Print

แสงส่องใจ ฉบับที่ ๔๒๗

 sungaracha

 sangharaja-section

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ความเข้าใจเรื่องกรรม (๕)

 

 

แนวคิดเรื่องกรรม

                   ในมหาโพธิชาดกตอนหนึ่ง เล่าว่า พระราชาแห่งรัฐหนึ่งมีอำมาตย์อยู่ ๔ คน เป็นผู้แสดงลัทธิต่างๆ แก่พระราชา อำมาตย์คนที่ ๑ แสดงลัทธิว่า ผลทุกอย่างไม่มีเหตุ อำมาตย์คนที่ ๒ แสดงลัทธิว่า พระอิศวร (พระเป็นเจ้า) สร้าง อำมาตย์คนที่ ๓ แสดงลัทธิว่า ทุกๆ อย่างเป็นเพราะบุพกรรม (กรรมในปางก่อน) อำมาตย์คนที่ ๔ แสดงลัทธิว่า ขาดสูญ ยังมีชีปะขาวอีกคนหนึ่ง ซึ่งพระราชาเคารพนับถือ ปรารถนาจะโต้วาทะกับอำมาตย์เหล่านั้น จึงไปขอหนังวานรจากชาวบ้านมาตาก ทำให้หมดกลิ่นให้เรียบร้อยดีแล้ว จึงนุ่งห่มหนังวานรและใช้เป็นอย่างผ้าพาดบ่า เข้าไปในพระอุทยาน พระราชาได้ทรงทราบ ได้เสด็จพร้อมกับอำมาตย์ทั้งสี่ ทอดพระเจตรเห็นท่านชีปะขาวกำลังนั่งสนใจอยู่กับหนังวานร จึงตรัสถาม ชีปะขาวก็ทูลตอบว่า วานรนี้มีอุปการะแก่อาตมามาก ช่วยนำน้ำมาให้บ้าง กวาดที่ให้อยู่บ้าง ทำการปฏิบัติให้ต่างๆ อาตมาจะไปไหนก็ขึ้นหลังวานรนี้ไป แต่คราวหนึ่งอาตมาเกิดมีจิตใจทราม จึงกินเนื้อของวานรนั้น นำหนังมาตากให้แห้ง ใช้นุ่งห่มตลอดถึงปูนั่งนอน เพราะคิดถึงบุญคุณว่ามีอุปการะแก่อาตมามาก ฝ่ายอำมาตย์ทั้งสี่ได้ยินดังนั้น ก็พากันกล่าวเย้ยหยันว่าตาชีปะขาวนี้เป็นคนอกตัญญู ทรยศต่อมิตร ทำปาณาติบาต

                   ฝ่ายชีปะขาวจึงกล่าวโต้อำมาตย์คนที่ ๑ ซึ่งถือลัทธิทุกๆ อย่างไม่มีเหตุ ว่าเมื่อผลทุกๆ อย่างไม่มีเหตุ เกิดขึ้นเอง ความชั่วอะไรๆ จะมีได้อย่างไร เพราะว่าตามลัทธิของท่านย่อมไม่มีเหตุที่จะทำให้ใครๆ ในโลกเศร้าหมองหรือบริสุทธิ์ โลกนี้เป็นไปตามคติและภาวะของตนเอง แปรปรวนวิวัฒนาการไปเอง มีสุขมีทุกข์ไปเอง จะทำอะไรก็ทำไป ไม่จำเป็นต้องประสงค์จะทำดีหรือทำชั่ว ทำๆ ไปก็แล้วกัน ทำอะไรก็ทำได้ เมื่อเป็นเช่นนี้จะมีใครทำบาป หรือทำบุญอะไรเล่า ฉะนั้น ถ้าลัทธิของท่านเป็นจริง ถึงว่าอาตมาจะฆ่าวานรกินเนื้อเสีย อาตมาก็ไม่มีโทษไม่มีบาป อำมาตย์คนที่ ๑ เมื่อถูกโต้เช่นนั้นก็นั่งนิ่ง

