Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๔๐๙

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ธรรมะประดับใจ

 

๓๖. โทษของการยึดมั่นกับอดีต

                   ความคิดผูกพันกับอดีตเป็นทุกข์ได้อย่างยิ่ง เป็นทุกข์ได้ยืดเยื้อ ตัวอย่างง่าย ๆ ก็เช่นเมื่อได้รับฟังเสียงหรือได้เห็นภาพที่ไม่ถูกหูถูกตา เสียงนั้นภาพนั้นจะผ่านหูผ่านตาไปในทันที เป็นอดีตไปในทันที แต่ความไม่พอใจหรือความโกรธจะไม่ผ่านไปในทันทีด้วย เสียงขาดหายไปแล้วแต่ใจก็ยังปรุงคิดถึงเสียงนั้นอยู่ ภาพลับตาไปแล้วแต่ใจก็ยังปรุงคิดถึงภาพนั้นอยู่ ความไม่ชอบใจ หรือความโกรธที่เกิดพร้อมกับเสียงกับภาพจึงไม่ดับไปพร้อมกับเสียงกับภาพ แต่จะยืดเยื้ออยู่พร้อมกับความคิดยึดมั่นในอดีต

                   พิจารณาเหตุผลตามความถูกต้องเป็นจริง ก็ย่อมจะประจักษ์ ว่าความไม่ชอบใจหรือความโกรธที่มีอยู่นั้นไม่ใช่เพราะเสียงของใครภาพอะไร แต่เป็นเสียงที่ตนเองคิดผูกพันไว้ และเป็นภาพที่ตนเองคิดผูกพันไว้ ความคิดของตนเองจึงเป็นผู้นำทุกข์มาใส่ตนเอง ไม่ใช่ทุกข์เกิดจากอะไรอื่น อย่างน้อยที่สุดควรจะให้ความทุกข์เกิดดับไปพร้อมกับรูปเสียง จึงจะถูก ได้ยินเสียงไม่ชอบใจถ้าจะเกิดความไม่ชอบใจในขณะได้ยินเสียงนั้น ห้ามไม่ได้จริง ๆ ก็ช่างเถิด แต่เมื่อเสียงนั้นดับแล้ว ผ่านพ้นไปแล้วต้องให้ความไม่ชอบใจดับไปด้วย ผ่านพ้นไปด้วย จึงจะถูก จึงสามารถช่วยตนเองให้มีความสบายใจได้

                   ถ้าไม่ชอบใจอยู่นาน ๆ โกรธอยู่นาน ๆ แล้วก็โทษคนนั้นคนนี้ โทษสิ่งนั้นสิ่งนี้ ว่าเป็นต้นเหตุให้ต้องโกรธเช่นนี้ผิด ต้องโทษตัวเอง โทษความคิดของตัวเอง และต้องพยายามคิดให้เห็นว่านั้นเป็นโทษของการยึดมั่นผูกพันกับอดีต ยึดมั่นอยู่นานเพียงไร ก็จะได้รับทุกข์อยู่นานเพียงนั้น ปล่อยความยึดมั่นได้เร็วเพียงไรก็จะพ้นจากความทุกข์เร็วเพียงนั้น

                   อย่าโทษผู้อื่นสิ่งอื่นไม่ว่าจะเกี่ยวกับความทุกข์ใดทั้งสิ้นให้พยายามโทษตนเอง และแก้ไขที่ตนเองไม่เช่นนั้นแล้วความทุกข์จะไม่สิ้นสุดหยุดลงได้เลย มีแต่จะเพิ่มขึ้น ลองคิดง่าย ๆ เมื่อโทษว่าคนนั้นคนนี้เป็นเหตุให้เราเป็นทุกข์ ความโกรธก็จะเพิ่มขึ้นจะคุกรุ่นอยู่ นั้นคือความทุกข์ เพราะจะทำให้ไม่สบายใจ ก็เมื่อมีความร้อนด้วยความโกรธจะสบายได้อย่างไร

                   ที่จริง ใคร ๆ ไม่อยากจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ผิด จึงไม่มีใครที่จะยอมง่าย ๆ ว่าตนเป็นผู้ผิด มักจะโทษผู้อื่นเสียทั้งนั้น นี้แหละเป็นการให้โทษแก่ตนเองอย่างยิ่ง เป็นการให้โทษแก่ตนเองโดยตรง เรียกว่าเป็นศัตรูของตนเอง ทั้งยังเป็นศัตรูที่ร้ายที่สุดที่มีโอกาสจะดำรงความเป็นศัตรูอยู่ได้อย่างไม่ได้รับการปราบปราม หรือต่อต้าน เชื่อพระพุทธเจ้า และโทษตนเอง แก้ที่ตนเองอย่าโทษผู้อื่น อย่าแก้ผู้อื่น และการแก้ที่ตนเองก็คือการแก้ที่ใจ แก้ที่ความคิดในใจนี้แหละ ไม่ต้องไปแก้ที่ไหนให้มากที่มากแห่งไป ที่ซึ่งจะต้องแก้มีอยู่แห่งเดียว หาพบได้ง่าย ไม่ต้องเที่ยวค้นหาที่ไหน ๆ ให้ยุ่งยาก ดูใจตนเองนี้แหละ ดูความคิดของตนเองนี้แหละ จะเห็นผิดเห็นถูกที่ใจตนเองหรือที่ความคิดของตนเองนี้อย่างแน่นอนและถ้าต้องการความสุขจริง ๆ แล้ว ก็พยายามแก้ไขขัดเกลาใจตนเอง ที่ความคิดของตนเองนี้แหละอย่าได้ว่างเว้นจะนั่งนอนยืนเดินก็ทำได้ แก้ได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องหาเวลาหาโอกาสหาสถานที่ ว่าเมื่อนั้นเมื่อนี้ที่นั่นที่นี่จึงจะทำได้ ทุกโอกาสทุกสถานที่เหมาะสมกับการแก้ทุกข์ด้วยการแก้ใจแก้ความคิดของตนเองทั้งสิ้น.