Print

แสงส่องใจ ฉบับที่ ๔๓๗

 sungaracha

 sangharaja-section

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

bornunderstand
ความเข้าใจเรื่องชีวิต (๖)

 

สิ่งอันเป็นที่รักของชีวิต

               คนทั่วไปนั้นย่อมมีความรัก ความยินดี ความใคร่ ความอยาก ว่าถึงความรักเพียงข้อเดียวก่อน ทุก ๆ คนก็มีอยู่ในบุคคลและในส่วนต่าง ๆ มาก เช่น บุตรธิดารักมารดา บิดามารดาบิดาก็รักบุตรธิดา สามีก็รักภรรยา ภรรยาก็รักสามี แต่มักจะลืมนึกถึงอีกผู้หนึ่งซึ่งเป็นที่รักของตนเองอย่างลึกซื้งคือตนเอง คือลืมนึกรักตนเอง คิดดูให้ดีจะเห็นว่า ตนเป็นที่รักยิ่งของตนเองอยู่แล้ว ดังที่มีเรื่องเล่าว่า

               ครั้งหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามพระนางมัลลิกาเทวีของพระองค์ว่า ใครเป็นที่รักของพระนางยิ่งกว่าตนเอง(ของพระนาง) พระนางกราบทูลว่าไม่มี แล้วกราบทูลถามพระราชาเช่นเดียวกันว่า ใครเป็นที่รักของพระองค์ยิ่งกว่าพระองค์เอง ตรัสตอบว่าไม่มีเช่นเดียวกัน พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลข้อที่ตรัสโต้ตอบกันนี้ พระพุทธเจ้าตรัสอุทานขึ้นในเวลานั้นว่า “ตรวจดูด้วยใจไปทุกทิศแล้ว ก็ไม่พบผู้ที่เป็นที่รักยิ่งกว่าตนในที่ไหน ตนเป็นที่รักมากของคนอื่น ๆ อย่างนั้น เพราะเหตุนั้น ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น”

               พระพุทธอุทานนี้ตรัสสอนให้คิดถึงใจเราเทียบกับใจเขาดังที่กล่าวกันว่า นำใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อจะได้สังวรจากการทำที่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น แต่ก็เป็นอันทรงรับรองข้อที่พระนางมัลลิกากราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้นว่า ไม่มีใครจะเป็นที่รักของตนยิ่งกว่าตน และพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในพระธรรมบทว่า ถ้ารู้ว่าตนเป็นที่รัก พึงรักษาตนไว้ให้ดี บัณทิตพึงประคับประคองตนตลอดยาม (คือวัย) ทั้งสามยามใดยามหนึ่ง” นี้เป็นพระพุทธโอวาทตรัสเตือนไว้เพื่อมิให้หลงลืมตนเองไปเสีย หน้าที่ของตนนั้นจะต้องรักษาประคับประคองตนเองไว้ให้ดี

               ควรสังเกตว่า พระพุทธองค์มิได้ตรัสสอนว่า จงรักตนหรือควรรักตนหรือต้องรักตน เพราะตนเป็นที่รักของตนอยู่แล้วแก่ทุก ๆ คน คือทุก ๆ คนต่างรักตนเองอยู่ด้วยกันแล้วและรักยิ่งกว่าสิ่งอื่นหรือใครอื่นทั้งหมด เมื่อมีความจริงอยู่ดังนี้ จึงไม่จำเป็นจะต้องตรัสสอนให้รักตนเข้าอีก แต่ตรัสสอนให้ทำความรู้ดังกล่าวและให้รักษาตนให้ดี

               คิดดูอีกสักหน่อย เมื่อเกิดมาก็มาตนผู้เดียว คราวจะตายไปก็คงไปตนผู้เดียวอีกเหมือนกัน บุคคลและสิ่งทั้งปวง แม้จะเป็นที่รักยิ่งนัก ก็เกิดขึ้นหรือมาพบกันเข้าในภายหลัง และมีอยู่เฉพาะในชีวิตนี้ ไม่มีที่จะไปด้วยกันกับตนในภพหน้า สิ่งที่จะไปด้วยคือบุญหรือบาปที่ทำไว้เอง แม้ในชีวิตนี้ก็มิใช่ว่าจะร่วมสุขร่วมทุกข์ไปด้วยกันทุกอย่าง เช่น ถึงคราวเจ็บก็ต้องเจ็บเอง ใครจะเจ็บแทนกันหาได้ไม่ ตนเองเท่านั้นต้องร่วมสุขทุกข์กับตนเองตลอดไป ในคราวเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในโลกนี้ โลกหน้าในมนุษย์ ในนรก ในสวรรค์ ตลอดถึงนิพพาน ก็เป็นเรื่องของตนเองผู้เดียวทั้งหมด พิจารณาให้ตระหนักในความจริงดังนี้ จะช่วยถอนความผูกใจเป็นทุกข์ออกได้บ้างไม่มากก็น้อย