                   ชีปะขาวจึงกล่าวโต้คนที่ ๒ ซึ่งถือลัทธิพระเป็นเจ้าว่าถ้าพระเป็นเจ้าสร้างชีวิตแก่โลกทั้งหมด เที่ยวจัดแจงให้คนนี้ทำกสิกรรม ให้คนนั้นเลี้ยงโค เป็นต้น เป็นผู้สร้างความเจริญความเสื่อม ความดีความชั่วทั้งปวง เป็นผู้บันดาลสิ่งทั้งหมดเมื่อเป็นเช่นนี้ ใครทำบาปก็ทำเพราะพระผู้เป็นเจ้าสั่งให้ทำ พระเป็นเจ้าจึงต้องรับบาปนั้นไปเอง ถึงอาตมาจะฆ่าลิงหรือใครจะทำบาปอะไรๆ ก็ไม่ต้องรับบาป เพราะทำตามคำสั่งของ

พระเจ้าต่างหาก อำมาตย์คนที่ ๒ ถูกโต้ดังกล่าวก็นิ่งไป

                   ชีปะขาวจึงกล่าวโต้อำมาตย์คนที่ ๓ ซึ่งถือลัทธิกรรมในปางก่อนว่า ถ้าใครๆ พากันถึงสุขทุกข์เพราะกรรมในปางก่อนเป็นเหตุเท่านั้นแล้ว ใครๆ ที่ต้องได้รับทุกข์ในบัดนี้เช่นถูกเขาฆ่า ถูกเขาลักขโมยทรัพย์ ถูกเขาเบียดเบียนต่างๆ ก็เพราะกรรมในปางก่อนของตนเอง เหมือนอย่างกู้หนี้เขามาแล้วก็ใช้หนี้เขาไป ฉะนั้น ถ้าลัทธิของท่านเป็นจริง วานรนี้ก็คงเคยฆ่าอาตมามาแล้วในชาติปางก่อน เหมือนอย่างเป็นหนี้อาตมาอยู่ มาชาตินี้อาตมาจึงฆ่าเสียบ้าง ลิงนี้จึงถูกฆ่าเป็นการชดใช้หนี้กรรมเก่าให้สิ้นไป อาตมาซึ่งเป็นผู้ฆ่าจึงเท่ากับเป็นผู้ช่วยลิงนี้ให้พ้นจากหนี้ จึงไม่เป็นบาปอะไร กลับจะเป็นการช่วยไปเสียอีก และใครๆ จะฆ่าหรือทำร้ายใคร เมื่ออ้างว่าเป็นกรรมเก่าของเขา เขาก็ทำได้ทั้งนั้น และอาจอ้างเอาบุญคุณเสียอีกก็ได้ ว่าช่วยฆ่าเขาเป็นการช่วยเปลื้องหนี้กรรมให้แก่เขา อำมาตย์คนที่ ๓ ถูกโต้เช่นนี้ก็นิ่งไป

                   ชีปะขาวจึงกล่าวโต้อำมาตย์คนที่ ๔ ซึ่งถือลัทธิขาดสูญว่า ถ้าใครๆ ขาดสูญเสียหมด คือตายสูญไปเลยไม่ต้องเกิดอีกจะทำอะไรก็มุ่งประโยชน์เดี๋ยวนี้เท่านั้น แม้ว่าจะต้องทำมาตุฆาตปิตุฆาตเพื่อประโยชน์ของตนก็ทำได้ ไม่มีภายหน้าที่จะต้องรับผล ฉะนั้น ถ้าลัทธิของท่านดังกล่าวเป็นจริง แม้ว่าอาตมาจะฆ่าวานรก็ไม่มีบาปอะไรที่จะต้องไปรับ ตัวเราเองก็ขาดสูญ บาปและสิ่งทั้งหลายก็ขาดสูญไปเช่นกัน อำมาตย์คนที่ ๔ เมื่อถูกโต้ดังนั้นจึงเงียบไป

                   ชีปะขาวที่ท่านกล่าวว่าเป็นพระโพธิสัตว์ จึงถวายโอวาทพระราชามิให้เชื่อถือลัทธิของอำมาตย์ทั้งสี่เหล่านั้น และให้ทรงประพฤติธรรม ปกครองแว่นแคว้นโดยธรรม

