทธาความเชื่อในกรรมและผลของกรรม ทำกรรมที่ผิดไว้ก็ต้องรับผิดตรง ๆ ทำกรรมที่ชอบไว้ก็ต้องรับชอบต่าง ๆ จะเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งหาได้ไม่ เมื่อยอมรับกรรมเสียได้ดังนี้ ก็จะมีใจกล้าหาญเป็นอะไรเป็นกัน ไม่กลัวต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ และเมื่อเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น จะแก้อย่างไร ศิษย์ของพระพุทธเจ้าย่อมแก้ด้วยสติและปัญญา เพื่อให้เป็นผู้ชนะด้วยความดี

 

                   พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “พึงชนะคนตระหนี่หรือความตระหนี่ด้วยการให้” นี้เป็นวิธีเอาชนะวิธีหนึ่ง ใครเป็นคนมีความตระหนี่และความโลภ ก็คือตัวเราเองหรือคนอื่นก็ได้ ถ้าเป็นตัวเราเอง ก็จะต้องเอาชนะด้วยการให้ พยายามให้ตัวเราเองเป็นผู้ให้ ถ้าเป็นคนอื่น ก็อาจเอาชนะเขาด้วยการให้ได้เหมือนกัน เช่นให้สิ่งที่เขาต้องการ เขาก็พอใจ แล้วให้สิ่งที่เราต้องการ บางทีก็ซื้อเขาได้ด้วยการให้ทรัพย์ ผู้ที่มีมีจิตใจสูงบางคนสละให้ยิ่งกว่าเขาขอเป็นทานอย่างสูง ที่ทำให้เป็นที่พิศวงแก่คนอื่น ๆ ว่าทำไมจึงให้ได้

 

                   คนย่อมปฏิบัติตามระดับของจิตใจ ไม่สามารถจะทำให้ต่ำกว่าระดับของตนได้ แต่คนดีนั้นพระย่อมรักษา ดังภาษิตว่า “ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” ศิษย์ของพระพุทธเจ้าย่อมมีศรัทธาอยู่อย่างมั่นคงดังนี้ และย่อมปฏิบัติตนเป็นผู้หลีกออกอยู่เสมอ โดยเฉพาะเป็นผู้หลีกออกทางใจ จึงไม่เป็นทุกข์

 

                   อันเรื่องของชีวิต บางคราวก็ดูเป็นของเปิดเผยง่าย ๆ บางคราวก็ดูลึกลับ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ชีวิต บางอย่างก็เกิดตามที่คนต้องการให้เกิด บางอย่างก็เกิดขึ้นโดยคนมิได้เจตนาให้เกิด แต่ผลทุกๆ อย่างย่อมมีเหตุ ถ้าได้รู้เหตุก็เป็นของเปิดเผย ส่วนที่ว่าลึกลับก็เพราะไม่รู้เหตุ จู่ ๆ ก็เกิดผลขึ้นเสียแล้ว เช่น ไม่ได้คิดว่าพรุ่งนี้จะไปข้างไหน ครั้นถึงวันพรุ่งนี้เข้า ก็ต้องไปด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบัดเดี๋ยวนั้น ว่าถึงคนทั่วไปแล้ว เรื่องของพรุ่งนี้เป็นเรื่องลึกลับ เพราะต่างก็ไม่รู้พรุ่งนี้ของตนเองจริง ๆ ถึงวันนี้เองก็รู้อยู่เฉพาะปัจจุบันคือเดี๋ยวนี้ แต่อนาคตหารู้ได้ไม่ว่าต่อไปแม้ในวันนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

 

