Print

แสงส่องใจ ฉบับที่ ๔๒๙

 sungaracha

 sangharaja-section

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ความเข้าใจเรื่องกรรม (๗)

 

 การให้ผลของกรรม

                   แม้ในเรื่องกรรมให้ผล ท่านก็แสดงว่าเกี่ยวแก่สถานการณ์ ๔ อย่าง คือ (๑) คติ (๒) อัตภาพ (๓) กาลสมัย (๔) การประกอบกรรม

                   (๑) คติ คือที่ไป แสดงในปัจจุบัน คือไปทุกๆ แห่งจะไปเที่ยว ไปพักอาศัยชั่วคราว หรือไปอยู่ประจำการก็ตามคนที่ทำดีมาแล้ว ถ้าไปในที่ที่ไม่ดี ความดีที่ทำไว้ก็อาจจะยังไม่ให้ผลเหมือนอย่างนักเรียนที่เรียนมัธยม ๖ มาแล้วจากต่างจังหวัดเรียกได้ว่าทำความดีมาแล้วถึงชั้นนั้น และเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ แต่อยู่ในหอพักที่ไม่ดี เมื่อควรจะไปโรงเรียนก็ไม่ไป แต่ไปเถลไถลเสียที่อื่น อย่างนี้เรียกว่ามีคติที่ไปไม่ดี ความดีเท่าที่ทำไว้ คือที่เรียนมาจนจบมัธยม ๖ ในต่างจังหวัดก็ไม่ส่งเสริมให้เจริญวิทยฐานะขึ้นต่อไป ส่วนนักเรียนที่เรียนมาไม่สู้ดี ไม่จบถึงชั้นไหน แต่เกิดความตั้งใจดี ไปพักอาศัยอยู่ในที่ดี และไปเรียนกวดวิชาอย่างจริงจัง ก็อาจจะสอบขึ้นชั้นสูงได้ ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างเฉพาะเรื่องเท่านั้น เมื่อกล่าวโดยส่วนรวมแล้ว คนที่มีกรรมเก่าไม่ดี แต่ว่ามีคติใหม่ดีอย่างที่เรียกว่ากลับตนดำเนินทางใหม่ คือเว้นจากทางไม่ดีเก่าๆ ที่เคยดำเนินมา มาเปลี่ยนดำเนินทางใหม่ที่ดีอันตรงกันข้าม กรรมชั่วที่ทำไว้แล้วแต่ก่อนก็อาจยังไม่ให้ผล ได้ในคำว่ามืดมาสว่างไป ถ้าทางเก่าก็ไม่ดี ทางใหม่ก็ไม่ดี ได้ในคำว่า มืดมามืดไป ก็เป็นอันเอาดีไม่ได้เลย ส่วนคนที่ทำความดีมาแล้วเรียกว่าเดินทางถูกแล้ว แต่ต่อมากลับไปเดินทางผิด กรรมดีที่ทำไว้แล้วก็อาจยังให้ผลไม่ได้ ได้ในคำว่า สว่างมามืดไป ฝ่ายคนที่มาดี คือเดินทางมาถูกแล้ว และก็เดินทางถูกต่อไปเป็นอันว่าความดีที่ทำไว้ สนับสนุนให้ดีอีกต่อไปไม่ขาดสาย ได้ในคำว่า สว่างมาสว่างไป

                   ฉะนั้น คติที่ไปหรือการไป คือทางที่ทุกๆ คนดำเนินอยู่ในปัจจุบันนี้แหละสำคัญมาก ในส่วนที่ล่วงมาแล้วจะผิดหรือถูกเราก็ได้ดำเนินมาแล้ว ฉะนั้น ให้ถือว่าเป็นอันแล้วไปหรือให้ถือเป็นบทเรียน ถ้าเดินทางดีมาแล้วก็จงเดินทางดีนั้นต่อไป ถ้าทางที่เดินมาแล้วไม่ดีก็เปลี่ยนทางใหม่ เลือกเดินไปในทางที่ดีนับว่าเป็นผู้ที่กลับตัวได้ เข้าในคำว่า มืดมาสว่างไป พระพุทธเจ้าโปรดปรานบุคคลเช่นนี้ ดังเช่นองคุลิมาลโจรเป็นตัวอย่างเพราะทุกๆ คนย่อมผิดพลาดมาแล้วมากบ้างน้อยบ้าง ยิ่งผ่านชีวิตมามากยิ่งมีโอกาสผิดพลาดได้มาก จนถึงมีคำพังเพยว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องของมนุษย์ ข้อสำคัญจึงอยู่ที่เมื่อทำผิดไปแล้วก็ให้รู้ตัวว่าทำผิด และตั้งใจไม่ให้ทำผิดอีก เป็นอันนำตัวให้เข้าทางที่ถูก นั้นแหละคือคติที่ดีของชีวิตปัจจุบัน

