Print

แสงส่องใจ ฉบับที่ ๔๓๑

 sungaracha

 sangharaja-section

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ความเข้าใจเรื่องกรรม (จบ)

 

นิทานเรื่องระงับเวร

                   ท่านเล่าเป็นเรื่องสอนให้ระงับเวร ดังจะเล่าโดยย่อต่อไป มีเรื่องที่เคยเกิดขึ้นแล้วว่า พระเจ้าพรหมทัตครอบครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี ในรัฐกาสี ได้เสด็จกรีธาทัพไปย่ำยีพระเจ้าทีฆีติแห่งแคว้นโกศล พระเจ้าทีฆีติทรงประมาณกำลังเห็นว่าจะต่อสู้ไม่ได้ จึงทรงพาพระมเหสีเสด็จหนีออกจากพระนคร ปลอมพระองค์เป็นปริพาชก (ชีปะขาว) ไปทรงอาศัยอยู่ในบ้านของนายช่างหม้อที่ชานเมืองพาราณสี ซึ่งเป็นนครของราชศัตรู ฝ่ายพระเจ้าพรหมทัตก็ทรงยกทัพเข้าครอบครองแคว้นโกศล

                   ต่อมาพระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติทรงพระครรภ์ เกิดอาการแพ้พระครรภ์ ด้วยทรงอยากทอดพระเนตรกองทัพประกอบด้วยองค์ ๔ กองช้าง กองม้า กองรถ และกองราบในเวลาอาทิตย์ขึ้น และอยากจะทรงดื่มน้ำล้างพระขรรค์ จึงกราบทูลพระราชสวามี พระเจ้าทีฆีติพระราชสวามีได้ตรัสห้าม พระนางก็ตรัสยืนยันว่า ถ้าไม่ทรงได้ก็จักสิ้นพระชนม์

                   ครั้งนั้น พราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัต เป็นพระสหายของพระเจ้าทีฆีติ พระเจ้าทีฆีติจึงเสด็จไปหา ตรัสเล่าความให้ฟัง ฝ่ายพราหมณ์ปุโรหิตก็ขอไปเฝ้าพระเทวีก่อน พระเจ้าทีฆีติทรงนำไปยังบ้านที่พักอาศัย พราหมณ์ปุโรหิตได้เห็นพระมเหสีของพระเจ้าทีฆีติเสด็จดำเนินมาแต่ไกล ก็ยกมือพนมนอบน้อมไปทางพระนาง เปล่งวาจาขึ้นว่า “พระเจ้าโกศลประทับอยู่ในพระครรภ์” แล้วกล่าวรับรองจะจัดการให้พระนางได้ทอดเนตรเห็นกองทัพทั้งสี่เหล่า และได้ดื่มน้ำล้างพระขรรค์พราหมณ์ปุโรหิตจึงเข้าเฝ้าพระเจ้าพรหมทัต กราบทูลว่าได้เห็นนิมิตบางอย่าง ขอให้ทรงจัดกองทัพ ๔ เหล่า ให้ยกออกตั้งขบวนในสนามในเวลารุ่งอรุณวันพรุ่งนี้และให้ล้างพระขรรค์ พระเจ้าพรหมทัตทรงอำนวยตามพระมเหสีพระเจ้าทีฆีติจึงได้ทอดพระเนตรกองทัพและได้ทรงดื่มน้ำล้างพระขรรค์สมอาการที่ทรงแพ้พระครรภ์

                   ต่อมาได้ประสูติพระโอรส ตั้งพระนามว่า ทีฆาวุ เมื่อทีฆาวุกุมารเติบโตขึ้น พระเจ้าทีฆีติทรงส่งออกไปให้ศึกษาศิลปศาสตร์อยู่ภายนอกพระนคร เพราะทรงเกรงว่าถ้าพระเจ้าพรหมทัตทรงทราบก็จักปลงพระชนม์เสียทั้งสามพระองค์

                   ต่อมานายช่างกัลบกของพระเจ้าทีฆีติ ซึ่งมาอาศัยอยู่ในราชสำนักของเจ้าพรหมทัต ได้เห็นพระเจ้าทีฆีติที่ชานพระนครก็จำได้ จึงไปเฝ้ากราบทูลพระเจ้าพรหมทัตให้ทรงทราบ พระเจ้าพรหมทัตจึงมีรับสั่งให้จับพระเจ้าทีฆีติพร้อมทั้งพระมเหสีมาแล้ว รับสั่งให้พันธนาการ ให้โกนพระเศียร ให้นำตระเวนไปตามถนนต่างๆ ทั่วพระนคร แล้วให้นำออกไปภายนอกพระนคร ให้ตัดพระองเป็น ๔ ท่อน ทิ้งไว้ ๔ ทิศ พวกเจ้าพนักงานได้ปฏิบัติตามพระราชบัญชา