                   คนเรามีความคิดหวังกันไป ซึ่งจะคิดอย่างไรก็คิดได้และก็อาจจะทำให้ได้ผลตามที่คิด แม้คนที่คิดทุจริต ก็อาจได้ผลจากการทำทุจริต คนที่ประทุษร้ายมิตร หรือคนดีคนบริสุทธิ์ก็อาจได้รับผลจากการทำนั้น เช่น ได้ทรัพย์สินเงินทอง วันนี้จนแต่พรุ่งนี้มั่งมีขึ้น ชวนให้เคลิบเคลิ้มไปไม่น้อย และคนเป็นอันมากก็ดูเหมือนจะเคลิ้มไปในผลที่ล่อใจเช่นนี้ง่าย จนถึงบางทีคนที่เคยตรงก็กลับคด เคยเป็นมิตรก็กลับเป็นศัตรู เพราะมุ่งแต่จะได้เป็นประมาณ เพราะความกลัวต่อวันพรุ่งนี้หรือโลภต่อวันพรุ่งนี้ บางทีก็เพื่อตนหรือเพื่อผู้อื่นที่ตนรักใคร่ วันพรุ่งนี้อาจจะรวยขึ้นจริง แต่วันพรุ่งนี้มิใช่มีเพียงวันเดียว ผู้ที่คิดให้ยาวออกไปอีกหลาย ๆ พรุ่งนี้ จึงน่าจะสะดุดใจ และถ้าใช้ความคิดให้มากสักหน่อย เช่นว่าน่าละอายไหมที่ไปช่วงชิงของของผู้อื่นยิ่งถ้าผู้อื่นนั้นเป็นคนดีคนบริสุทธิ์ ก็ยิ่งน่าละอายใจ เพราะคนดีอย่างที่เรียกว่าใจพระนั้นย่อมถือว่า “แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร” จึงเป็นผู้ยอมให้แก่ผู้ที่ต้องการ แม้จะต้องเสียจนหมดสิ้น ก็ยังดีกว่าจะเป็นทุกข์ใจมาก เพราะเหตุที่จะต้องแก่งแย่ง จะคิดเอาเปรียบนั้นไม่ต้องพูดถึงเพียงคิดให้พอเสมอกันก็ไม่ประสงค์จะได้เสียแล้ว คนดีที่มีใจเช่นนี้ ไม่มีประทุษร้ายจิตต่อใครเลยแม้แต่น้อย ใครต้องการจะเอาเปรียบเมื่อใด ก็ได้เปรียบเมื่อนั้น แต่ข้อที่สำคัญ หากไปกระทบคนดีมีใจพระนั้น มิใช่จะได้เปรียบอย่างง่ายดายอย่างเดียว ยังได้กรรมที่หนักด้วย คือได้บาปหนักหนา คิดเอาเปรียบคนที่คิดเอาเปรียบด้วยกันยังบาปน้อยกว่า เพราะมีใจเป็นอกุศลเสมอกัน ข้อที่ว่าเป็นบาปหนักหนานั้น คือกดระดับแห่งจิตใจของตนเองลงไปให้ต่ำทราม ไม่จำต้องไปพูดถึงนรกหรือผลอะไรที่คอยจะค้านอยู่

 

                   ระดับของคนแม้เพียงคนสามัญย่อมมียุติธรรมตามควรไม่ต้องการเสียเปรียบ ไม่ต้องการเอาเปรียบใคร ไม่รังแกข่มเหงผู้อื่น ไม่ต้องพูดถึงมิตรหรือผู้มีคุณมีอุปการะแก่ตน ซึ่งจะต้องมีความซื่อตรงต่อมิตร มีความกตัญญูต่อผู้มีคุณโดยแท้ คนบาปหนักก็คือ คนที่มีระดับแห่งจิตใจต่ำลงไปกว่านี้ พระพุทธเจ้าทรงปรารภคนที่มีระดับจิตใจต่าง ๆ กันนี้ จึงตรัสว่า “ความดีอันคนดีทำง่าย แต่คนชั่วทำยาก ส่วนความชั่วอันคนชั่วทำง่าย แต่คนดีทำยาก”

 

                   เมื่อนั่งรถไปตามถนนสายต่าง ๆ ถึงตอนที่มีสัญญาณไฟเขียวแดง จะพบว่าถูกไฟแดงที่ต้องหยุดรถ มากกว่าไฟเขียวซึ่งแล่นรถไปได้ น่านึกว่าการดำเนินทางชีวิตของทุกคน มักจะต้องพบอุปสรรคที่ทำให้การงานต้องชะงัก หากเทียบกับทางโปร่งน่าจะต้องพบความติดขัดมากกว่าที่จะปลอดโปร่งไปได้ทีเดียว บางครั้งอาจต้องประสบเหตุที่น่าตกใจว่าจะล้มเหลวหรือเสียหายมาก คล้ายอุบัติเหตุของรถที่วิ่งไปในถนน คนที่อ่อนแอย่อมยอมแพ้อุปสรรคง่าย ๆ ส่วนคนที่เข้มแข็งย่อมไม่ยอมแพ้ เมื่อพบอุปสรรคก็แก้ไขไป รักษาการงานหรือสิ่งที่มุ่งจะทำไว้ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นถืออุปสรรคเหมือนอย่างสัญญาณไฟแดงที่จะต้องพบเป็นระยะ ถ้ากลัวจะต้องพบสัญญาณไฟแดงตามถนนซึ่งต้องหยุดรถ ก็จะไปข้างไหนไม่ได้ แม้ในการดำเนินทางชีวิตก็ฉันนั้น ถ้ากลัวจะต้องพบอุปสรรค ก็ทำอะไรไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนไว้แปลความว่า “คนพึงพยายามร่ำไปจนกว่าจะสำเร็จประโยชน์ที่ต้องการ”