                   (๒) อัตภาพ หมายถึงความมีร่างกายสมบูรณ์ ประกอบด้วยพลานามัย สามารถทำสิ่งที่ควรทำได้ตามต้องการพลานามัยของร่างกายนี้เป็นสิ่งสำคัญ ความดีจะให้ผลเต็มที่ต่อเมื่อร่างกายสมบูรณ์ด้วย เช่น เรียนหนังสือมาได้ถึงชั้นใดชั้นหนึ่ง นับว่าได้ความดีมา จะเรียนต่อไปได้จนสำเร็จ ก็ต้องมีร่างกายสมบูรณ์ที่สามารถจะเรียนต่อไปได้ ถ้าป่วยเป็นโรคกระเสาะกระแสะ การเรียนต่อก็ขัดข้องไม่สะดวก หรือคนที่กำลังทำงาน ถ้าล้มป่วยลง ความเจริญก็ชะงัก ในทางตรงกันข้ามคนที่เคยประพฤติผิดพลาดเหลวไหลมาแล้ว แต่ต่อมาได้คติของชีวิตที่ดีดังกล่าวแล้วในคติ ก็อาจประกอบกรรมที่ดีสืบต่อไปได้ความเหลวไหลที่แล้วมาก็อาจยังไม่มีโอกาสให้ผล ความมีอัตภาพร่างกายสมบูรณ์เป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิตทุกอย่าง เพราะเครื่องบั่นทอนต่างๆ นั้นมีเป็นอันมาก กล่าวโดยเฉพาะในทางการแพทย์ปัจจุบันนี้ ก็แสดงว่ามีเชื้อโรคต่างๆ ในที่ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกโดยรอบร่างกายมากมายหลายชนิด เมื่อร่างกายมีกำลังต้านทานเชื้อโรคเพียงพอ ก็ไม่เกิดอาการเจ็บป่วย ร่างกายอ่อนแอลงเมื่อใด เชื้อโรคก็ได้ช่องเมื่อนั้น   ฉันใดก็ดี กรรมดีกรรมชั่วต่างๆ ที่บุคคลทำไว้ในปางหลังก็มีมากมาย ถ้าเราตั้งตัวไว้ดี กรรมชั่วก็อาจไม่มีโอกาสให้ผล กรรมดีมีโอกาสส่งเสริม แต่เมื่อเพลี่ยงพล้ำลงเมื่อใด กรรมชั่วก็มีโอกาสให้ซ้ำเติมเมื่อนั้น

                   (๓) กาลสมัย หมายถึงว่าในกาลสมัยที่สมบูรณ์ มีผู้ปกครองดี มีหมู่ชนที่ดี กรรมดีก็มีโอกาสให้ผลได้มาก กรรมชั่วก็อาจสงบผลอยู่ก่อน เพราะในกาลสมัยเช่นนี้จะพากันยกย่องอุดหนุนคนดี ไม่สนับสนุนคนชั่ว ทำให้คนดีมีโอกาสปรากฏตัวประกอบกรรมที่ดี อำนวยให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมยิ่งขึ้นแต่ในกาลสมัยที่บกพร่อง มีผู้ปกครองไม่ดี มีหมู่ชนไม่ดี กรรมดีที่ตนทำไว้ก็ไม่มีโอกาสให้ผล กรรมชั่วกลับมีโอกาสให้ผล เพราะเป็นกาลสมัยที่กดคนดี ยกย่องคนชั่ว นับว่าเป็นกาลวิบัติ อีกอย่างหนึ่ง ในกาลสมัยที่มีการกดขี่เบียดเบียนกันจนถึงทำสงครามกัน ดังเช่นสงครามโลกที่แล้วๆ มา คนในโลกได้รับภัยสงครามกันเป็นอันมาก นี้เรียกว่าเป็นโอกาสที่กรรมชั่วซึ่งต่างได้กระทำไว้ในอดีตให้ผล ทำให้ประสบภัยต่างๆ ตลอดถึงความทุกข์ยากขาดแคลนกันทั่วๆ ไป แต่ในกาลสมัยที่มีความสงบเรียบร้อย ก็เป็นไปตรงกันข้าม ต่างไปเล่นเรียนศึกษาประกอบการงานกันตามปกติ