                   ในขณะที่เขานำพระเจ้าทีฆีติกับพระมเหสีตระเวนไปรอบพระนครนั้น ทีฆาวุกุมารได้ระลึกถึงพระราชมารดาบิดาจึงเข้ามาเพื่อจะเยี่ยม ก็ได้เห็นพระราชมารดาบิดากำลังถูกพันธนาการ เขากำลังนำตระเวนไปอยู่ จึงตรงเข้าไปหา ฝ่ายพระเจ้าทีฆีติทอดพระเนตรเห็นพระราชโอรสกำลังมาแต่ไกลก็ตรัสขึ้นว่า “พ่อทีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นยาว อย่าเห็นสั้น พ่อทีฆาวุ เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับด้วยเวรเลย แต่ย่อมระงับด้วยการไม่ผูกเวร” พอพวกเจ้าหน้าที่เหล่านั้นได้ยินพระดำรัสนั้นก็พากันกล่าวว่า พระเจ้าทีฆีติเสียพระสติรับสั่งเพ้อไป พระเจ้าทีฆีติก็ตรัสว่า พระองค์มิได้เสียสติ ผู้ที่เป็นวิญญูจักเข้าใจ แล้วได้ตรัสซ้ำๆ ความอย่างนั้นถึง ๓ ครั้ง เมื่อพวกเจ้าหน้าที่นำตระเวนแล้วก็นำออกนอกพระนคร ตัดพระองค์ออกเป็น ๔ ท่อนทิ้งไว้ ๔ ทิศ แล้วตั้งกองรักษา

                   ทีฆาวุกุมารได้นำสุราไปเลี้ยงพวกกองรักษาจนเมาฟุบหลับหมดแล้ว เก็บพระศพของพระมารดาบิดามารวมกันเข้าถวายพระเพลิง เสร็จแล้วก็เข้าป่า ทรงกันแสงคร่ำครวญจนเพียงพอแล้วก็เข้าสู่กรุงพาราณสี ไปสู่โรงช้างหลวง ฝากพระองค์เป็นศิษย์นายหัตถาจารย์

                   ในเวลาใกล้รุ่ง ทีฆาวุกุมารมักตื่นบรรทมขึ้น ทรงขับร้องด้วยเสียงอันไพเราะและดีดพิณ พระเจ้าพรหมทัตได้ทรงสดับเสียง รับสั่งถาม ทรงทราบแล้วตรัสให้หาทีฆาวุกุมารเข้าเฝ้า ครั้นทอดพระเนตรเห็นทีฆาวุกุมารก็โปรดให้เป็นมหาดเล็กในพระองค์ ทีฆาวุกุมารได้ตั้งหทัยปฏิบัติพระเจ้าพรหมทัตเป็นที่โปรดปรานมาก ในไม่ช้าก็ได้รับการแต่งตั้งให้อยู่ประจำในตำแหน่งเป็นที่วางพระราชหฤทัยในภายใน

                   วันหนึ่ง พระเจ้าพรหมทัตเสด็จทรงรถออกไปทรงล่าเนื้อ ทีฆาวุกุมารเป็นนายสารถีรถพระที่นั่ง ได้นำรถพระที่นั่งแยกทางไปจากพวกทหารรักษาพระองค์ ครั้นไปไกลมากแล้ว พระเจ้าพรหมทัตทรงเหน็ดเหนื่อย มีพระราชประสงค์จะบรรทมพัก จึงโปรดให้หยุดรถ แล้วทรงบรรทมหนุนบนเพลา (หน้าตัก)ของทีฆาวุ อยู่ครู่เดียวก็บรรทมหลับ ฝ่ายทีฆาวุคิดถึงเวรขึ้นว่า “พระเจ้าพรหมทัตนี้ ได้ทรงประกอบกรรมก่อความเดือดร้อนให้เป็นอันมาก จนถึงปลงพระชนม์พระราชมารดาบิดาของตน บัดนี้ถึงเวลาจะสิ้นเวรกันเสียที” จึงชักพระขรรค์ขึ้นจากฝักในขณะนั้น พระราชดำรัสของพระราชบิดาก็ผุดขึ้นในหทัยของทีฆาวุกุมาร เตือนให้คิดว่า ไม่ควรละเมิดคำของพระราชบิดา จึงสอดพระขรรค์เข้าฝัก ครั้นแล้วความคิดที่เป็นเวรก็ผุดขึ้นใหม่เป็นครั้งที่ ๒ ทีฆาวุกุมารก็ชักพระขรรค์ขึ้นจากฝัก แต่เมื่อระลึกถึงพระดำรัสของพระราชบิดาก็สอดพระขรรค์เก็บอีกในครั้งที่ ๓ ก็เหมือนกัน ทีฆาวุกุมารชักพระขรรค์ขึ้นแล้วด้วยเวรจิต แล้วก็สอดพระขรรค์เก็บด้วยอำนาจพระราชดำรัสของพระราชบิดา