 

                   ความไม่สำเร็จและความพิบัติต่าง ๆ อาจมีได้เหมือนกันเมื่อได้ใช้ความพยายามเต็มที่แล้วไม่ได้รับความสำเร็จก็ไม่ควรเสียใจ ควรคิดปลงใจลงว่า เป็นคราวที่จะพบความไม่สำเร็จในเรื่องนี้ ทั้งไม่ควรจนปัญญาที่จะคิดแก้หรือทำการอย่างอื่นต่อไป เพราะการงานที่จะพึงทำให้เกิดผลนั้นมีอยู่เป็นอันมาก ดังคำว่า“ทรัพย์นี้มิไกล ใครปัญญาไว หาได้บ่นาน” วิสัยคนมีปัญญาไม่อับจนถึงกับไปคิดแย่งทรัพย์ของใคร คนที่เที่ยวลักขโมยแย่งชิงหรือทำทุจริตเพื่อได้ทรัพย์ ล้วนเป็นคนอับจนปัญญาที่จะหาในทางสุจริตทั้งนั้น ส่วนความพิบัติต่าง ๆ นั้น เมื่อไม่ประมาทยังต้องพบ ก็แปลว่าถึงคราวหรือที่เรียกว่าเป็นกรรม เช่น ถูกไฟไหม้หรือถูกเสียหายต่าง ๆ

 

                   เรื่องของกรรมที่หมายถึงกรรมเก่า เป็นแรงดันที่สำคัญอย่างหนึ่ง กรรมเก่าที่ทำไว้ไม่ดีย่อมเป็นแรงดันให้พบผลที่ไม่ดี กรรมเก่าที่ทำไว้ดีเป็นแรงดันให้พบผลที่ดี แต่ยังมีแรงดันอีกอย่างหนึ่งที่ส่งเสริมหรือต้านทาน คือกรรมใหม่ที่ทำในปัจจุบัน ถ้ากรรมปัจจุบันไม่ดีเป็นแรงดันโต้แรงดันของกรรมเก่าที่ดีส่งเสริมแรงดันของกรรมเก่าที่ไม่ดีด้วยกัน ถ้ากรรมปัจจุบันดีก็เป็นแรงดันโต้แรงดันของกรรมเก่าที่ไม่ดี ส่งเสริมแรงดันของกรรมเก่าที่ดีด้วยกัน ความที่จะโต้กันหรือส่งเสริมกันได้เพียงไรนั้น ขึ้นอยู่แก่ระดับของกำลังที่แรงหรืออ่อนกว่ากันเพียงไร

 

                   คติทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า “บาปกรรมที่บุคคลใดทำไว้แล้ว บุคคลนั้นย่อมละได้ด้วยกุศล” ฉะนั้น ผู้ที่มีศรัทธาในกรรมหรือในบุญบาป จึงทำการที่ดีอยู่เสมอ และมีจิตใจเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ เพราะได้เห็นแล้วว่าบุญช่วยได้จริงและช่วยได้ทันเวลาผลที่เกิดขึ้นในระยะเวลาต่าง ๆ กันเป็นเครื่องพิสูจน์ ความจริงเรื่องบุญบาปซึ่งจะเห็นกันได้ในชีวิตนี้

 

                   ชีวิตของทุก ๆ คนที่ผ่านพ้นไปรอบปีหนึ่ง ๆ นับว่าเป็นลาภอย่างยิ่ง เมื่อถึงวันเกิดบรรดาผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาจึงถือเป็นปรารภเหตุทำบุญน้อยหรือมาก เพื่อฉลองอายุที่ผ่านมาและเพื่อความเจริญอายุ พร้อมทั้งวรรณ สุข พล ยิ่งขึ้น ความเจริญอายุ วรรณ สุข พล เป็นพรที่ทุก ๆ คนปรารถนา แต่พรเหล่านี้หาได้เกิดขึ้นด้วยลำพังความปรารถนาเท่านั้นไม่ ย่อมเกิดขึ้นจากการทำบุญ ฉะนั้น คนไทยเราส่วนมากจึงยินดีในการทำบุญ และยินดีได้รับพรอนุโมทนาจากพระสงฆ์หรือผู้ใหญ่ ยินดีรับประพรมน้ำพระพุทธมนต์ในที่สุดแห่งการทำบุญ ถือว่าเป็นสิริมงคล

