Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๔๑๔

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ธรรมะประดับใจ

 

 ๔๑. พรหมวิหาร ๔ ธรรมเป็นเหตุให้เกิดสุข

                   คุณลักษณะของผู้มีพรหมวิหารธรรมที่ถูกต้องแท้จริงคือมีเมตตาที่ประกอบด้วยอุเบกขา มีกรุณาที่ประกอบด้วยอุเบกขา มีมุทิตาที่ประกอบด้วยอุเบกขา และมีอุเบกขาที่พร้อมด้วยเมตตา กรุณา และมุทิตา จะเห็นได้ว่าผู้มีพรหมวิหารธรรมที่แท้จริงนั้น ต้องมีธรรมทั้งสี่ประการพร้อมเพรียงกันบริบูรณ์ไม่ขาดตกบกพร่องทุกเวลา ไม่มีอย่างหนึ่งอย่างใดตามลำพังโดดเดี่ยว เพราะถ้ามีธรรมประการหนึ่งประการใดตามลำพังก็จะมีทางผิดไปจากทางของธรรมที่ถูกต้องแท้จริงได้ เช่นถ้ามีแต่อุเบกขาก็จะเป็นความใจจืดใจดำได้อย่างแน่นอน แต่ถ้ามีอุเบกขาที่ประกอบด้วยเมตตา กรุณา และมุทิตา ก็จะเป็นธรรมที่แท้จริง ไม่ผิดไปจากธรรม หรือถ้ามีแต่เมตตากรุณามุทิตาไม่มีอุเบกขาประกอบไปพร้อมกัน ก็จะเป็นการเห็นกับพวกพี่น้องผู้เป็นที่รักชอบของตน เป็นการเห็นแก่ตัวได้อย่างแน่นอน และจะเป็นการให้โทษได้ไม่น้อยกว่าเป็นการให้คุณ ดังได้เคยกล่าวถึงแล้ว คือเมื่อเมตตากรุณาแล้วไม่อาจทำให้เป็นไปตามที่ปรารถนาต้องการได้ ก็ย่อมจะร้อนรนถ้าปราศจากอุเบกขาความวางใจเป็นกลาง

                   ดังนั้นถ้าจะอบรมพรหมวิหารธรรมก็อย่าเห็นว่าเมตตา กรุณาเท่านั้นสำคัญ มุทิตาและอุเบกขาก็สำคัญอย่างยิ่ง ไม่มีเมตตากรุณาก็จะมีใจโหดเหี้ยม ไม่มีมุทิตาก็จะมีอิจฉาริษยา ไม่มีอุเบกขาก็จะไม่รู้จักวางเฉยไม่รู้จักปล่อยวาง ยึดมั่นอยู่ความโหดเหี้ยม ความอิจฉาริษยา ความยึดมั่นไม่ปล่อยวางย่อมเป็นความไม่สวยไม่งามย่อมไม่เป็นที่พึงปรารถนา ฉะนั้นถ้าปรารถนาจะไม่ต้องได้ชื่อว่าเป็นคนโหดเหี้ยมอิจฉาริษยาหรือไม่ปล่อยวางก็ต้องอบรมพรหมวิหารธรรม เพื่อให้จิตพ้นจากสภาพที่ไม่งดงามไม่เป็นที่พึงปรารถนาดังกล่าว

                   ผู้ปรารถนาให้ตนเองมีจิตใจดี มีจิตใจสูง มีจิตใจเย็นสบาย ควรต้องใช้เวลาทุกวันอบรมพรหมวิหารธรรมคือแผ่เมตตาไปในทิศทั้งปวง ปรารถนาให้ทุกชีวิตมีความสุข จะใช้วิธีท่องเรื่อยเปื่อยไปนั้นไม่ได้ ต้องให้เกิดขึ้นในใจจริง ๆ คือต้องให้ความรู้สึกปรารถนาให้เป็นสุขนั้นเกิดขึ้นในใจจริง ๆ จะด้วยการนึกภาพให้เห็นรวม ๆ กันไปว่าต่างก็กำลังมีความสุขก็ได้ เมื่อนึกให้ภาพนั้นเกิดขึ้นในใจได้แล้ว ก็ให้อบรมมุทิตาด้วยการทำใจให้แช่มชื่นยินดีในภาพที่เห็นนั้น เรียกว่าพลอยยินดีด้วยกับความสุขของผู้อื่น

                   ทุกวัน อย่างน้อยวันละหนึ่งเวลา หรือทุกเวลาที่มีโอกาส ให้ทำจิตดังกล่าว จะเป็นการอบรมพรหมวิหารธรรมให้เกิดขึ้น ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งก็เท่ากับเป็นการยกระดับจิตของตนเองให้สูงขึ้น ให้งดงามขึ้น ทำตนเองนั่นแหละให้เป็นสุข ให้ได้รับเมตตา กรุณา ก่อนผู้อื่นทั้งหมด.