Print

แสงส่องใจ ฉบับที่ ๔๓๒

 sungaracha

 sangharaja-section

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

bornunderstand
ความเข้าใจเรื่องชีวิต (๑)

 

วงจรชีวิต

               ปัญหาข้อหนึ่งที่คนชอบตั้งปัญหาถามกันตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์มาจนถึงทุกวันนี้ คือตายเกิดหรือตายสูญ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ความจริงในข้อนี้ จึงสิ้นปัญหาในสิ่งที่รู้แล้วดังที่ได้ตรัสไว้ว่า กมฺมํ เขตฺตํ กรรมเป็นเหมือนนา วิญฺญาณํ พีชํ วิญญาณเหมือนพืชที่หว่านลงในนา ตณฺหา สิเนโห ตัณหาเหมือนยางเหนียวมีอยู่ในพืช อันจะทำให้พืชนั้นปลูกงอกงามขึ้นได้ เพราะฉะนั้น เมื่อยังมีกรรม วิญญาณ และตัณหาอยู่ก็ยังจะต้องไปเกิดในภพต่าง ๆ และในการเกิดหมายถึงในการตั้งครรภ์ของมารดานั้น ได้มีกล่าวไว้ว่า เพราะประชุมแห่งองค์ ๓ จึงมีการตั้งครรภ์ คือ มารดาบิดาสันนิบาต หมายความว่าอยู่ด้วยกัน ๑ มารดามีระดู หมายความว่าอยู่ในระดู ๑ คันธัพพะ ท่านอธิบายว่าสัตว์ผ้เู ข้าถึงในครรภ์ คือสัตว์ผู้จะเกิดปรากฏขึ้น ๑ เพราะความประชุมแห่งองค์ ๓ เหล่านี้ ครรภ์จึงตั้งขึ้น มารดา 2 บริหารครรภ์ ๙-๑๐ เดือนก็คลอดบุตรและโดยปกติก็เลี้ยงด้วยโลหิต คือนํ้านมของตน

               องค์ที่ ๓ น่าจะเป็นปัญหาที่วิชาการแพทย์ในปัจจุบันไม่อาจอธิบายได้ เพราะเป็นเรื่องทางวิญญาณจิตใจโดยตรง แต่เรื่องที่ท่านผู้หนึ่งได้กรุณาเล่าให้ฟังต่อไปนี้ น่าจะเป็นตัวอย่างซึ่งอธิบายองค์ที่ ๓ นั้นได้เรื่องหนึ่ง คือท่านเล่าว่า

               ได้มีอุบาสิกาผู้หนึ่งได้ปฏิบัติทางจิตใจถึงขั้นรู้เห็นอะไรได้ จึงได้ตรวจดูด้วยใจ ก็ได้เห็นพระอาจารย์ท่านหนึ่ง เป็นผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ บรรลุภูมิธรรมชั้นสูง จึงได้เดินทางไปหาพระอาจารย์ท่านนั้นซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แสดงตนเป็นศิษย์ของท่าน ต่อมาอุบาสิกาผู้นั้นในขณะที่กำลังนั่งปฏิบัติในวันหนึ่ง ก็ได้เห็นปรากฏว่ามีสายสีขาวเหมือนอย่างสายใยออกไปจากจิตของตนเป็นสายยาวออกไป ก็ส่งจิตตามไปดูว่าสายนั้นจะไปที่ไหน ก็ได้เห็นว่าสายนั้นได้ไปเข้าท้องหลานสะใภ้ของตน จึงได้ไปถามพระอาจารย์ว่าจะทำอย่างไร พระอาจารย์ได้สอนให้ทำจิตตัดสายนั้นให้ขาด อุบาสิกาผู้นั้นได้พยายามปฏิบัติทำจิตตัดสายนั้น แต่ก็ไม่สามารถจะตัดให้ขาดได้ จนล่วงเข้าเดือนที่สามจึงตัดได้ขาดในวันหนึ่ง แล้วก็รีบไปกราบเรียนอาจารย์ว่าตัดสายนั้นได้ขาดแล้ว

               ปรากฏว่าหลานสะใภ้ผู้นั้นตั้งครรภ์ได้สามเดือนแล้วแท้งไป เรื่องนี้เล่าไว้เพื่อเป็นเครื่องพิจารณาว่าจะต้องมีผู้ไปเกิด (ซึ่งอาจจะเตรียมไปเกิดใหม่ตั้งแต่ยังไม่ตายจากชาตินี้)

               ความเชื่อของคนในโลกนี้ว่าตายเกิด น่าจะมากกว่าตายสูญมากนัก และเมื่อเชื่อว่าตายเกิด จึงมีคติความเชื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องเกิดอีกมาก เช่น ความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันระหว่างบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปจนถึงกลุ่มใหญ่ในอดีตชาติ ซึ่งให้เกิดผลสืบมาถึงปัจจุบันชาติ และความเชื่อว่ามีสิ่งหรือเครื่องกำหนดให้เกิดมาเพื่อทำหน้าที่อย่างหนึ่ง เป็นต้น ซึ่งก็เป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากอดีตนั้นเอง