 

                   พิจารณาดูถึงพฤติกรรมในเรื่องนี้โดยตลอดแล้ว จะเห็นว่าพึงเป็นสิริมงคลจริง เพราะสารสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ว่าได้ทำบุญแล้ว คำอวยพรต่าง ๆ จึงตามมาทีหลัง สนับสนุนกันให้จิตใจมีความสุขขึ้นในปัจจุบันทันที ความสุขอันบริสุทธิ์นี้แหละคือบุญ ดังมีพุทธภาษิตตรัสไว้แปลความว่า “ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย คำว่าบุญนี้เป็นชื่อแห่งความสุข” หมายถึงความสุขที่บริสุทธิ์คือความสุขอันเกิดจากกรรมที่บริสุทธิ์ ซึ่งก็เรียกว่าบุญเช่นเดียวกัน

 

                   อีกแห่งหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แปลความว่า “ผู้ที่ได้ทำบุญไว้บันเทิงเบิกบาน เพราะเห็นความบริสุทธิ์แห่งกรรมของตน ผู้ที่ได้ทำบาปไว้อับเศร้า เพราะเห็นความเศร้าหมองแห่งกรรมของตน” อันกรรมที่บริสุทธิ์เกิดจากจิตใจที่บริสุทธิ์ เพราะสงบความโลภโกรธหลง ประกอบด้วยธรรมมีเมตตากรุณา เป็นต้น จะเห็นได้จากจิตใจของผู้ที่ทำการบริจาคในการบุญต่าง ๆ ของผู้ที่รักษาศีลและอบรมจิตใจกับปัญญา

 

                   ใคร ๆ ที่เคยทำทาน รักษาศีล และอบรมจิตกับปัญญาดังกล่าว ย่อมจะทราบได้ว่ามีความสุขอย่างไร ตรงกันข้ามกับจิตใจที่เร่าร้อนด้วยกิเลสต่าง ๆ และแม้จะได้อะไรมาด้วยกิเลสมีความสุขตื่นเต้น ลองคิดดูให้ดีแล้วจะเห็นว่าเป็นความสุขจอมปลอม เพราะเป็นความสุขของคนที่หลงไปแล้วเหมือนความสุขของคนที่ถูกเขาหลอกลวงนำไปทำร้าย ด้วยหลอกให้ตายใจและดีใจด้วยเครื่องล่ออย่างใดอย่างหนึ่ง คนที่ตายใจเสียเพราะเหตุนี้ คือคนที่ประมาทไปแล้ว ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า“คนประมาทแล้วเหมือนคนตาย” ไม่อาจจะเห็นสัจจะคือความจริงตามธรรมของพระพุทธเจ้า อาจคัดค้านคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้ อย่างที่คิดว่าตนฉลาด ไม่มีอะไรจะช่วยบุคคลประเภทนี้ได้ นอกจากการทำบุญ เพราะการทำบุญทุกครั้งไป ย่อมเป็นการฟอกชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาดขึ้นทุกที เหมือนอย่างการอาบน้ำชำระร่างกายซึ่งทำให้ร่างกายสะอาดสบาย เมื่อจิตใจมีความสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นตามสมควรแล้ว จะมองเห็นได้เองว่า ความสุขที่บริสุทธิ์แท้จริงนั้นเกิดจากกรรมที่บริสุทธิ์เท่านั้น จะได้ปัญญาซาบซึ้งถึงคุณพระทั้งสามว่า “ความเกิดขึ้นของพระพุทธะทั้งหลายให้เกิดสุขจริง การแสดงพระสัทธรรมให้เกิดสุขจริง ความพร้อมเพรียงของสงฆ์คือหมู่ให้เกิดสุขจริง ความเพียรของหมู่ที่พร้อมเพรียงกันให้เกิดสุขจริง”

 

                   ผู้ที่มีจิตใจ กรรม และความสุขที่บริสุทธิ์ดังนี้ ชื่อว่าผู้มีบุญอันได้ทำแล้วในปัจจุบัน เป็นผู้ที่มีความมั่นคงในตนเองอย่างที่ใคร ๆ หรืออะไรจะทำลายมิได้ และจะเจริญพร คือ อายุวรรณ สุข พล ยิ่ง ๆ ด้วยเดชบุญ

 