               ในครั้งพุทธกาล เมื่อพระเจ้ามหากัปปินะทรงสละราชสมบัติ เสด็จออกจากรัฐของพระองค์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ประทานอุปสมบทให้เป็นภิกษุแล้ว ฝ่ายพระเทวีของพระองค์มีพระนามว่าอโนชา ได้เสด็จติดตามไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงสอดส่ายพระเนตรหาพระราชาว่าจะประทับอยู่ที่ไหน ในหมู่พระพุทธสาวกที่นั่งแวดล้อมพระพุทธองค์อยู่นั้น เมื่อไม่ทรงเห็นก็กราบทูลถามพระพุทธองค์ว่า ได้ทรงเห็นพระราชาบ้างหรือ พระพุทธองค์ได้ตรัสถามว่า ทรงแสวงหาพระราชาประเสริฐหรือว่าแสวงหาพระองค์เอง (ตน) ประเสริฐ พระนางทรงได้สติกราบทูลว่า แสวงหาตนประเสริฐ ทรงสงบพระทัยฟังธรรมได้ ครั้นทรงสดับธรรมไป ก็ทรงเกิดธรรมจักษุคือดวงตาเห็นธรรม ที่เรียกว่าธรรมจักษุนี้ มีแสดงไว้ในที่อื่นว่า คือเกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา” ได้แก่ เห็นธรรมดาที่เป็นของคู่กัน คือเกิดและดับ จะกล่าวว่าเห็นความดับของทุกสิ่งที่เกิดมาก็ได้

               ชีวิตนี้เรียกได้ว่าเป็นความเกิดสิ่งแรก ซึ่งเป็นที่เกิดของสิ่งทั้งหลายในภายหลัง ก็ต้องมีความดับ สิ่งที่ได้มาพร้อมกับชีวิตก็คือตนเอง นอกจากตนเองไม่มีอะไรทั้งนั้น สามีภริยาบุตรธิดาทรัพย์สินเงินทองไม่มีทั้งนั้น เรียกว่าเกิดมาตัวเปล่ามาตัวคนเดียว พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตนแลเป็นคติ (ที่ไปหรือการไป) ของตน” ในเวลาดับชีวิต ก็ตนเองเท่านั้นต้องไปแต่ผู้เดียวตามกรรม ทิ้งทุกสิ่งไว้ในโลกนี้ แม้ชีวิตร่างกายนี้ก็นำไปด้วยไม่ได้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “บุคคลผู้จะต้องตาย ทำบุญและบาปทั้งสองอันใดไว้ในโลกนี้ บุญบาปทั้งสองนั้นเป็น ของผู้นั้น ผู้นั้นพาเอาบุญบาปทั้งสองนั้นไป บุญบาปทั้งสองนั้นติดตามผู้นั้นไปเหมือนอย่างเงาที่ไม่ละตัว”

               ก็เมื่อตนเองเป็นผู้มาคนเดียวไปคนเดียว เมื่อมาก็มาตามกรรม เมื่อไปก็ไปตามกรรม ถึงผู้อื่นก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นใครทั้งนั้น คือจะเป็นสามีภริยา เป็นบุตรธิดา เป็นญาติมิตรหรือแม้นเป็นศัตรู ต่างก็มาคนเดียวตามกรรม ไปตามกรรม ฉะนั้นก็ควรที่จะต้องรักตนสงวนตนแสวงหาตน มากกว่าที่จะรักจะสงวนจะแสวงหาใครทั้งนั้น

               คำว่า แสวงหาตน เป็นคำมีคติที่ซึ้ง คิดพิจารณาให้เข้าใจให้ดี จะบังเกิดผลดียิ่งนัก แต่ที่จะเริ่มแสวงหาตนได้ ก็ต้องได้สติย้อนมานึกถึงตนในทางที่ถูกที่ควร และคำว่า แสวงหาตนหาได้มีความหมายว่าเห็นแก่ตนไม่ เพราะผู้เห็นแก่ตน หาใช่ผู้ที่แสวงหาตนไม่ กลายเป็นแสวงหาสิ่งที่มิใช่ตนไปเสีย