Print

แสงส่องใจ ฉบับที่ ๔๓๓

 sungaracha

 sangharaja-section

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

bornunderstand
ความเข้าใจเรื่องชีวิต (๒)

 

 

เราเกิดมาทำไม

เราเกิดมาทำไม ? ปัญหานี้ถ้าตั้งขึ้นคิดก็น่าจะจนเพราะขณะเมื่อทุกคนเกิดนั้น ไม่มีใครรู้ มารู้เมื่อเกิดมาและพอรู้เดียงสาแล้วว่า มีตัวเราขึ้นคนหนึ่งในโลก แต่ทุก ๆ คนย่อมมีความไม่อยากตาย กลัวความตาย อยากจะดำรงชีวิตอยู่นานเท่านาน นอกจากนี้ยังมีความอยากในสิ่งต่าง ๆ อีกมากมาย คล้ายกับว่าความที่ต้องเกิดมานี้ไม่อยู่ในอำนาจของตนเอง มีอำนาจอย่างหนึ่งทำให้เกิดมา ตนเองจึงไม่มีอำนาจ หรือไม่มีส่วนที่จะตั้งวัตถุประสงค์แห่งความเกิดของตนว่า เกิดมาเพื่อทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือเพื่อเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ดูคล้าย ๆ กับจะเป็นดั่งที่ว่ามานี้ ที่ว่าดูคล้าย ๆ ก็เพราะความไม่รู้ หรือจะเรียกว่าอวิชชา” ก็น่าจะได้ แต่ถ้าจะยอมจนต่อความไม่รู้ ก็ดูจะมักง่ายมากไป น่าจะลองทำตามหลักอันหนึ่งที่ว่าอนุมานและศึกษา คือสิ่งที่ประจักษ์แก่สายตาก็รู้ได้ง่าย แต่สิ่งที่ไม่ประจักษ์แก่สายตาก็ใช้อนุมาน โดยอาศัยการสันนิษฐานและใช้ศึกษาในถ้อยคำของท่านผู้ตรัสรู้

พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ได้ตรัสไว้แปลความว่า “ตัณหา(ความอยาก) ยังคนให้เกิด” และว่า “โลกคือหมู่สัตว์ ย่อมเป็นไปตามกรรม” ลองอนุมานดูตามคำของท่านผู้ตรัสรู้นี้ ดูในกระแสปัจจุบันก่อนว่า สมมติว่าอยากเป็นผู้แทนราษฎร ก็สมัครรับเลือกตั้งและทำการหาเสียง เมื่อได้ชนะคะแนนก็ได้เป็นผู้แทนราษฎรนี้คือความอยากเป็นเหตุให้ทำกรรม คือทำการต่าง ๆ ตั้งต้นแต่การสมัคร การหาเสียง เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับผล คือได้เป็นผู้แทน หรือแม้ไม่ได้เป็น ถ้าจะตัดตอนเอาเฉพาะความเกิดมาในช่วงแห่งชีวิตตอนนี้ ก็จะตอบปัญหาข้างต้นนั้นได้ว่า “เกิดมาเพื่อเป็นผู้แทน” ตัวอย่างนี้เป็นรายละเอียดเฉพาะเรื่อง ถ้าจะตอบให้ครอบคลุมทั้งหมดก็ควรตอบได้ว่า “เกิดมาเพื่อสนองความอยากและสนองกรรมของตนเอง” ถ้าจะแย้งว่าตอบอย่างนั้น ฟังได้สำหรับกระแสชีวิตปัจจุบัน แต่เมื่อเกิดมาทีแรกยังมองไม่เห็นเพราะไม่รู้จริง ๆ ถ้าแย้งดังนี้ก็ต้องตอบว่า ฉะนั้น จึงว่าต้องใช้วิธีอนุมานโดยสันนิษฐาน ถ้ารู้จริงแล้วจะต้องอนุมานทำไม และก็อาศัยคำของท่านผู้ตรัสรู้เป็นหลัก ดังจะลองอนุมานต่อไปว่าจริงอยู่ เมื่อเกิดมาไม่รู้ แต่เมื่อรู้ขึ้นแล้วก็มีความกลัวตาย อยากดำรงชีวิตอยู่นานเท่านาน แสดงว่า ทุกคนมีความอยากที่เป็นตัวตัณหานี้ประจำจิตสันดาน ความอยากเกิดย่อมรวมอยู่ในความอยากดำรงอยู่นี้ เพราะความตายเป็นความสิ้นสุดแห่งชีวิต ในภพชาติอันหนึ่ง ๆ เมื่อยังมีความอยากดำรงอยู่ประจำอยู่ในจิตสันดาน ก็เท่ากับความอยากเกิดอีก เพื่อให้ดำรงอยู่ตามที่อยากนั้น ทั้งก็ต้องเกิดตามกรรมเป็นไปตามกรรม

ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า “เราเกิดมาด้วยตัณหา (ความอยาก) และกรรม เพื่อสนองตัณหาและกรรมของตนเอง” ตัณหาและกรรมจึงเป็นตัวอำนาจหรือผู้สร้างให้เกิดมา ใครเล่าเป็นผู้สร้างตัวอำนาจนี้ ตอบได้ว่าคือตนเอง เพราะตนเองเป็นผู้อยากเอง และเป็นผู้ทำกรรม ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า ตนเองนี้แหละเป็น

ผู้สร้างตนเองให้เกิดมา

แต่ผู้ถือทางไสยกล่าวว่า ชีวิตของคนเรานี้ มีพรหมลิขิตคือพระพรหมกำหนด เหมือนอย่างเขียนมาเสร็จว่าจะเป็นอย่างไร แต่ผู้ถือทางพุทธมักใช้ว่า กรรมลิขิต คือกรรมกำหนดมา โดยผลก็เป็นอย่างเดียวกัน คือมีสิ่งกำหนดให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ น่าพิจารณาว่าทางพระพุทธศาสนาแสดงไว้จริง ๆ อย่างไร

ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า “มา กตเหตุ อย่าถือว่าเพราะเหตุแห่งกรรมที่ได้ทำไว้” คืออย่าถือว่าทุก ๆ อย่างที่จะได้รับ มีเพราะเหตุแห่งกรรมที่ได้ทำไว้แล้ว เพราะถ้าถืออย่างนั้นก็จะไม่ต้องทำอะไรขึ้นใหม่ รออยู่เฉย ๆ อย่างเดียวเพื่อให้กรรมเก่าสนองผลต่าง ๆ ขึ้นเอง ถือเอาความดังนี้ก็เท่ากับไม่ให้ถือกรรมลิขิตนั่นเอง

มีปัญหาว่า ถ้าเช่นนั้นพระพุทธศาสนาแสดงเรื่องกรรมไว้ทำไม พิจารณาดูจะตอบได้ว่า แสดงเรื่องกรรมไว้เพื่อให้รู้ว่ากรรมเป็นเหตุให้วิบากคือผล ตั้งแต่ให้ถือกำเนิดเกิดมา และติดตามให้ผลต่าง ๆ แก่ชีวิต ทำนองกรรมลิขิตนั่นแหละ แต่กระบวนของกรรมที่ทำไว้มีสลับซับซ้อนมาก ทั้งเกี่ยวกับเวลาที่กรรมให้ผล และข้อที่สำคัญที่สุดคือเกี่ยวกับความประพฤติปฏิบัติของแต่ละบุคคลในปัจจุบัน คือทางพระพุทธศาสนาสอนให้ไม่เป็นทาสของกรรมเก่า เช่นเดียวกับให้ไม่เป็นทาสของตัณหา แต่ให้ละกรรมชั่ว กระทำกรรมดี และชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์สะอาด ตามหลักพระโอวาท ๓ หรือกล่าวโดยทั่วไป มีกิจอะไรที่ควรทำก็ทำโดยไม่ต้องนั่งรอนอนรอผลของกรรมเก่าอะไร

ความพิจารณาเพื่อให้รู้กรรมและผลของกรรมนั้น ก็เพื่อให้จิตเกิดอุเบกขา ในเวลาที่เกิดเหตุการณ์เหลือที่จะช่วยแก่ทั้งคนที่เป็นที่รักและที่ชัง กับเพื่อจะได้ปฏิบัติตนตามหลักพระโอวาท ๓ ข้อนั้น ทั้งคนเรามีจิตใจที่เป็นต้นเดิมของกรรมทุกอย่าง ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ เพราะจะต้องมีจิตเจตนาขึ้นก่อนแล้วจึงทำกรรมอะไรออกไป ฉะนั้นจึงสามารถและทำอธิษฐาน คือตั้งใจว่าจะประสงค์ผลอันใด เมื่อประกอบกรรมให้เหมาะแก่ผลอันนั้น ก็จะได้รับความสำเร็จ และจึงสามารถตอบปัญหาว่า “เราเกิดมาทำไม” ได้อีกอย่างหนึ่งว่า “เราเกิดมาตามที่ตั้งใจไว้ว่าจะมาทำ” เป็นอันไม่พ้นไปจากคำตอบที่ว่า “เราเกิดมาเพื่อสนองตัณหาและกรรมของตนเอง” แต่คนดี ๆ ย่อมมีอธิษฐานใจที่ดี ดังพระโพธิสัตว์ทรงอธิษฐานพระหทัยเพื่อบำเพ็ญพระบารมี ความเกิดมาของพระองค์ในชาติทั้งหลาย จึงเพื่อบำเพ็ญบารมีคือความดีต่าง ๆ ให้บริบูรณ์