                   (๔) การประกอบกรรม หมายถึงการประกอบกระทำในปัจจุบัน ถ้าประกอบกระทำกรรมที่ดีที่ชอบอยู่ในปัจจุบัน กรรมชั่วที่ทำไว้ในอดีตก็อาจยังระงับผล หรือแม้กำลังให้ผลอยู่แล้วก็อาจเบาลง ดังเช่นผู้ที่ต้องถูกกักขังของจำ เมื่อประพฤติตัวดีก็ย่อมได้รับผ่อนผัน และลดเวลากักขังจองจำนั้นให้น้อยเข้า ถ้ากรรมเก่าดีอยู่แล้วก็ยิ่งจะส่งเสริม เหมือนอย่างนักเรียนที่ตั้งใจเรียนดีมาแล้ว และตั้งใจเรียนดีอยู่ในปัจจุบัน ก็ช่วยกันให้เรียนดียิ่งขึ้น แต่ถ้าในปัจจุบันนี้ประกอบกรรมที่ชั่วเสียหาย ก็จะตัดผลของกรรมดีที่เคยทำมาแล้วด้วย เหมือนอย่างข้าราชการที่ทำงานมาโดยสุจริตแล้ว แต่มาทำทุจริตในหน้าที่ขึ้น ก็อาจตัดผลของความดีที่ทำมาแล้ว ในเมื่อการทำทุจริตในหน้าที่นั้นปรากฏขึ้น

                   การให้ผลของกรรม ย่อมเกี่ยวแก่กาลเวลา ประกอบกับสถานการณ์ทั้งสี่ดังกล่าวมานี้ ท่านเล่าเรื่องเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบไว้ว่า เหมือนอย่างว่าบุรุษผู้หนึ่งรับราชการ ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองแห่งหนึ่ง แต่บุรุษผู้นั้นมิได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ ไปข่มขู่ถือเอาทรัพย์ต่างๆ ของประชาชนในเมืองที่ปกครองโดยพลการ แต่ก็ยังไม่มีใครอาจจะฟ้องร้องว่ากล่าวเพราะกลัวอำนาจ บุรุษผู้นั้นกำเริบยิ่งขึ้น ถึงกับไปผิดในบุคคลที่เป็นใหญ่กว่าตน มีอำนาจยิ่งกว่าตน จึงถูกจับไปเข้าเรือนจำและประกาศให้ประชาชนที่ถูกข่มเหงร้องทุกข์กล่าวโทษจึงมีเสียงร้องทุกข์กล่าวโทษขึ้นตั้งร้อยตั้งพัน บุรุษนั้นจึงถูกลงโทษไปตามความผิด

                   เรื่องนี้พึงเห็นความเปรียบเทียบดังนี้ เวลาที่บุรุษนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองกำลังรุ่งเรือง ก็เท่ากับเวลาตั้งอยู่ในคติคือตำแหน่งมีอำนาจ ประกอบด้วยมีฐานะของตนสูง ทำอะไรได้ตามต้องการ อยู่ในสมัยที่ตนมีอำนาจ ทั้งอยู่ในหน้าที่ เป็นโอกาสให้ประกอบกระทำอะไรได้ อกุศลกรรมจึงไม่มีโอกาสจะให้ผล ต่อเมื่อถูกจับเข้าเรือนจำ เสียงร้องทุกข์กล่าวโทษเกิดขึ้นตั้งร้อยตั้งพันเรื่อง ก็เท่ากับถึงกาลวิบัติของตน สถานการณ์ต่างๆ ดังกล่าวที่เคยดีก็กลับเลวลง เข้าในคำว่า น้ำลดตอผุดอกุศลกรรมที่ตนทำไว้จึงมีโอกาสให้ผล

                   รวมความว่า ทุกๆ คนทำกรรมใดๆ ไว้กรรมนั้นๆ ย่อมให้ผลในปัจจุบันบ้าง ในภายหน้าบ้าง ในเวลาต่อๆ ไปบ้าง ตามแต่กรรมนั้นๆ จะหนักเบาอย่างไร ท่านเปรียบเหมือนอย่างยืนอยู่บนที่สูงและโยนสิ่งต่างๆ มีก้อนหิน ก้อนดิน กิ่งไม้ ใบหญ้า เป็นต้นลงมา ของที่มีน้ำหนักมากย่อมตกลงสู่พื้นดินก่อนส่วนของที่มีน้ำหนักน้อยกว่าก็ตกถึงพื้นดินภายหลังโดยลำดับ กรรมก็ฉันนั้น กรรมที่หนักให้ผลก่อน ส่วนกรรมที่หนักน้อยกว่าหรือเบากว่าก็ให้ผลตามหลัง การให้ผลของกรรมจึงเกี่ยวกับกาลเวลา ประกอบกับสถานการณ์ ๔ อย่าง คือ (๑) คติ (๒) อัตภาพ (๓) กาลสมัย (๔) การประกอบกรรมในปัจจุบัน แต่กรรมย่อมให้ผลแน่นอน ตามพระพุทธภาษิตว่า

กลฺยาณการี กลฺยาณํ ทำดีได้ดี

ปาปการี จ ปาปกํ ทำชั่วได้ชั่ว