Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๔๒๒

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ธรรมะประดับใจ

 

๔๙. ความหมายของคำว่า ธรรม

                   ทุกคนน่าจะรู้จักคำว่าธรรม แต่จะรู้จักถูกต้องเพียงไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพื่อให้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมเพิ่มขึ้น จึงจะขออธิบายคำว่าธรรม ที่ตรงกันข้ามกับอธรรม คือธรรมหมายถึงคุณ ซึ่งเป็นเครื่องเกื้อกูล ส่วนอธรรมหมายถึงโทษ ซึ่งเป็นเครื่องตัดรอน ธรรมคือคุณซึ่งเป็นเครื่องเกื้อกูลนี้เรียกว่าความดีก็ได้ หมายถึงเป็นความดีหรือส่วนดีแห่งกรรม คือการงานที่กระทำทางกายทางวาจาทางใจ อันเป็นส่วนภายนอก และหมายถึงคุณอันเป็นเครื่องเกื้อกูลหรือความดีทางจิตใจ อันได้แก่ธรรมที่เป็นเครื่องเกื้อกูลใจให้บรรลุถึงความบริสุทธิ์และความดีทุกอย่างเป็นส่วนภายใน ธรรมดังกล่าวนี้เป็นหลักสำคัญ ที่ต้องมีคู่กับสัจจะอันจะขาดเสียมิได้ เพราะว่าถ้าขาดธรรมเสียแล้วสัจจะก็จะดำเนินไปในทางที่ผิดได้ คือเมื่อเป็นสัจจะอันประกอบด้วยอธรรมก็ย่อมบังเกิดผลเป็นทุกข์เป็นโทษต่าง ๆ ยิ่งเป็นสัจจะที่แรงกล้าก็ยิ่งประกอบด้วยโทษด้วยทุกข์ที่แรงกล้า ดังจะพึงเห็นได้ว่าสัจจะของโจรเป็นสัจจะที่ประกอบด้วยอธรรม คือโจรผู้กระทำการฆ่าเขาบ้าง การลักของเขาบ้างเป็นต้น ก็ต้องมีสัจจะคือการทำจริง ต้องมีการฆ่าเขาจริง มีการลักของเขาจริง ประกอบด้วยความอดทนเป็นต้น ในการที่จะประกอบทำการฆ่าการลักนั้น แต่ว่าเป็นสัจจะที่ประกอบด้วยอธรรม เพราะว่าการฆ่าเขาบ้างการลักของเขาบ้างนั้นเป็นอธรรม คือเป็นกรรมที่เป็นโทษตัดรอน หาได้เป็นธรรมไม่ เพราะฉะนั้นผู้มีสัจจะอันประกอบด้วยอธรรมนั้นจึงกลายเป็นโจรไป ผู้ที่ทำความชั่วอย่างอื่นก็เช่นเดียวกัน ย่อมมีสัจจะอันประกอบด้วยอธรรมจึงกระทำความชั่วนั้น ๆ สำเร็จได้ สัจจะอันขาดธรรมหรือสัจจะอันประกอบด้วยอธรรมจึงมีโทษมีทุกข์ แต่เมื่อมีธรรมเข้ามาประกอบสัจจะจึงจะมีการกระทำอันเป็นคุณเกื้อกูลให้บังเกิดความสุขความเจริญได้ทุกอย่าง ดังจะพึงเห็นได้ว่าบุคคลผู้มีจิตใจประกอบด้วยธรรมเป็นต้นว่าประกอบด้วยเมตตา กรุณาหรือประกอบด้วยความไม่โลภไม่โกรธไม่หลง และมีสัจจะคือทำจริงพูดจริงตั้งใจจริงในการประกอบกรณีคือกิจที่ควรทำดั่งนี้ ย่อมอำนวยให้เกิดประโยชน์สุขตั้งแต่ส่วนน้อยจนถึงส่วนที่ยิ่งใหญ่ไพศาล จะพึงเห็นสัจจะและธรรมดังกล่าวได้ในท่านผู้เป็นมารดาบิดาครูอาจารย์ ตลอดจนในบุคคลทั้งหลายผู้ปฏิบัติกรณียให้บังเกิดสุขประโยชน์แก่ตนเองก็ตาม แก่ส่วนใดส่วนหนึ่งก็ตามหรือแก่ส่วนใหญ่ก็ตาม ถ้าแม้ขาดสัจจะและธรรมคู่นี้แล้ว จะทำสิ่งใดให้เกิดประโยชน์สุขขึ้นหาได้ไม่ พึงพิจารณาดูได้ ตั้งแต่ตนเองออกไป หรือจากบุคคลอื่นภายนอกเข้ามาที่ตนเอง ก็จะเห็นได้ว่าบรรดากรณียที่บังเกิดสุขประโยชน์ทุก ๆ อย่าง ของทุก ๆ คนไม่ว่าใคร จะต้องมาจากสัจจะ และธรรมดังที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดถ้าขาดเสียแล้วก็ไม่ให้บังเกิดผลสำเร็จ หรือให้บังเกิดผลที่ตรงกันข้าม คือที่เป็นทุกข์โทษ เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงทรงยกสัจจะและธรรมเป็นธรรมอันเป็นหลักสำคัญที่พึงประพฤติปฏิบัติทรงมีพระพุทธโอวาทไว้ แปลความว่า สัจจะ ๑ ธรรม ๑ อวิหิงสา ๑ ทมะ ๑ มีในบุคคลใด อริยชนทั้งหลายย่อมเสพหาบุคคลนั้นสัจจะและธรรมนั้นมีความหมายดังกล่าวแล้ว อหิงสาแปลว่าความไม่เบียดเบียน ทั้งกาย วาจา ใจ สัญญมะ ก็คือความสำรวมระวัง และทมะคือความฝึกใจข่มใจ

                   ธรรมหมวดนี้ ควรที่ทุกคนจะได้นำมาประพฤติปฏิบัติให้ได้ผลยิ่ง ๆ ขึ้น เพื่อให้การอบรมจิตสมบูรณ์โดยแท้.