Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๔๒๓

 sungaracha

 sangharaja-section

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ความเข้าใจเรื่องกรรม

 

 

ชีวิตเนื่องด้วยกรรม

              ชีวิตของทุกคนเกี่ยวข้องกับกรรม ทั้งที่เป็นกรรมเก่า ทั้งที่เป็นกรรมใหม่ จะกล่าวว่าชีวิตเป็นผลของกรรมก็ได้ คำว่ากรรมเก่ากรรมใหม่นี้ อธิบายได้หลายระยะ เช่น ระยะไกล กรรมที่ทำแล้วในอดีตชาติ เรียกว่ากรรมเก่า กรรมที่ทำแล้วในปัจจุบันชาติ เรียกว่ากรรมใหม่ อธิบายอย่างนี้อาจจะไกลมากไป จนคนที่ไม่เชื่ออดีตเกิดความคลางแคลงไม่เชื่อ จึงเปลี่ยนมาอธิบายระยะใกล้ว่าในปัจจุบันชาตินี้แหละ กรรมที่ทำไปแล้วตั้งแต่เกิดมาเป็นกรรมเก่า ส่วนกรรมที่เพิ่งทำเสร็จลงไปใหม่ๆ เป็นกรรมใหม่ แม้กรรมที่จะเข้าใจหรือที่จะทำก็เป็นกรรมใหม่ เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจเรื่องชีวิตได้ดี จำต้องทำความเข้าใจเรื่องกรรมให้ดีด้วย

               คำว่า กรรม มีใช้ในภาษาไทยมาก เช่น กรรมการ กรรมกร กรรมาธิการ แต่ในภาษาที่พูดกัน เคราะห์ร้ายมักตกอยู่แก่กรรม เคราะห์ดีมักอยู่แก่บุญ ดังเมื่อใครประสบเคราะห์ร้าย คือทุกข์ภัยพิบัติต่างๆ ก็พูดว่าเป็นกรรม แต่เมื่อใครประสบเคราะห์ดีมักพูดว่าเป็นบุญ และมีคำพูดกันว่า บุญทำกรรมแต่ง เกณฑ์ให้กรรมเป็นฝ่ายดำ ให้บุญเป็นฝ่ายขาว ความเข้าใจเรื่องกรรมและคำที่ใช้พูดกันในภาษาไทยจักเป็นอย่างไร ให้งดไว้ก่อน ควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามความหมายในพระพุทธศาสนา

             คำว่า กรรม แปลว่า กิจการที่คนกระทำ คำว่า ทำ หมายถึงทั้งทำด้วยกาย อันเรียกว่ากายกรรม ทั้งทำด้วยวาจา คือพูดอันเรียกว่าวจีกรรม ทั้งทำด้วยใจคือคิด อันเรียกว่า มโนกรรม บางทีเมื่อพูดกันว่าทำ ก็หมายถึงทำทางกายเท่านั้น ส่วนทางวาจาเรียกว่าพูด ทางใจเรียกว่าคิด แต่เรียกรวมได้ว่า เป็นการทำทุกอย่าง เพราะจะพูดก็ต้องทำ คือทำการพูด จะคิดก็ต้องทำคือทำการคิด จึงควรทำความเข้าใจว่า ในที่นี้คำว่าทำ ใช้ได้ทุกอย่าง เมื่อได้ฟังว่าทำทางกาย ก็เข้าใจว่าทำอะไรด้วยการที่เข้าใจอยู่แล้ว เมื่อได้ฟังทางวาจา ก็ให้เข้าใจว่าพูดอะไรต่างๆ เมื่อได้ฟังว่าทำทางใจ ก็ให้เข้าใจว่าคิดอะไรต่างๆ ก็การฟังคำพูดอธิบายหลักวิชาอาจขวางหูอยู่บ้าง แต่เมื่อเข้าใจความหมายแล้วก็จักสิ้นขัดขวาง กลับจะรู้สึกว่าสะดวก เพราะเป็นคำที่มีความหมายลงตัวแน่นอน

               คำว่า กรรม มักแปลกันง่ายๆ ว่า การทำ แต่ผู้เพ่งศัพท์และความ แปลว่า กิจการที่บุคคลทำ ดังกล่าวแล้ว ถ้าแปลว่าการทำ ก็ไปพ้องกับคำว่า กิริยา คำว่า กิริยา แปลว่าการทำโดยตรง ส่วนคำว่า กรรมนั้น หมายถึงตัวกิจหรือการงานที่กระทำ ดังคำที่พูดในภาษาไทยที่ถูกต้อง เช่น กสิกรรม พาณิชยกรรม และคำอื่นที่ยกไว้ข้างต้น คำเหล่านี้ล้วนหมาย ถึงกิจการอย่างหนึ่งๆ ที่สำเร็จจากการทำ (กิริยา)


 

 

 

ชีวิตเนื่องด้วยกรรม