                   ในขณะนั้น พระเจ้าพรหมทัตทรงสะดุ้ง เสด็จลุกขึ้นโดยฉับพลัน มีพระอาการตกพระทัยกลัว ทีฆาวุกุมารจึงกราบบังคมทูลถาม จึงรับสั่งเล่าว่า ทรงพระสุบินเห็นทีฆาวุกุมารโอรสพระเจ้าทีฆีติแทงพระองค์ให้ล้มลงด้วยพระขรรค์ ทันใดนั้นทีฆาวุกุมารก็จับพระเศียรของพระเจ้าพรหมทัตด้วยหัตถ์ซ้ายชักพระขรรค์ออกด้วยพระหัตถ์ขวา ทูลว่า “เรานี้แหละคือทีฆาวุกุมารโอรสของพระเจ้าทีฆีติ ซึ่งพระองค์ได้ทำความทุกข์ยากให้อย่างมากมาย จนถึงปลงพระชนม์พระราชมารดาบิดาของเรา บัดนี้ถึงเวลาที่เราจะทำให้สิ้นเวรกันเสียที” พระเจ้าพรหมทัตจึงหมอบลงขอชีวิต “ข้าพระองค์อาจจะถวายชีวิตแก่พระองค์ได้อย่างไร พระองค์นั้นเองพึงประทานชีวิตแก่ข้าพระองค์” “พ่อทีฆาวุ ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงให้ชีวิตแก่เรา และเราก็ให้ชีวิตแก่เจ้า” พระเจ้าพรหมทัตและทีฆาวุกุมารทั้งสองจึงต่างให้ชีวิตแก่กันและกัน ต่างได้ทำการสบถสาบานว่าจะไม่คิดทรยศต่อกัน ครั้นแล้วพระเจ้าพรหมทัตก็เสด็จขึ้นประทับรถทีฆาวุกุมารก็ขับรถมาบรรจบพบกองทหารแล้วเข้าสู่พระนคร

                   พระเจ้าพรหมทัตรับสั่งให้ประชุมอำมาตย์ ตรัสถามว่า ถ้าพบทีฆาวุกุมารโอรสพระเจ้าทีฆีติจะพึงทำอย่างไร อำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลว่า ให้ตัดมือตัดเท้าตัดหูตัดจมูกบ้าง ให้ตัดศีรษะบ้าง พระเจ้าพรหมทัตจึงตรัสว่า “ผู้นี้แหละคือทีฆาวุงกุมารโอรสพระเจ้าทีฆีติ แต่ใครจะทำอะไรไม่ได้ เพราะว่ากุมารนี้ให้ชีวิตแก่เราแล้ว และเราก็ให้ชีวิตแก่กุมารนี้แล้ว” แล้วทรงหันไปตรัสขอให้ทีฆาวุกุมารอธิบายพระดำรัสของพระราชบิดาในเวลาที่จะสิ้นพระชนม์

                   ทีฆาวุกุมารจึงกราบทูลอธิบายว่า “คำว่า อย่าเห็นยาว คืออย่าได้ทำเวรให้ยาว คำว่า อย่าเห็นสั้น คืออย่าด่วนแตกกับมิตร คำว่า เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับด้วยเวรเลย แต่ย่อมระงับด้วยความไม่ผูกเวร คือถ้าข้าพระองค์คิดว่าพระองค์ทรงปลงพระชนม์พระราชมารดาบิดาของข้าพระองค์ จึงปลงพระชนม์ของพระองค์เสีย พวกคนที่จงรักภักดีต่อพระองค์ก็จะพึงปลงชีวิตของข้าพระองค์ ส่วนคนที่ชอบข้าพระองค์ก็จะพึงปลงชีวิตพวกคนเหล่านั้น เวรจึงไม่ระงับลงได้ด้วยเวรอย่างนี้ แต่ว่าบัดนี้พระองค์ได้ประทานชีวิตแก่ข้าพระองค์ และข้าพระองค์ก็ได้ถวายชีวิตแก่พระองค์แล้ว เวรนั้นจึงเป็นอันระงับลงด้วยความไม่ผูกเวร” พระเจ้าพรหมทัตตรัสสรรเสริญแล้ว พระราชทานคืนราชสมบัติของพระเจ้าทีฆีติ และได้พระราชทานธิดาแก่ทีฆาวุกุมาร เรื่องนี้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงค์ ได้ทรงพระนิพนธ์เป็นคำฉันท์ไว้ เรียกว่า ทีฆาวุ

