Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๔๒๑

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ธรรมะประดับใจ

 

๔๘. เห็นผิดเป็นชอบ

                   ในมรรคมีองค์แปด คือทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์นั้น มีสัมมาทิฐิความเห็นชอบเป็นสำคัญที่สุด และในทุกกรณีสัมมาทิฐิความเห็นชอบมีความสำคัญที่สุดเสมอ ดังนั้นการอบรมจิตที่สำคัญที่สุดจึงได้แก่การทำความเห็นชอบให้เกิดขึ้นขาดความเห็นชอบในเรื่องใด ความดำริชอบ ความปฏิบัติชอบ ในเรื่องนั้นก็จักมีไม่ได้ ผลสำเร็จในเรื่องนั้นก็จักเกิดไม่ได้ แม้นึกดูว่าสัมมาทิฐิความเห็นชอบยังอาจดำเนินไปถึงความดับทุกข์ หรือพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงได้ ก็น่าจะเห็นด้วยได้ว่าสัมมาทิฐิความเห็นชอบย่อมจะต้องพาให้ดำเนินไปถึงความสำเร็จที่เล็กน้อยกว่านั้น ทั้งหลายได้ เมื่อความสำเร็จสูงสุดคือความดับทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิงเกิดได้จากสัมมาทิฐิความเห็นชอบ แล้วไฉนความสำเร็จที่เล็กน้อยกว่านั้นจะเกิดจากสัมมาทิฐิความเห็นชอบไม่ได้ จึงกล่าวไว้ข้างต้นว่าการอบรมความเห็นชอบให้เกิดขึ้นเป็นการอบรมจิตที่สำคัญที่สุด มีความจำเป็นที่สุดสำหรับผู้ปรารถนาความสำเร็จในชีวิต เกี่ยวกับทุกเรื่อง ในทางตรงกันข้าม ความเห็นผิด คือมิจฉาทิฐิ จะเป็นทางแห่งความหายนะได้ทุกประการ จึงพึงสำรวจตรวจดูทิฐิคือความเห็นของตนให้รอบคอบอยู่เสมอ ไม่ควรประมาท ไม่ควรวางใจ เพราะจักเป็นทางแห่งความตายได้โดยง่าย

                   ที่กล่าวกันอยู่เสมอว่าเห็นผิดเป็นชอบ ก็หมายถึงความเห็นผิดนั่นเอง ก็คงจะเห็นกันอยู่แล้วว่าทุกคราวที่มีการกล่าวว่าเห็นผิดเป็นชอบจะต้องมีผลร้ายเกิดขึ้นทุกครั้ง ไม่เคยมีผลดีเกิดขึ้น แล้วจะมีการกล่าวว่าเพราะเห็นผิดเป็นชอบเลย นี่ก็เป็นเครื่องยืนยันที่แน่นอนว่าความเห็นผิดเป็นสิ่งให้โทษ ตรงกันข้ามกับความเห็นชอบที่เป็นสิ่งให้คุณแน่นอนเสมอ ไม่มีกรณียกเว้นใด ๆ เลย และไม่มียกเว้นสำหรับผู้ใดเลยด้วย ไม่ว่าจะเป็นใครทั้งนั้น แม้เห็นผิดแล้วย่อมได้รับโทษของความเห็นผิด แต่แม้เห็นชอบแล้วย่อมได้รับคุณของความเห็นชอบ

                   ความเห็น ทั้งความเห็นผิดและความเห็นชอบ เป็นเรื่องของใจ และใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จด้วยใจ นั่นก็คือใจเป็นฝ่ายบงการ และใจย่อมบงการไปตามอำนาจของความเห็น ใจที่มีความเห็นชอบย่อมบงการให้เกิดความดำริชอบ ปฏิบัติชอบทางการงานและการเลี้ยงชีพ เจรจาชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ ส่วนใจที่มีความเห็นผิดก็ย่อมบงการให้เกิดความดำริผิด ปฏิบัติผิดทางการงานและการเลี้ยงชีพ เจรจาผิด เพียรผิด ระลึกผิด ตั้งใจผิด กล่าวได้ว่าถ้าใจมีความเห็นชอบตลอดสายที่อยู่ใต้อำนาจของใจก็จะเป็นชอบทั้งหมด แต่ถ้าใจมีความเห็นผิด ตลอดสายภายใต้อำนาจของใจก็จะเป็นผิดหมดเช่นกัน รวมทั้งผลที่จะต้องเป็นไปในรูปเดียวกันด้วยคือสายใดใจเห็นผิดผลก็ผิดด้วย สายใดใจเห็นชอบผลก็ชอบด้วย ผลผิดก็คือผลที่เป็นโทษ และผลชอบก็คือผลที่เป็นคุณ

                   ความเห็นผิดเกิดจากโมหะคือความหลง มีโมหะในเรื่องใดจักมีความเห็นผิดในเรื่องนั้น เช่นหลงว่ากงจักรเป็นดอกบัวก็มี ความเห็นผิดว่ากงจักรมิใช่กงจักร แต่เป็นดอกบัว หรือหลงว่าคนเลวเป็นคนดี ก็มีความเห็นผิดว่าคนเลวมิใช่คนเลวแต่เป็นคนดี ความหลงและความเห็นผิดเช่นนี้ไม่ต้องอธิบายก็เป็นที่ตระหนักแก่ใจกันดีแล้วว่ามีโทษเป็นผลแน่นอน

                   หนทางที่จะแก้ความหลงและอบรมความเห็นชอบให้เกิดได้ก็คือต้องอบรมปัญญา อบรมเหตุผล โดยอาศัยพระธรรมของพระพุทธเจ้า ใจรับพระธรรมได้เพียงใดความหลงจะน้อยลงเพียงนั้น ความเห็นชอบในเรื่องทั้งหลายจะเพิ่มขึ้นเพียงนั้น แล้วจะไม่ก่อภัยให้กับตนเอง ตลอดถึงไม่ก่อภัยให้เกิดกับผู้อื่นอันเป็นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นั่นเอง.