Print

แสงส่องใจ ฉบับที่ ๔๓๐

 sungaracha

 sangharaja-section

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ความเข้าใจเรื่องกรรม (๘)

 

กรรมเวร

                   ฝากไว้ก่อนเถิด รอให้ถึงทีเราบ้าง” นาย ข. คิดผูกใจไว้เมื่อถูกนาย ก. ข่มเหงคะเนงร้าย ต่อมาเมื่อนาย ข. ได้โอกาสก็ทำร้ายนาย ก. ตอบแทน นาย ก. ก็ทำร้ายนาย ข ตอบเข้าอีก แล้วต่างก็ทำร้ายตอบกันไปตอบกันมา ตัวอย่างนี้แหละเรียกว่าเวร บางรายผูกเวรกันไปชั่วลูกชั่วหลาน บางรายผู้ใหญ่ผูกเวรกันแล้วยังห้ามไม่ให้บุตรหลานของตยผูกมิตรกันอีกด้วย ถือว่าไปผูกมิตรกับลูกหลานศัตรู มิใช่แต่ต้องร้ายแรงจึงเรียกว่าเวร ถึงรายย่อยๆ ดังการตอบโต้กันในวงด่าวงชกต่อย ก็เรียกว่าเวร เช่น นาย ก. ด่า นาย ข. ชกต่อยนาย ข.ก่อน นาย ข. ก็ด่าตอบชกต่อยตอบ แล้วต่างก็ด่าและต่างก็ชกต่อยกันอุตลุด บางทีวงวิวาทขยายออกไป คือเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพลี่ยงพล้ำก็ไปบอกพรรคพวกร่วมคณะร่วมโรงเรียนให้พลอยโกรธ แล้วยกพวกไปชกต่อยต่อสู้กัน ขยายเวรออกไปบางรายเด็กทะเลาะกันแล้วไปฟ้องผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายเข้ากับเด็กที่เป็นบุตรหลานของตน ก็ออกต่อว่าต่อปากต่อคำวิวาทกัน เวรวงเล็กก็ขยายออกเป็นเวรวงใหญ่ เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องทะเลาะวิวาทกันสายใหญ่ๆ มิใช่น้อยที่เกิดจากมูลเหตุที่เล็กนิดเดียว ดังนิทานเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียว ทำให้เกิดสงครามกลางเมือง

               วงเวรในระหว่างบุคคลให้เกิดความเสียหายในวงแคบส่วนวงเวรในระหว่างหมู่คณะให้เกิดความเสียหายในวงกว้างออกไป ยิ่งวงเวรในระหว่างประเทศชาติ ในระหว่างค่ายของชาติทั้งหลายยิ่งให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวาง ตลอดจนถึงทั้งโลก เหล่านี้เป็นเรื่องของเวรทั้งนั้น ฉะนั้น จึงควรทำความเข้าใจควบคู่กันไปกับเรื่องกรรม

                   เวรคือความเป็นศัตรูกันของบุคคล ๒ คน คือ ๒ ฝ่าย เพราะฝ่ายหนึ่งก่อกรรมเสียหายแก่อีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายที่ได้รับความเสียหายนั้นก็ผูกใจเจ็บและคิดแก้แค้นตอบแทน เวรจึงประกอบด้วยบุคคล ๒ คน หรือ ๒ ฝ่าย คือผู้ก่อความเสียหาย๑ ผู้รับความเสียหาย ๑ บุคคลที่ ๒ นี้ผูกใจเจ็บแค้น จึงเกิดความเป็นศัตรูกันขึ้น นี้แหละคือเวร

               เวรเกิดจากความผูกใจเจ็บแค้นของบุคคลที่ ๒ คือ ผู้รับความเสียหาย พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ว่า “ชนเหล่าใดผูกอยู่ว่า คนนี้ได้ด่าเรา ได้ฆ่าเรา ได้ชนะเรา ได้ลักของของเรา เวรของชนเหล่านั้นไม่สงบ” ดังนี้ ทั้งนี้เพราะลำพังบุคคลที่ ๑ ฝ่ายเดียว ก็ยังไม่เป็นเวรโดยสมบูรณ์ ต่อเมื่อบุคคลที่ ๒ ผูกใจเจ็บไว้ จึงเกิดเป็นเวรโดยสมบูรณ์ แต่ถ้าบุคคลที่ ๒ นั้นไม่ผูกใจเจ็บ ก็ไม่เกิดเป็นเวรขึ้นเหมือนกัน ฉะนั้น ความเกิดเป็นเวร ขึ้นจึงเพราะบุคคลที่ ๒ เป็นสำคัญ เห็นอย่างง่ายๆ ในเรื่องเวรสามัญ เมื่อมีใครมาทำความล่วงเกินอะไรเล็กๆ น้อยๆ ต่อเรา เมื่อเราไม่ผูกอาฆาต เขาและเราก็ไม่เกิดเป็นศัตรูกันคือไม่เกิดเป็นเวรกันนั่นเอง เหมือนอย่างตบมือข้างเดียวไม่เกิดเสียง

