Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๔๑๗

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ธรรมะประดับใจ

๔๔. ปัตตาทารธรรม

                   บัดนี้มีความเจริญแผนใหม่ต่าง ๆ เกิดขึ้นเป็นอันมาก บางส่วนก็นำความเจริญมาให้ เช่นการจัดตั้งโรงเรียนสอนศิลปวิทยาต่าง ๆ และการพัฒนาอาชีพต่าง ๆ เป็นต้น เป็นการส่งเสริมปัญญาอันเป็นแสงสว่างที่จะนำทางของชีวิตสืบไปภายหน้า การบำรุงทางปัญญาอันเกี่ยวแก่การศึกษานี้เป็นสิ่งจำเป็น ฉะนั้นจึงควรช่วยกันบำรุงการศึกษาและอบรมลูกหลานให้เล่าเรียนศึกษาให้ได้ปัญญาอันเป็นแสงสว่างดังกล่าว แต่ว่ายังมีอีกส่วนหนึ่งที่เป็นดวงปัญญาอันประเสริฐ คือเป็นดวงปัญญาอันบังเกิดขึ้นในธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นแสงสว่างที่นำให้เรารู้จักชั่วดี ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ตลอดจนถึงให้รู้จักสัจจธรรม ธรรมที่เป็นตัวความจริง อันเป็นเครื่องบำบัดทุกข์ เป็นปัญญาที่สำคัญ ฉะนั้นทุกคนจึงควรศึกษาให้รู้จักพระพุทธศาสนาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และอบรมลูกหลานให้รู้จักพระพุทธศาสนา ให้ได้ปัญญาในพระพุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่งด้วย

                   ปัญญาทั้งสองส่วนนี้คือปัญญาทางโลกอันได้แก่การศึกษาเล่าเรียน ก็เป็นสิ่งจำเป็น ปัญญาทางธรรมคือการรู้จักคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็เป็นสิ่งจำเป็น

                   ผู้ที่เล่าเรียนทางโลกมีความรู้มากขึ้น มิใช่เป็นคนดีเสมอไป ใช้ความรู้ไปในทางที่ผิด เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นก็มีมาก เมื่อเป็นคนไม่ดีแล้วก็สามารถทำความชั่วได้มากกว่าคนที่มีความรู้น้อย ส่วนความรู้ทางธรรมนั้นเป็นความรู้อันบริสุทธิ์เป็นความรู้ที่คอยเตือนใจเราอยู่เสมอว่านั่นเป็นความชั่วไม่ควรทำ นี่เป็นความดีต้องรีบทำ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าอะไรเป็นความชั่ว อะไรเป็นความดี เพราะฉะนั้นปัญญาทางธรรมจึงเป็นปัญญาอันบริสุทธิ์ และยิ่งมีความรู้ทางโลกดีด้วย ก็จะสามารถใช้ความรู้นั้นประกอบสิ่งที่เป็นประโยชน์ตนประโยชน์ท่านมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นทุกคนจึงควรอบรมปัญญาทางธรรมด้วย

                   คนเรานั้นย่อมมีความโน้มน้อมไปในทางชั่วได้ง่ายกว่าในทางดี เพราะถูกกิเลสตัณหาคอยดึงใจไปสู่ทางต่ำเสมอดังจะเห็นได้ว่าคนเราทำความชั่วต่าง ๆ โดยที่ไม่ได้รับการสั่งสอนจากใคร เพราะฉะนั้นปัญญาอันบริสุทธิ์ในพระพุทธธรรมจึงจำเป็นสำหรับทุกคน เพื่อเป็นเครื่องห้ามเครื่องกันมิให้คนทำความชั่ว แต่จะคอยหนุนให้ขึ้นไปสู่ความดีโดยลำดับ

                   เราทั้งหลายได้มาพบพระพุทธศาสนาอันเป็นมรดกสืบมาแต่บรรพบุรุษ จนทำให้โน้มน้อมขึ้นมาสู่ธรรม สามารถที่จะปฏิบัติใน ทาน ศีล ภาวนา บัดนี้จึงได้นำหลักธรรมที่ว่าด้วยวิธีปฏิบัติอันจะนำพระสัจจธรรมศาสนาให้เจริญไม่เสื่อมตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ ๕ ประการมาแสดงดังต่อไปนี้

                   ๑. ตั้งใจฟังธรรมโดยเคารพ

                   ๒. ตั้งใจเรียนธรรมโดยเคารพ

                   ๓. ตั้งใจทรงจำธรรมไว้โดยเคารพ

                   ๔. ตั้งใจพิจารณาให้รู้เนื้อความของธรรมที่ทรงจำไว้นั้นโดยเคารพ

                   ๕. ตั้งใจปฏิบัติธรรมกล่าวคือเมื่อรู้ธรรมรู้อรรถคือเนื้อความของธรรมแล้ว ก็ตั้งใจปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมโดยเคารพ

                   การปฏิบัติธรรมข้อใดข้อหนึ่งนั้นต้องให้เหมาะแก่ความประสงค์ที่ต้องการในธรรมข้อนั้น เช่นการทำทานมิใช่ว่าไปลักขโมยเขาหรือหยิบยืมเขามาทำทาน แต่ต้องแสวงหาทรัพย์โดยสัมมาอาชีพให้เกิดมีทรัพย์ขึ้นเสียก่อนแล้วจึงให้ทาน และให้โดยการเลือกให้ คือให้สิ่งที่ควรให้แก่บุคคลที่ควรให้ ดังนี้จึงจะเป็นกุศลทาน สัปปุริสทาน และชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม การทำทานนั้นต้องรู้ความประสงค์อีกประการหนึ่งว่าเพื่อกำจัดโลภะ มัจฉริยะ ในสันดานของตนเมื่อทำทานก็ให้ตั้งใจว่าเราจะให้ทานเพื่อกำจัดโลภมัจฉริยะในสันดารของตน.