               แม้ความเชื่อในเรื่องอวตารก็แสดงว่ามีอดีต คำว่า อวตาร ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้คำแปลว่า การลงมาเกิด การแบ่งภาคมาเกิด” ตามคำแปลหลังแสดงว่าไม่ได้มาทั้งหมด แต่แบ่งภาคคือแบ่งส่วนใดส่วนหนึ่งมาเกิด คือยังมี ตัวเดิม อยู่ในที่ของตน สมมติว่าสวรรค์ชั้นหนึ่ง ส่วนที่มาเกิดนั้นเป็นส่วนหนึ่งของตัวเดิม เมื่อสิ้นวาระในโลกนี้แล้วก็กลับไปรวมเข้ากับตัวเดิม จะแปลความอย่างนี้ หรือจะแปลความว่า แบ่งภาค ก็คือแบ่งภาค (ส่วน) ของเวลามาเกิด หมายความว่าเวลาของตนในที่นั้นสมมติว่าสวรรค์ชั้นหนึ่งนั้นยังไม่หมด ยังจะอยู่ต่อไปอีกนาน หรืออยู่ไปเป็นนิรันดร ตามความเชื่อของบางลัทธิ เช่น พระนารายณ์ของฮินดู แต่แบ่งเวลาส่วนหนึ่งลงมาเกิดในมนุษย์ โดยตัวเดิมนั้นแหละลงมาเกิด ไม่ใช่แบ่งตัวเล็กตัวน้อยลงมา เมื่อทำธุระเสร็จแล้ว ตัวเดิมก็กลับไปยังที่ของตน คำว่าแบ่งภาค จึงยังมีปัญหาจนกว่าจะมีผู้รู้มาแสดงให้เชื่อว่าอย่างไรแน่

               คัมภีร์พระพุทธศาสนาแสดงเรื่องนี้ไว้อย่างไร ถ้าจะให้ตอบตามคัมภีร์ ก็ควรจะกล่าวก่อนว่า คัมภีร์ต่าง ๆ แต่งกันหลายยุคหลายสมัย ปรากฏว่ามีคติความเชื่อต่าง ๆ แทรกเข้ามาเป็นอันมาก แต่ก็ยังไม่พบเรื่องแบ่งภาคมาเกิด

               เรื่องทำนองแบ่งภาคเวลา มีอยู่เรื่องหนี่งในอรรถกถา ธรรมบท ถึงดังนั้นก็ไม่ทิ้งหลักกรรมและการตั้งความปรารถนา นิทานธรรมบทนั้นมีความย่อว่า เทพธิดาองค์หนึ่งกำลังชมสวนกับเทพบุตรผู้สามีกับหมู่เทพธิดาทั้งปวง จุติลงมาเกิดเป็นนางมนุษย์ในขณะนั้น ระลึกชาติได้ จึงตั้งความปรารถนาไปเกิดอยู่กับสามีตามเดิม และได้ทำบุญกุศลต่าง ๆ ถึงแก่กรรมแล้วก็ไปเกิดในสวนสวรรค์นั้นอีก ขณะที่ไปเกิดนั้นหมู่เทพก็ยังชมสวนกันอยู่ แสดงว่าเวลานานหลายสิบปีในมนุษย์เท่ากับครู่หนึ่งของสวรรค์ เรื่องนี้เข้าทำนองแบ่งภาคแห่งเวลามาเกิดอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ก็กล่าวว่าได้อธิษฐานใจตั้งความปรารถนา(นับว่าเป็นตัณหาอย่างหนึ่ง) และทำบุญกุศลเพื่อให้ไปเกิดเป็นเทพ (นับว่าเป็นกรรมที่เป็นชนกกรรม คือกรรมที่ให้เกิด) จึงเข้าหลักพระพุทธพจน์ที่แปลความว่า “ตัณหายังคนให้เกิด โลกคือหมู่สัตว์ย่อมเป็นไปตามกรรม”

               ทางพระพุทธศาสนา ปัญหาเรื่องตายแล้วเกิดอีกหรือไม่ เป็นเรื่องประกอบเท่านั้น เพราะมุ่งสอนให้คนละความไม่ดี ทำความดีในชาตินี้ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าในปัจจุบัน แต่ส่วนมากก็อดสงสัยมิได้ในเรื่องตายเรื่องเกิด และกล่าวได้ว่าส่วนมากเชื่อว่าตายแล้วเกิดอีก หรือว่าตายไม่สูญ วิญญาณยังไปท่องเที่ยว หรือไปเป็นอะไรอย่างหนึ่ง หรือไปเกิด อีกพวกหนึ่งซึ่งน่าจะน้อยกว่า เห็นว่าตายสูญไม่มีอะไรไปเกิด

