Print

แสงส่องใจ ฉบับที่ ๔๓๕

 sungaracha

 sangharaja-section

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

bornunderstand
ความเข้าใจเรื่องชีวิต (๔)

 

ชีวิตต้องการอะไร

                   ชีวิตนี้ต้องการอะไร ? อาจจะเป็นปัญหาเดียวกับปัญหาที่ว่าควรจะวาดภาพชีวิตอนาคตอย่างไร หรืออาจจะต่างกันก็ได้สุดแต่ความประสงค์ของผู้ถาม อาจจะมุ่งถึงผลทางวัตถุหรือทางโลกทั่ว ๆ ไปก็ได้ อาจจะหมายถึงผลที่พิเศษไปกว่านั้นก็ได้

               ว่าถึงผลทางวัตถุหรือทางโลกทั่ว ๆ ไป ทุกคนก็น่าจะมีทางของตน หรือมีความคิดเห็นของตนเอง เกี่ยวแก่การเรียนอาชีพการงาน เป็นต้น แต่ถ้าหมายถึงผลที่พิเศษไปกว่านั้น ก็น่าคิดว่า นอกจากสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นบุคคลเป็นวัตถุเป็นชื่อเสียงเป็นต้นที่โลกต้องการแล้ว ชีวิตนี้ต้องการอะไรอีก เพราะสิ่งที่โลกต้องการทั้งปวงก็ดูคล้าย ๆ กัน เช่น ต้องการวิชา ต้องการอาชีพต้องการภริยาสามี ต้องการบุตรบุตรี ต้องการทรัพย์ ต้องการยศ ต้องการชื่อเสียง เป็นต้น เช่นเดียวกับชีวิตต้องแก่เจ็บตายซึ่งเหมือนกันทุก ๆ ชีวิต

               ชีวิตและเหตุการณ์ของชีวิต ทำให้คนมีความเห็นต่อชีวิตต่าง ๆ กัน บางคนรื่นเริงยินดีอยู่กับชีวิต มักจะเป็นคนวัยรุ่นกำลังมีร่างกายเจริญ มองเห็นอะไรในโลกยิ้มแย้มแช่มชื่นไปทั้งนั้น บางคนระทมอยู่กับชีวิตจนถึงคิดหนีชีวิตก็มี เพราะความไม่สมหวังน้อยหรือมาก บางคนก็ดูเฉย ๆ ต่อชีวิต แต่มิใช่เฉย เพราะรู้สัจจะของชีวิต หากเฉย ๆ เพราะไม่รู้ ทั้งไม่ต้องการที่จะศึกษาเพื่อรู้ จึงอยู่ไปทำไปตามเคยวันหนึ่ง ๆ โดยมากน่าจะอยู่ในลักษณะนี้ ไม่สู้จะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์อะไรมากนัก เพราะไม่อยากจะคิดรู้อะไรมากนัก หรือเพราะไม่มีอะไรจะทำให้เป็นสุข หรือเป็นทุกข์มากนัก สรุปลงว่ายินดีต่อชีวิตบ้าง ยินร้ายต่อชีวิตบ้าง หลงงมงาย เช่น ที่มีความเฉย ๆ เพราะไม่รู้ดังกล่าวนั้นบ้าง คนทั่ว ๆ ไปย่อมเป็นดังนี้ จะต้องพบทั้งความยินดี ทั้งความยินร้าย ทั้งความหลงใหลในชีวิต จะต้องพบทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้งได้ทั้งเสีย ขณะเป็นเด็กหรือเป็นวัยรุ่นอาจจะมีสุข มีสนุกรื่นเริงมาก แล้วจะค่อย ๆ พบทุกข์เข้ามาแทนสุข น้อยหรือมากตามวัยที่เพิ่มขึ้น ตามเหตุการณ์ของชีวิตที่ต้องการพบมากขึ้น จะต้องพบทั้งความยิ้มแย้มทั้งความระทม หรือจะต้องทั้งหัวเราะทั้งร้องไห้ นั้นแหละเป็นชีวิตหรือเป็นโลก

