Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๔๑๐

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ธรรมะประดับใจ

 

๓๗. การทำใจให้พ้นทุกข์

                   ทุกคนมีความทุกข์ ทุกคนพยายามแก้ไขเพื่อจะให้พ้นทุกข์ แต่น้อยคนที่จะเริ่มการแก้ไขให้ถูกวิธี คือเริ่มด้วยการทำตนให้เชื่อเสียก่อนว่าความทุกข์นั้นเกิดจากความคิดของตนเอง ไม่ได้เกิดจากอะไรอื่นภายนอกขอให้เริ่มเชื่อเสียก่อน ยอมรับเสียก่อนว่าความทุกข์ของตนเกิดจากความคิดของตนเอง พยายามเตือนตนเองให้เชื่อเช่นนี้ไว้ให้เสมอ พยายามอย่าลืม พยายามอย่าปล่อยใจให้คิดโทษนั่นโทษนี่ว่าเป็นเหตุแห่งความทุกข์ของตน

                   ทุกครั้งที่ความทุกข์เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทุกข์มากหรือทุกข์น้อย เมื่อรู้สึกว่าเป็นทุกข์ให้เตือนตัวเองให้ยอมรับความจริงทันทีว่าความทุกข์นั้นไม่ได้เกิดจากเหตุอื่น แต่เกิดจากความคิดของตนเองจริง ๆ พยายามอย่าแย้ง ไม่ว่าตนจะมีเหตุผลที่ดูเหมือนเข้าที หรือดูเหมือนจะถูกต้องก็ตาม ก็อย่าแย้ง เมื่อต้องการจะช่วยใจตนให้พ้นทุกข์ที่กำลังได้รับอยู่ ก็ต้องพยายามฝืนใจเชื่อว่าความคิดของตนเองเป็นเหตุแห่งความทุกข์นั้น

                   เรากำลังหาวิธีช่วยตนเองให้พ้นทุกข์ ฉะนั้นก็ต้องยอมรับวิธีที่ถูกต้อง ที่พระพุทธองค์ทรงรับรองแล้วนั่นก็คือต้องยอมรับว่าวิธีแก้ทุกข์ที่จะได้ผลจริงนั้นต้องแก้ที่ใจตนเองเท่านั้น ถ้าแก้ทุกข์ที่ใจตนเองสำเร็จแล้วจะไม่มีทุกข์อื่นเกิดแก่ตนได้เลย ความจริงเป็นเช่นนี้แน่นอน เมื่อต้องการไม่มีทุกข์ก็ต้องพยายามข่มใจข่มความคิดที่ต้องการจะแย้งความจริงนี้เสียให้สำเร็จ ต้องพยายามยอมรับว่าเหตุผลของตนเองที่คิดว่าความทุกข์เกิดจากการพูดการกระทำของคนอื่นนั้นไม่ถูกต้อง ทั้งยังเป็นเหตุผลที่จะเพิ่มทุกข์ให้แก่ตนเองยิ่งขึ้น

                   จับพิจารณาที่พอจะเห็นจริงได้ง่ายเสียก่อน คือพิจารณาที่ว่าการคิดว่าผู้อื่นเป็นเหตุแห่งความทุกข์ของตนนั้นเป็นโทษจริงหรือไม่ เพิ่มทุกข์ให้ยิ่งขึ้นจริงหรือไม่

                   ตัวอย่างเช่น เมื่อมีผู้เจรจาด้วยอย่างไม่ถูกหู เกิดความไม่ชอบใจเป็นอย่างน้อย เกิดความโกรธเป็นอย่างมาก ความไม่ชอบใจหรือความโกรธเรียกได้ว่าเป็นความทุกข์ เพราะเป็นความไม่สบายใจ เมื่อเกิดความทุกข์นั้นแทนที่จะคิดว่าความทุกข์นั้นเกิดเพราะตนเองกลับไปคิดปรุงว่าเขาว่า เขาก้าวร้าว เขาดูถูก อะไรทำนองนี้ แทนที่จะทำให้ความไม่สบายใจหรือความทุกข์ลดน้อยลงหมดสิ้นไป ก็กลับจะยิ่งทำให้ใจร้อน ใจโกรธ ใจเป็นทุกข์ยิ่งขึ้นรุนแรงขึ้น ยิ่งคิดปรุงไปมากเท่าไร ความร้อนหรือความทุกข์ก็จะมากขึ้นเท่านั้น นานอยู่เพียงนั้น ขอให้พิจารณาให้ดี ทุกคนย่อมจะยอมรับว่าเป็นความจริงเช่นนี้

                   แต่ถ้าไม่คิดปรุงออกไปโทษผู้อื่น แต่ยอมรับเสียโดยดีว่าความทุกข์เกิดแต่ความคิดของตนเอง การยอมรับนั้นก็จะนำให้ยอมแก้ไขความคิดของตนเอง และทันทีที่ยอมแก้ความคิดของตนเอง ความทุกข์จะหยุด เช่นถ้าคิดว่าเขากำลังก้าวร้าวอยู่ด้วยวาจาที่รุนแรง ก็ให้หยุดความคิดนั้นเสีย ไม่คิดต่อไป วิธีหยุดความคิดเช่นนั้นที่จะทำได้ในทันที เกิดผลทันที ก็ด้วยการเปลี่ยนไปคิดจดจ่อในเรื่องอื่นสิ่งอื่น วิธีที่พุทธศาสนิกชนทำกันได้ผลเป็นอย่างยิ่งก็คือ เมื่อความร้อนเกิดขึ้นเพราะความปรุงคิด ก็ท่องพุทโธ พุทโธ แทนเสียทันที ท่องให้ติดต่อกัน จนความคิดที่เป็นความร้อน เป็นความทุกข์ สงบ สงบขนาดที่จะไม่กลับเกิดอีกในระยะนั้น ใจมีความสงบเย็นได้ในระยะนั้น ก็เป็นอันใช้ได้ เป็นวิธีแก้ทุกข์ที่ถูกต้องวิธีหนึ่ง ซึ่งไม่ยาก ควรทำเป็นอย่างยิ่ง.