อันที่จริง ทุก ๆ คนมีสิทธิ์ที่จะถือว่าตนเกิดมาเพื่อบำเพ็ญความดีให้มากขึ้น และสามารถที่จะบำเพ็ญความดีได้

ความสำนึกเข้าใจตนเองไว้ว่า “เราเกิดมาเพื่อทำ ความดี” ดังนี้ ย่อมมีประโยชน์ไม่มีโทษ เพราะจะทำให้ขวนขวายทำความดีและศึกษาเพิ่มความรู้ของตนอยู่เสมอ แต่ชีวิตของคนเราก็ยังเนื่องด้วยกรรมเก่า และยังเนื่องด้วยกิเลสในจิตใจ สิ่งที่ทุกคนได้มา ตั้งต้นแต่ร่างกายและชีวิตนี้ เป็นวิบากคือผลของกรรมและกิเลสของตนเอง แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่ง คือความดีที่แต่ละคนได้อบรมสั่งสมมา อันเรียกว่า “บารมี” คือความดีที่เก็บพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะส่งเสริมจิตใจให้เกิดความเห็นที่ถูกต้องและดำเนินไปในทางที่ถูก

ท่านกล่าวไว้ว่า มนุษย์เราเกิดมาด้วยอำนาจของกุศล คือกุศลจิตและกุศลกรรม ไม่ว่าจะเกิดมายากดีมีจนอย่างไร เพราะมนุษยภูมิเป็นผลของกุศล ทุกคนจึงชื่อว่ามีกุศลหนุนให้มาเกิดด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้น จึงได้ชื่อว่า มนุษย์ ที่แปลอย่างหนึ่งว่าผ้มีใจสูง คือมีความร้สููง ดังจะเห็นได้ว่า คนเรามีพื้นปัญญาสูงกว่าสัตว์ดิรัจฉานมากมาย สามารถรู้จักเปรียบเทียบในความดี ความชั่ว ความควรทำไม่ควรทำ รู้จักละอาย รู้จักเกรง รู้จักปรับปรุงสร้างสรรค์สิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรม” “อารยธรรม” ศาสนา” เป็นต้น แสดงว่ามีความดีที่ได้สั่งสมมา โดยเฉพาะปัญญา เป็นรัตนะอันส่องแสงสว่างนำทางแห่งชีวิต ถึงดังนั้นคนเราก็ยังมีความมืดที่มาเกิดกำบังจิตใจให้เห็นผิดเป็นชอบ ความมืดที่สำคัญนั้นก็คือ กิเลสในจิตใจและกรรมเก่าทั้งหลาย

อะไรคือกรรมเก่า ? ไม่มีอธิบายอื่น จะอธิบายอย่างมองเห็น เช่นพระพุทธาธิบายที่ตรัสไว้ความว่า “กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะ (ใจ)” กล่าวคือร่างกายที่ประกอบด้วยอายตนะทั้งหกนี้แหละเป็นตัวกรรมเก่า เป็นกรรมเก่าที่ทุก ๆ คนมองเห็น นอกจากนี้ ยังเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งกรรมใหม่ทั้งปวงอีกด้วย เพราะกรรมที่ทำขึ้นในปัจจุบันจะเป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมก็ตาม ก็อาศัยกรรมเก่านี้แหละเป็นเครื่องมือกระทำ ทั้งกรรมเก่านี้ยังเป็นชนวนให้เกิดเจตนาที่ทำกรรมใหม่ ๆ ทั้งหลายด้วย เพราะตา หู เป็นต้น มิใช่ว่าจะมีไว้เฉย ๆ ต้องดูต้องฟัง แล้วก็ก่อกิเลส เช่น ราคะ (ความติดความยินดี) โทสะ (ความขัดเคือง) โมหะ (ความหลงใหล) ให้เกิดขึ้น ขณะที่ร่างกายเจริญในวัยหนุ่มสาว ซึ่งกล่าวได้ว่า กรรมเก่ากำลังเติบโตเป็นหนุ่มสาว ตา หู เป็นต้นก็ยิ่งเป็นสื่อแห่งราคะ โทสะ และเป็นสื่อแห่งกรรมต่าง ๆ ตามอำนาจของจิตใจที่กำลังละเลิงหลง จึงจำต้องมีการควบคุมปกครอง จะปล่อยเสียหาได้ไม่ ถ้าตนเองควบคุมตนเองได้ ก็เป็นวิเศษที่สุด แต่ถ้าควบคุมตนเองไม่ได้ ก็ต้องมีผู้ใหญ่ เช่น มารดาบิดาและผู้ใหญ่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องควบคุม ให้อยู่ในระเบียบวินัยที่ดีงาม ให้เกิดความสำนึกว่า เรานี่เกิดมาเพื่อทำความดี”