                   เรื่องในชาดกที่เล่ามานี้ แสดงว่าแม้ผู้ที่ถือลัทธิว่าไม่มีความดีความชั่ว ก็ยังมีสามัญสำนึกอยู่ในความดีความชั่ว ซึ่งเป็นหลักความจริง จึงได้กล่าวตำหนิชีปะขาวโพธิสัตว์ไป โดยไม่ทันนึกถึงลัทธิของตนที่ถืออยู่ ฉะนั้น เรื่องของกรรมจึงเป็นเรื่องของความเป็นจริง ที่เป็นไปโดยธรรามดาสามัญ พระพุทธเจ้าก็ทรงเอาความจริงนี้แหละมาสั่งสอน มิได้ทรงแต่งเรื่องของกรรมขึ้นเอง ทั้งมิได้ทรงยักย้ายเปลี่ยนแปลงบิดผันไปจากความจริง ทรงชี้แจงแสดงเปิดเผยไปตามหลักความจริงเท่านั้น

                   ข้อที่กล่าวย้ำอีกก็คือ มักจะเข้าใจกันอีกอย่างหนึ่งว่า เรื่องของกรรมเป็นเรื่องอดีต คือล่วงมาแล้ว ในปัจจุบันเรามักมีหน้าที่ปล่อยตนให้เป็นไปตามกรรม ที่เรียกกันว่า ยถากรรมเท่านั้น จึงไม่คิดจะทำอะไร ถ้าเห็นดังนี้เป็นความเห็นผิดดังลัทธิของอำมาตย์ที่ถือว่าอะไรๆ เกิดเพราะกรรมปางก่อน (ปุพเพกตเหตุ) ดังกล่าวแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนมิให้เชื่อลัทธินี้ ถือว่าเป็นลัทธิภายนอกพระพุทธศาสนา และตรัสยกเวทนา สุข ทุกข์ ที่ทุกๆ คนได้รับอยู่เป็นตัวอย่าง ว่าเกิดเพราะโรคต่างๆ ในปัจจุบันก็มี เกิดเพราะกรรมเก่าก็มี ฉะนั้น เมื่อโรคเกิดขึ้นก็ต้องเยียวยา และต้องป้องกันรักษาตัวไม่ให้เกิดโรค ในด้านความประพฤติต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน ให้ละกรรมที่ทำชั่วทำกรรมที่ดี กรรมปัจจุบันนี้แหละเป็นข้อสำคัญแห่งชีวิตของทุกๆ คน คือ การที่เราทำอยู่เดี๋ยวนี้ ถ้อยคำที่เราพูดอยู่ เดี๋ยวนี้ เรื่องที่เราคิดอยู่เดียวนี้ เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องคอยตรวจดู ให้ตัวเราเองทำพูดคิดแต่ในทางที่ถูก ก่อให้เกิดคุณประโยชน์โดยส่วนเดียวเท่านั้น อย่าเอาเรื่องกรรมเก่ามาเป็นเครื่องตัดรอนคุณประโยชน์ มาทำให้นอนรอโชคลาภ ดังมีเรื่องเล่าเป็นคดีไว้ว่า

                   มีชาย ๒ คน ไปหาหมอดู หมอทำนายทายคนหนึ่งว่าจะได้เศวตฉัตร ทำนายอีกคนหนึ่งว่า จะลำบาก ชายคนที่ได้รับทำนายจะได้เศวตฉัตรก็ดีใจ นั่งนอนรอไม่ทำมาหากินอะไร ในที่สุดก็สิ้นทรัพย์สมบัติ ไปนอนเจ็บอยู่อย่างอนาถที่ป่ากลางทุ่งมีพระธุดงค์เดินผ่านมาพบเข้า มีจิตสงสาร จึงเอากลดไปปักให้ ชายผู้นั้นก็สิ้นใจในกลดของพระธุดงค์ ก็ได้เศวตฉัตรเหมือนกันเพราะคำว่า เศวตฉัตร แปลว่า ร่มขาว กลดของพระธุดงค์ก็เป็นร่มขาวชนิดหนึ่ง ส่วนชายอีกคนหนึ่งซึ่งได้รับคำทำนายว่าจะลำบาก เกิดความกลัวลำบาก จึงตั้งหน้าขวนขวายพากเพียรทำมาหากิน เก็บออมทรัพย์สินอยู่เรื่อยๆ มา จึงมีหลักฐานเป็นสุขสบายขึ้นโดยลำดับ แต่ก็ลำบากมาก่อนเป็นอันมากเรื่องนี้เป็นคติสอนใจว่า หน้าที่ของเราทุกๆ คนก็คือ ทำกรรมปัจจุบันนี้แหละให้ดียิ่งขึ้นๆ ไปแล