                   ความเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งที่เป็นเหตุการณ์ส่วนตนและส่วนรวม ตลอดถึงที่เรียกว่าเหตุการณ์ของโลก ได้เกิดขึ้นบางทีก็รวดเร็วอย่างไม่นึก ถึงกับทำให้คนทั้งปวงพากันตะลึงงันก็มี เหตุการณ์ในวันนี้เป็นอย่างนี้ แต่วันพรุ่งนี้เล่า ยากที่จะคาดว่าจะอย่างไร วันนี้ยังอยู่ดี ๆ พรุ่งนี้มีข่าวออกมาว่าสิ้นชีพเสียแล้วก็มี เมื่อวานนี้ระเบิดกันตูมตามอยู่วันนี้ประกาศออกไปว่าหยุดระเบิดส่วนใหญ่ก็มี วันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรอีกก็ยากที่จะทราบ ความเปลี่ยนแปลงของโลกดังนี้ ผู้ที่ศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้าย่อมไม่เห็นเป็นของแปลก ถ้าโลกจักหยุดเปลี่ยนแปลงนั่นแหละจึงจะแปลก ซึ่งไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ เพราะขึ้นชื่อว่าโลกแล้วต้องเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ที่เรียกว่า ความเปลี่ยนแปลงนั้น คือเหตุการณ์อย่างหนึ่งดับไป เหตุการณ์อีกอย่างหนึ่งก็เกิดขึ้นแทน ฉะนั้นความเปลี่ยนแปลงก็คือ ความดับ-เกิด หรือ ความเกิด-ดับ ของสิ่งทั้งหลาย นี้เป็นวิบากคือเป็นผล ถ้าเป็นผลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ก็มีคำเรียกว่าปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ซึ่งจะยกไว้ไม่พูดถึง ในที่นี้จะพูดถึงแต่ที่เกี่ยวกับบุคคล คือที่บุคคลก่อขึ้นเอง

 

                   อันเหตุการณ์ที่คนก่อให้เกิดขึ้นนั้น นับว่ากรรมของคน หมายความว่า การที่คนทำขึ้น ไม่ใช่หมายความว่ากรรมเก่าอะไรที่ไม่รู้ กรรมคือการที่ทำที่รู้ ๆ อยู่นี่แหละ เมื่อก่อขึ้นด้วยกิเลสก็เป็นเหตุทำลายล้าง แต่เมื่อก่อขึ้นด้วยธรรมก็เป็นเหตุเกื้อกูลให้เกิดความสุข เหตุการณ์ส่วนใหญ่ของโลกนั้น มีขึ้นด้วยกิเลสหรือกรรมของคนไม่มากคนนัก แต่มีผลถึงคนทั้งปวงมากมาย

 

                   ถ้าจะถามว่า กิเลสซึ่งนับว่าอธรรมกับธรรมนั้น ก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่างกันตรงกันข้าม ใคร ๆ ก็น่าจะมองเห็น แต่ไฉนจึงยังใช้กิเลสกันอยู่ พระพุทธศาสนาหรือศาสนาอื่น ๆ จะช่วยให้คนใช้ธรรมกันให้มากกว่านี้มิได้หรือ

 

                   ถ้ามีคำถามมาดังนี้ ก็น่าจะมีคำถามย้อนไปบ้างว่า เมื่อเป็นสิ่งที่น่ามองเห็นกันง่ายดังนั้น ทำไมใคร ๆ จึงไม่สนใจที่จะปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้ากันให้มากขึ้นเล่า พระพุทธศาสนาพร้อมที่จะช่วยทุก ๆ คนอยู่ทุกขณะ แต่เมื่อใครปิดประตูใจไม่เปิดรับธรรม พระพุทธศาสนาก็เข้าไปช่วยไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้โลกจึงต้องปราบกันลงไปด้วยกำลังต่าง ๆ แม้ฝ่ายถูกก็ต้องใช้กำลังแก่ฝ่ายผิด นับว่าเป็นเรื่องของโลก ซึ่งมีวุ่นวายมีสงบสลับกันไป และมนุษย์เรานั้นแม้มีกำลังกายด้อยกว่าช้างม้าเป็นต้น แต่มีกำลังปัญญาสูงกว่า กำลังปัญญานี้เองที่สร้างแสนยานุภาพได้ยิ่งใหญ่ ทั้งสร้างระบอบธรรมอย่างดีวิเศษขึ้นด้วย ฉะนั้นในขณะที่มีจิตใจได้สำนึกได้สติขึ้น แม้จะหลังที่ตีกันมาใหญ่แล้วก็จะเป็นโอกาสที่มีปัญญามองเห็นธรรม และกลับมาใช้ธรรมสร้างความเจริญและความสุขกันต่อไป