Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๔๑๓

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ธรรมะประดับใจ

 

๔๐. อุเบกขาการวางเฉย

                   เคยมีหลายคนปรารภว่าไม่เป็นสุขเพราะได้เห็นได้ยิน ได้ฟังการกระทำคำพูด ของคนนั้นบ้างคนนี้บ้าง และปรารภว่าปรารถนาจะวางอุเบกขาแต่ก็ทำไม่สำเร็จ ทำให้คิดว่าการวางอุเบกขาในกรณีดังกล่าวจะเกิดได้อย่างไร และก็มีคำตอบว่าอุเบกขาที่ถูกต้องจริง ๆ จะต้องเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ มิใช่โดยการพยายาม คือมิใช่พยายามวางเฉย ซึ่งการพยายามวางเฉยนั้นมักจะเป็นการวางเฉยที่ขาดเมตตากรุณา รวมทั้งมุทิตาพลอยยินดีด้วย พูดอีกอย่างก็คือความใจดำความไม่มีน้ำใจมักจะแฝงมาในรูปของอุเบกขาความวางเฉย ซึ่งแน่นอนเหลือเกินสำหรับพุทธศาสนิกชนแล้วเป็นการไม่ถูกต้อง อุเบกขาที่ถูกต้องเป็นอุเบกขาที่ไม่ขาดเมตตากรุณารวมทั้งมุทิตาด้วย นั่นก็คือมีเมตตากรุณามุทิตาให้มากที่สุดเสียก่อน ยังไม่มีก็ทำให้มีขึ้นเสีย มีแล้วยังน้อยก็เพิ่มพูนให้มากขึ้น ต่อจากนั้นอุเบกขาความมีใจเป็นกลางวางเฉยไม่หวั่นไหวก็จะเกิดขึ้นได้เอง พึงพิจารณาดูว่าจะเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร เมื่อพิจารณาให้จริงให้ถูกต้องก็ย่อมจะเห็น ย่อมจะเข้าใจ

                   อุเบกขาเป็นหนึ่งในพรหมวิหารธรรม ๔ คือเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เมตตานั้นคือความปรารถนาให้เป็นสุข กรุณาคือการช่วยให้พ้นทุกข์ มุทิตาคือความพลอยยินดีด้วยเมื่อผู้อื่นได้ดี และอุเบกขาคือความวางใจเป็นกลางวางเฉย ในพรหมวิหารธรรมทั้ง ๔ นี้ เมตตาเป็นประการต้นในการนำมาพูดถึงและก็เป็นประการต้นเช่นเดียวกัน ที่ผู้ปรารถนาจะมีพรหมวิหารธรรมพึงอบรมให้เกิดขึ้น หรือพึงเพิ่มพูนให้มากยิ่งขึ้น คือแม้รู้สึกตัวว่าเป็นผู้ขาดเมตตาก็ให้อบรมให้เมตตาเกิดขึ้นให้ได้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ให้ส่งเสริมเพิ่มพูนให้มากยิ่งขึ้น โดยไม่มีขอบเขตเมตตานั้นเป็นสิ่งไม่ควรมีขอบเขต คือควรแผ่ไปได้อย่างกว้างขวาง ปราศจากขอบเขต ไม่ว่าจะเป็นสัตว์หรือในบุคคล ในผู้เป็นญาติเป็นมิตรหรือเป็นศัตรู ในผู้ที่อาจเห็นได้หรือไม่อาจเห็นได้ ทั้งหมดคืออย่างไม่จำกัด ไม่มีขอบเขตสิ้นสุดเป็นผู้ที่ควรได้รับเมตตาพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย พึงระลึกใส่ใจเช่นนี้ และพึงแผ่เมตตาไปให้ได้เช่นนี้ ไม่พึงนึกว่านั่นเป็นมิตรพึงได้รับเมตตานั่นเป็นศัตรูไม่พึงได้รับเมตตา นั่นเป็นคนดีพึงมีเมตตาให้ นั่นเป็นคนร้ายไม่พึงมีเมตตาให้ อะไรทำนองนี้ไม่ถูกต้อง ไม่เรียกว่ามีพรหมวิหารธรรมข้อเมตตาอย่างสมบูรณ์ จะเป็นมิตรเป็นศัตรูเป็นคนดีเป็นคนร้าย พึงแผ่เมตตาคือปรารถนาให้เป็นสุขได้ทั่วกัน เมื่อมีเมตตาเกิดอยู่ประจำใจแล้ว เป็นธรรมดาที่กรุณาคือการช่วยให้พ้นทุกข์ก็จะเกิดตามมาได้เองโดยไม่จำเป็นต้องอบรมพรหมวิหารธรรมข้อนี้ คิดตามเหตุผลก็จะเห็นว่าต้องเป็นไปเองเช่นนั้น เพราะเมื่อปรารถนาให้เป็นสุขแล้วก็ต้องช่วยให้พ้นทุกข์เมื่อเห็นว่ากำลังมีทุกข์ และเมื่อเมตตากรุณาเกิดแล้วมุทิตาความพลอยยินดีด้วยก็จะเกิดขึ้นเองอีกเช่นกัน เพราะช่วยให้เขาพ้นทุกข์ได้ ไฉนจะพลอยยินดีด้วยไม่ได้เมื่อเขาพ้นทุกข์หรือเมื่อเขามีความสุข พรหมวิหารธรรมสามข้อต้นเกิดเป็นห่วงติดต่อกันได้เช่นนี้ตามเหตุผลที่กล่าวมา อุเบกขาก็เกิดติดต่อมาได้โดยอัตโนมัติเช่นเดียวกัน คือเมื่อเมตตาเต็มที่แล้ว กรุณาเต็มที่แล้ว มุทิตาเต็มที่แล้ว ใจตนเองย่อมประจักษ์ความไม่บกพร่องของตน ย่อมไม่เห็นหนทางอื่นที่จะจำเป็นต้องปฏิบัติเพื่อเพิ่มพูนธรรมดังกล่าวให้ยิ่งขึ้นอีก หรือกล่าวอีกอย่างก็คือย่อมไม่เห็นทางที่จะทำอย่างอื่นได้อีกแล้วเพื่อเพิ่มพูนธรรมเหล่านี้ เมื่อรู้ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดเต็มที่แล้ว เหมือนข้าวน้ำจัดหาไว้เต็มภาชนะทั้งหมดแล้ว ความขวนขวายอีกต่อไปก็ไม่มีใจย่อมวางเฉย คือย่อมมีอุเบกขาได้ ฉะนั้นอุเบกขาจึงเกิดโดยอัตโนมัติติดตามเมตตากรุณาและมุทิตามาเอง มิต้องใช้ความพยายาม.