คำฉันท์

                   นิทานเรื่องระงับเวรที่เล่านี้เป็นเรื่องโบราณ ยังมีนิทานเรื่องระงับเวรในระยะเวลาใกล้ๆ นี้ คือในสงครามโลกคราวที่แล้ว เมื่อญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย จับฝรั่งมาเป็นเชลยกำหนดให้ทำงานต่างๆ คนไทยก็พากันสงสารเชลยฝรั่งและแสดงเมตตาจิตสงเคราะห์ จนเห็นพวกชาวบ้านหาบคอนผลไม้ไปคอยให้ พากันช่วยเจือจานต่างๆ ไม่ได้ถือว่าเป็นคู่เวรคู่ศัตรู ครั้นเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามกลับเป็นเชลย คนไทยก็กลับสงสารญี่ปุ่น อำนาจเมตตาจิตของคนไทยส่วนรวมนี้เชื่อกันว่า เป็นเครื่องผูกมิตรในจิตใจของทั้งฝรั่งทั้งญี่ปุ่น ซึ่งได้ช่วยประเทศไทยไว้อย่างมากมาย ถ้าคนไทยมีนิสัยผูกเวรมากกว่าผูกมิตรแล้ว เหตุการณ์ก็น่าจะไม่เป็นเช่นนี้

                   อาศัยการปฏิบัติตามคำที่ทุกคนคงได้ฟังจนคุ้นหู คือ“ขออภัย” กับคำว่า “ให้อภัย” เมื่อใครทำอะไรล่วงเกินแก่คนอื่นก็กล่าวคำขออภัยหรือขอโทษ ฝ่ายผู้ที่ถูกล่วงเกินก็ให้อภัย คือยกโทษให้ คนเราต้องอยู่รวมกันเป็นหมู่ คือร่วมบ้านเรือนร่วมโรงเรียน ร่วมประเทศชาติ เป็นต้น ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ก็อาจจะประพฤติล่วงเกินกันบ้างเพราะความความประมาทพลั้งเผลอต่างๆ ถ้าต่างไม่รู้จักขออภัย และไม่รู้จักให้อภัยแก่กันและกันแล้ว ก็จะทะเลาะวิวาทกัน แตกญาติ แตกมิตร แตกสหายกัน ไม่มีความสุขสงบ นี้แหละคือเวร อันได้แก่ความเป็นศัตรูกัน หรือที่เรียกอย่างเบาๆ ว่า ไม่ถูกกันนั่นเอง

                   อนึ่ง จะคิดว่าล่วงเกินเขาแล้วก็ขอโทษเขาได้ ดังนี้แล้ว ไม่ระมัดระวังในความประพฤติของตน ก็ไม่ถูก เพราะโดยปกติสามัญย่อมให้อภัยกันในกรณีที่ควรให้อภัย ซึ่งผู้ประพฤติล่วงเกินแสดงให้เห็นได้ ว่าทำไปด้วยความประมาท หรือด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา และให้โทษไม่มากนัก คนที่มีจิตใจสูงเป็นพิเศษเท่านั้นจึงจะให้อภัยในเรื่องร้ายแรงได้ ซึ่งก็มีเป็นส่วนน้อย และถึงแม้จะให้อภัยในส่วนตัว แต่กฎหมายบ้านเมืองไม่ยอมอภัยให้ก็มี และโดยเฉพาะเมื่อเป็นบาป หรืออกุศลกรรมแล้ว กรรมที่ตนก่อขึ้นไม่ให้อภัยแก่ผู้ก่อกรรมนั้นเลย ฉะนั้นทางที่ดีจึงควรมีสติระมัดระวัง มีขันติคือความอดทน มีโสรัจจะคือความสงบเสงี่ยม คอยเจียมตน ประหยัดตน ไม่ก่อเหตุเป็นเวรเป็นภัยแก่ใคร พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า

“สญฺมโต เวรํ นจียติ

ผู้ระมัดระวังอยู่ย่อมไม่ก่อเวร”