               ว่าถึงชาวโลกทั่วไป เมื่อได้มีประสบการณ์จากโลกทั้งสองด้านแล้ว จึงจะรู้จักโลกดีขึ้น แต่ก็มีอยู่สองจำพวกเหมือนกันคือ พวกหนึ่งแพ้โลก คือต้องเป็นทุกข์น้อยหรือมาก ไม่สามารถจะแก้ทุกข์ได้ คล้ายกับรอให้โลกช่วย คือให้เหตุการณ์ข้างดีตามที่ปรารถนาเกิดขึ้น อีกพวกหนึ่งไม่แพ้โลก คือไม่ยอมเป็นทุกข์ ถึงจะต้องเป็นทุกข์บ้างอย่างสามัญชน ก็ไม่ยอมให้เป็นมากหรือเป็นนานนัก พยายามแก้ทุกข์ได้ ไม่ต้องรอให้เหตุการณ์ข้างดีที่ปรารถนาต้องการเกิดช่วย ซึ่งเป็นการไม่แน่ แต่ทำความรู้จักโลกนั่นแหละให้ดีขึ้น ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ เช่นว่า สูจงมาดูโลกนี้... ที่พวกคนเขลาติดอยู่ แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่” คือศึกษาทำความรู้ชนิดที่ไม่ติดข้องให้เกิดขึ้น ด้วยปล่อยโลกให้เป็นไปตามวิถีของโลก เหมือนอย่างไม่คิดดึงดวงอาทิตย์ให้หยุด หรือให้กลับ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ หน้าที่ของบุคคลคือดึงใจให้หยุด หรือให้กลับจากกิเลสและความทุกข์ ให้ดำเนินไปในทางที่ดี ไม่ยอมพ่ายแพ้แก่ชีวิตและโลก

               คนเราต้องพบชีวิต หมายถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแก่ชีวิต ตามที่ปรารถนาไว้ก็มี ที่มิได้ปรารถนาก็มี ว่าถึงปัญหาที่ว่าคนเราควรจะวาดภาพชีวิตอนาคตของตนอย่างไรหรือจะให้ชีวิตเป็นอย่างไร ถ้าตอบตามวิถีชีวิตทั่วไป ก็คงจะว่าจะให้เป็นชีวิตที่บริบูรณ์ด้วยผล ตามที่ปรารถนากันทางโลกทั่วไปนี้แหละรวมเข้าก็คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อันเรียกว่าโลกธรรม (ธรรมคือเรื่องของโลก) ส่วนที่น่าปรารถนาพอใจ แต่ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าจะต้องพบชีวิตส่วนที่มิได้ปรารถนาอีกด้วย คือส่วนที่ตรงกันข้ามรวมเข้าก็คือ ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ชีวิตของทุกคนจะต้องพบกับโลกธรรมทั้งสองฝ่ายนี้อยู่ด้วยกัน

               คำว่า โลกธรรม พูดง่าย ๆ ก็คือ ธรรมดาโลก เพราะขึ้นชื่อว่าโลกย่อมมีธรรมดาเป็นความได้ความเสียหรือความสุขความทุกข์เช่นนั้น สิ่งที่ได้มาบางทีรู้สึกว่าให้ความสุขมากเหลือเกิน แต่สิ่งนั้นเองกลับให้ความทุกข์มากก็มี พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสชี้ให้เห็นทุกข์ไว้ก่อน ดังเช่นเมื่อมีเทพมากล่าวคาถาแปลความว่า ผู้มีบุตรย่อมบันเทิงเพราะบุตร ผู้มีโคย่อมบันเทิงเพราะโค นรชนย่อมบันเทิงเพราะทรัพย์สมบัติ ผู้ไม่มีทรัพย์สมบัติย่อมไม่บันเทิง” พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก้ว่า “ผู้มีบุตรย่อมโศกเพราะบุตร ผู้มีโคย่อมโศกเพราะโค นรชนย่อมโศกเพราะบุตร ผู้ไม่มีทรัพย์สมบัติ (เป็นเหตุก่อกิเลส) ย่อมไม่โศก” คำของเทวดากล่าวได้ว่าเป็นภาษิตทางโลก เพราะโลกทั่วไปย่อมเห็นดังนั้น ส่วนคำของพระพุทธเจ้ากล่าวได้ว่าเป็นภาษิตทางธรรม แต่ก็เป็นความจริง เพราะเป็นธรรมดาโลก ที่จะต้องพบทั้งสุขและทุกข์ที่แม้เกิดจากสิ่งเดียวกัน ฉะนั้น ทุก ๆ คนผู้ต้องการโลก คือ ปรารถนาจะได้สิ่งที่น่าปรารถนา หรือต้องการที่จะให้เป็นไปตามปรารถนา ก็ควรต้องการธรรมอีกส่วนหนึ่งที่จะเป็นเครื่องช่วยรักษาตนทั้งในคราวได้ ทั้งในคราวเสีย

               พระพุทธศาสนาได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของทุก ๆ คนตรงจุดนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้พิจารณาว่า สุขหรือทุกข์ ข้อนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ คือแปรปรวนไปเป็นธรรมดา เมื่อพิจารณาอยู่ดังนี้ จนเกิดปัญญาเห็นจริง สุขหรือทุกข์นั้น ๆ ก็จะไม่ตั้งครอบงำจิตอยู่ได้ ผู้ที่มีปัญญาพิจารณาเห็นจริงอยู่ดังนั้น จะไม่ยินดีในเพราะสุข จะไม่ยินร้ายในเพราะทุกข์นั้น ๆ ความสงบจิตซึ่งเป็นความสุขจะมีได้ด้วยวิธีนี้