               ลองวิจัยดูว่าความเชื่อความเห็นของทั้งสองฝ่ายนี้ฝ่ายไหนจะถูก ทีแรกต้องถามก่อนว่า เป็นความเชื่อความเห็นว่าอย่างนั้นหรือเป็นปัญญาซึ่งเป็นความรู้จริง ก็คงจะได้คำตอบว่าเป็นความเชื่อความเห็นเสียโดยมาก คือเป็นเรื่องที่ไม่รู้ด้วยตนเองแต่ก็มีความเชื่อว่าตายเกิด อีกฝ่ายหนึ่งไม่เชื่อเพราะเวลาคนตายก็ไม่เห็นมีอะไรไปเกิด สิ้นลมแล้วทุก ๆ อย่างก็ทอดทิ้งอยู่ในโลกนี้จึงไม่เชื่อว่าตายเกิด หรือเห็นว่าตายสูญทีเดียว ด้วยความไม่รู้นั้นแหละ ตกว่าความเชื่อไม่เชื่อหรือความเห็นอย่างไรในเรื่องนี้เกิดขึ้นจากความไม่รู้ แล้วก็ลงความเห็นเอาเองอย่างคาดคะเนหรือเดา เหมือนอย่างเข้าไปในห้องมืดสนิทมองไม่เห็นอะไรเลยคนหนึ่งเชื่อว่า ห้องนั้นมีคนซ่อนอยู่ อีกคนหนึ่งไม่เชื่อว่ามี ทั้งสองคนมีระดับเท่ากัน คือมองไม่เห็นเหมือนกัน ใช้ความคาดคะเนหรือเดาเอาเช่นเดียวกัน

               สรุปความในตอนนี้ว่า เรื่องตายเกิดหรือไม่เกิด ใครจะเชื่อหรือไม่อย่างไรไม่สำคัญ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าความจริงเป็นอย่างไร ตายแล้วเกิดอีกหรือไม่เกิด ปัญหาจึงมีว่า ใครจะเป็นผู้บอกได้ จะรู้จริงได้อย่างไร ตอบได้ว่า ผู้บอกมีอยู่แล้ว คือพระพุทธเจ้า ท่านตอบไว้ในหลักอริยสัจจ์สี่ ถอดความมาสั้น ๆ ว่า มีตัณหา (ความอยาก) ก็มีชาติ (ความเกิด) สิ้นตัณหาก็สิ้นชาติ ถอดคำออกมาให้เข้าเรื่องนี้ว่า ยังมีตัณหา ตายแล้วเกิดอีกสิ้นตัณหาแล้วไม่เกิด ท่านบอกไว้ดังนี้ แต่จะรู้จริงด้วยตนเองได้นั้น มีผู้แนะว่าต้องทำสมาธิจนได้ดวงตาชั้นใน มองเห็นความจริงได้ด้วยตนเอง จึงจะสิ้นสงสัย ถ้ายังไม่ได้ดวงตาชั้นในอย่างดีก็ต้องอาศัยศรัทธาต่อพระพุทธเจ้าไปก่อน

               ในครั้งพุทธกาล มีแม่ทัพใหญ่ผู้หนึ่งชื่อท่านสีหะไปเฝ้ากราบทูลถามว่า จะทรงอาจบัญญัติแสดงผลทานที่มองเห็นได้ในปัจจุบันได้หรือไม่ พระพุทธเจ้าตรัสว่าได้ คือ ๑. เป็นที่รักของชนมาก ๒. เป็นที่คบหาของคนดี ๓. มีเสียงพูดถึงในทางดีงาม ๔. กล้าเข้าหมู่คนชั้นต่าง ๆ เหล่านี้เป็นผลทานที่มองเห็นได้ในปัจจุบัน และ ๕. ตายไปสุคติ (ไปดี) โลกสวรรค์ ข้อหลังนี้เป็นผลภายหน้า ท่านแม่ทัพสีหะกราบทูลว่า ๔ ข้อตนไม่ต้องถึงความเชื่อต่อพระพุทธเจ้าเพราะรู้ได้ด้วยตนเอง ส่วนข้อหลังไม่รู้แต่ก็ถึงความเชื่อต่อพระพุทธเจ้าในข้อนั้น ท่านแม่ทัพเป็นทหารกราบทูลตรง ๆ รู้ว่ารู้ ไม่รู้ว่าไม่รู้ แต่ก็มีศรัทธาต่อพระพุทธองค์มั่นคง ฉะนั้น ถึงไม่รู้แต่มีผู้รู้เป็นผู้นำทางและมีความเชื่อฟังผู้รู้ก็ย่อมเดินถูกทางแน่