Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๔๑๙

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ธรรมะประดับใจ

 

๔๖. สุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี

                   สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี พระพุทธดำรัสมีไว้เช่นนี้ สำหรับผู้ที่มีความสงบอยู่ หรือเคยพบความสงบบ้างแม้เพียงไม่มากมายนัก ย่อมเห็นว่าเป็นความจริง แต่จะว่าไปแล้ว ทุกคนเคยพบความสงบ ไม่มากก็น้อย เพียงแต่ว่าบางคนไม่สังเกตให้รู้จึงไม่อาจรู้ได้ว่าความสงบเป็นความสุข การนำเรื่องนี้มากล่าวก็เพื่อให้ใส่ใจดูให้เห็นความสงบที่ตนได้พบอยู่ หรือที่มีในตน มีในใจตนนั่นเอง เพราะเมื่อเห็นความสงบก็จะเห็นความสุขไปด้วยพร้อมกัน ความสุขนี้เป็นที่ปรารถนาอย่างยิ่งเสมอของทุกคน ใครเล่าไม่ปรารถนาความสุขทุกเวลา ดังนั้นเมื่อเห็นเมื่อรู้ว่าความสุขเกิดจากความสงบ ก็จักมีกำลังใจอบรมเพิ่มพูนความสงบให้ยิ่งขึ้นซึ่งจะเป็นผลดีอย่างแน่นอน ทั้งแก่ส่วนตนและส่วนรวม

                   ความสงบแบ่งออกเป็นสองอย่าง คือความสงบภายนอกและความสงบภายใน ความสงบภายนอกได้แก่ความไม่มีเสียงรบกวน ความไม่ชุลมุนวุ่นวาย ความไม่ยุ่งยากเดือดร้อน เหล่านี้เป็นต้น เช่นสถานที่ใดไม่มีเสียงอึกทึกครึกโครมก็เรียกได้ว่าสถานที่นั้นมีความสงบ เป็นสถานที่สงบ ประเทศชาติใดไม่มีความยุ่งยากเดือดร้อน ประชาชนพลเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ก็เรียกได้ว่าเป็นประเทศชาตินั้นมีความสงบ เป็นประเทศชาติที่สงบ บุคคลใดไม่มีความชุลมุนวุ่นวาย ไม่อยู่ในที่วุ่นวาย ไม่แสดงความวุ่นวาย ก็เรียกได้ว่าบุคคลนั้นมีความสงบ เป็นบุคคลที่สงบ นี้เป็นความสงบภายนอก

                   ความสงบภายในได้แก่ความสงบใจ ความสงบของจิตใจคือใจมีความสงบ ซึ่งก็มีความหมายทำนองเดียวกับความสงบภายนอก คือไม่วุ่นวาย ไม่เดือดร้อน ไม่ยุ่งยาก ใจที่สงบคือใจที่ไม่วุ่นวาย ไม่เดือดร้อน ไม่ยุ่งยาก มีความเย็น มีความสงบ

                   อย่างไรก็ตาม ความสงบภายนอกและความสงบภายในเป็นสิ่งเกี่ยวข้องกัน เกี่ยวเนื่องกัน ความสงบภายนอกเป็นเหตุประกอบทำให้เกิดความสงบภายใน และความสงบภายในก็เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความสงบภายนอก แต่ความสงบภายนอกนั้นบางทีก็ทำให้เกิดมีขึ้นไม่ได้ นอกจากจะสามารถทำความสงบภายในให้เกิดมีขึ้นเสียก่อน เช่น ปัญหาความวุ่นวายยุ่งยากของผู้คนอันเป็นความไม่สงบภายนอก บางทีก็ทำให้สิ้นสุดยุติไม่ได้ เพราะไม่อาจทำให้ทุกคนพอใจได้เหมือนกันหมด เมื่อคนจำนวนมากไม่พอใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ตาม ใจก็วุ่นวายเร่าร้อน ใจก็ปราศจากความสงบ ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องก่อความไม่สงบให้เกิดขึ้น ด้วยการกระทำคำพูด เพราะใจเป็นใหญ่ใจเป็นประธานทุกสิ่งสำเร็จ คือเกิดขึ้นเป็นไปตามอำนาจของใจ ความคิด การกระทำ คำพูด ก็เกิดขึ้นเป็นไปตามอำนาจของใจ ถ้าใจดีความคิดก็จะดี การกระทำคำพูดก็จะดี ถ้าใจไม่ดีความคิดก็จะไม่ดี การกระทำคำพูดก็จะไม่ดี ดังนั้นถ้าใจไม่สงบความคิดก็จะเป็นไปในทางไม่สงบ จะเป็นไปในทางก่อความไม่สงบภายนอก การกระทำคำพูดก็จะเป็นไปในทางไม่สงบด้วย ในทางตรงกันข้าม ถ้าใจสงบความคิดก็จะเป็นไปในทางสงบ จะเป็นไปในทางก่อความสงบภายนอก การกระทำคำพูดก็จะเป็นไปในทางก่อความสงบด้วย

                   อันความสงบและความไม่สงบทั้งภายในภายนอกมีผลดีร้ายแตกต่างกันอย่างแน่นอน ความไม่สงบไม่มีที่จะให้ผลดีและความสงบก็ไม่มีที่จะให้ผลร้าย นั่นก็คือความไม่สงบมีโทษสถานเดียว ส่วนความสงบมีคุณสถานเดียว ดังนั้นผู้มุ่งอบรมจิตให้มีปัญญา ให้มีความสุข ให้เป็นจิตที่มีคุณ จึงต้องอบรมจิตให้เป็นจิตที่มีความสงบ ที่มีสมาธิ วิธีหนึ่งคือให้พิจารณากาย คือลมหายใจ หายใจเข้าให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ หรือหายใจเข้าจะภาวนาพุทหายใจออกภาวนาโธก็ได้เช่นกัน ทำดังนี้ด้วยความมีสติประคับประคองอยู่ สมาธิคือความสงบของจิตจะเกิดได้ จะดำรงอยู่ได้ตามควรแก่การปฏิบัติ.