               เวรระงับเพราะบุคคลที่ ๒ ไม่ผูกอาฆาตดังกล่าวแล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้โดยความว่า “ส่วนชนเหล่าใดไม่ผูกอยู่ว่า คนนี้ได้ด่าเรา ได้ฆ่าเรา ได้ชนะเรา ได้ลักของของเรา เวรของชนเหล่านั้นย่อมสงบระงับ เวรไม่ระงับด้วยเวรในกาลไหนๆ เลย แต่ย่อมระงับลงด้วยความไม่ผูกเวร” ดังนี้ น่าคิดว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลที่ ๒ เป็นผู้ที่น่าติมากกว่าบุคคลที่ ๑ เพราะทำให้เป็นเวรขึ้น ในเรื่องเวรเป็นความจริงอย่างนั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ เหมือนอย่างเป็นความกันในโรงศาล เมื่อมีใครเป็นโจทก์ฟ้องใครเป็นจำเลยขึ้นจึงเกิดเป็นความ คดีถึงที่สุดหรือโจทก์ถอนฟ้องเสียเมื่อใด ความก็ระงับเมื่อนั้น แต่ถ้าจำเลยไม่เป็นตัวการก่อกรรมเสียหายแก่โจทก์ เมื่อกล่าวโดยปกติ มิใช่แกล้งกันแล้ว โจทก์ก็คงไม่ฟ้อง ฉันใดก็ดี บุคคลที่ ๑ นั้นเองเป็นมูลเหตุของเวร เพราะเป็นตัวการก่อกรรมเสียหายขึ้นก่อน

               เวรเกี่ยวกับกรรมของบุคคลที่ ๑ ซึ่งทำความเสียหายให้แก่บุคคลที่ ๒ และเกี่ยวกับกรรมของบุคคลที่ ๒ ซึ่งทำตอบด้วย ดังเช่น นาย ก. ฆ่า นาย ข. ลักทรัพย์ของนาย ข.นาย ข. จึงผูกใจอาฆาต เกิดเป็นเวรกันขึ้น นี้ก็เป็นเพราะกรรมของนาย ก. นั่นเอง ซึ่งทำแก่นาย ข. และนาย ข. ก็ผูกใจตอบ ฉะนั้น เวรจึงเกี่ยวแก่กรรมของบุคคลนั่นเอง ที่ยังให้เกิดความเสียหาย เจ็บแค้นแก่คนอื่น กรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ละเว้นในศีล ๕ คือการฆ่าสัตว์ ๑ การลักทรัพย์ ๑ การประพฤติผิดประเพณีในทางกาม ๑ การพูดเท็จ ๑ การดื่มน้ำเมา ๑ เรียกว่าเวร ๕ หรือภัย ๕ อย่าง เพราะเป็นกรรมที่ก่อเวรก่อภัยทั้งนั้น เช่น การฆ่าสัตว์ ก็มีผู้ฆ่าฝ่ายหนึ่งผู้ถูกฆ่าอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นคู่เวรคู่ภัยกัน การลักทรัพย์ก็มีผู้ลักฝ่ายหนึ่ง ผู้ถูกลักอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นคู่เวรคู่ภัยกัน ดังนี้เป็นตัวอย่าง กล่าวโดยรวบรัด เวรเกิดจากกรรมที่ก่อความเสียหายให้แก่ใครๆ นั่นเอง

               ผลของกรรมได้แสดงแล้วว่า ผลดีต่างๆ เกิดเพราะกรรมดี ผลชั่วต่างๆ เกิดเพราะกรรมชั่ว ส่วนผลของเวร คือความทุกข์ที่บุคคล ๒ ฝ่ายผู้เป็นสัตรูคู่เวรก่อให้แก่กัน กรรมเมื่อให้ผลแล้วก็หมดไป เหมือนอย่างผู้ต้องโทษครบกำหนดแล้วก็พ้นโทษ ส่วนเวร เมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายนั้นยังผูกใจเป็นศัตรูกันอยู่ตราบใด ก็ยังไม่ระงับตราบนั้น แต่เมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายเลิกเป็นศัตรูกันเมื่อใด เวรก็ระงับเมื่อนั้น ฉะนั้น เวรจึงอาจยาวก็ได้ สั้นก็ได้ สุดแต่บุคคล ๒ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สัตว์บางชนิดพบกันเข้าไม่ได้ เป็นต้องทำร้ายกัน เช่น กากับนกเค้า บัณฑิตผู้ฉลาดในการสอนยกเป็นตัวอย่างของเวรที่ผูกกันยืดยาวไม่รู้จบ เหมือนกับผูกกันมาตั้งแต่ปฐมกัลป์ และผูกกันไปไม่สิ้นสุด ในหมู่มนุษย์บางชาติบางเหล่าก็คล้ายๆ กันอย่างนั้น