Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๔๐๘

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ธรรมะประดับใจ

 

๓๕. การสำรวจใจตนเอง

                   ดูความคิดก็คือดูใจนั่นเอง ดูความคิดเห็นว่าคิดดีหรือไม่ดีก็คือดูใจเห็นว่าใจดีหรือใจไม่ดี ใจร้อนหรือใจเย็น ใจเป็นสุขหรือใจเป็นทุกข์

                   ดูทำไม ดูให้เห็น ให้รู้ ให้มีช่องทางแก้ไขปรับปรุงอบรมขัดเกลา จิตที่มีความคิดที่ดีก็รักษาไว้ส่งเสริมให้ดีขึ้น จิตที่ไม่ดีความคิดที่ไม่ดีละเสียวางเลย นอกจากเจ้าตัวเองแล้วผู้อื่นที่ไหนจะมารู้มาเห็นจิตใจของใครได้ถูกต้องตามความเป็นจริง จะรู้จะเห็นก็แต่เพียงคาดคะเนจากกิริยาวาจาซึ่งแสดงออกเท่านั้น ซึ่งบางทีการแสดงออกก็มิได้ตรงกับจิตใจเสมอไป เหมือนบางคนชมสิ่งนั้นสิ่งนี้ว่าสวยงามด้วยวาจาเพื่อเอาใจเจ้าของ แต่ใจจริงแล้วมิได้คิดเหมือนที่พูดออกไปเลย บางคนพูดดีเพื่อรักษามารยาทแต่ใจจริงก็มิได้คิดดีเช่นที่พูด บางคนมีกิริยาสงบเสงี่ยมเรียบร้อยพูดจาเป็นอรรถเป็นธรรมแต่ใจมิได้เป็นเช่นนั้นก็มีเช่นนี้จึงไม่ใช่ง่ายที่ใครจะดูใจใครเห็นให้ตรงตามเป็นจริง นอกจากเจ้าตัวเองเท่านั้น ดังนั้นใจของใคร ใครก็ต้องดูเอาเอง ผู้ที่ไม่เคยดูใจของตนเองเลย จะไม่มีโอกาสรู้จักตัวเองตามเป็นจริงความคิดของผู้นั้นจะกระเจิดกระเจิงไปอย่างไม่มีขอบเขต ไม่มีเวลาหยุดหย่อน ผลที่ได้รับก็จะเป็นโทษแก่เจ้าตัวอย่างมิต้องสงสัย

                   ทุกคนควรต้องดูใจตนเอง อย่างน้อยก็สักวันละเวลาสองเวลา แต่ที่ดีที่สุด สมควรทำที่สุดก็คือดูอยู่เสมอทุกลมหายใจเข้าออก จะพูดอะไร หยุดดูใจตนเองดูความคิดของตนเองเสียก่อนว่ากำลังคิดจะพูดจะทำสิ่งที่สมควรแล้วหรือ จะไม่เป็นโทษภัยแก่ตนหรือ จะไม่เป็นโทษภัยแก่ผู้อื่นหรือ ถ้าเห็นว่าจะเป็นทุกข์โทษแก่ตนเองหรือแก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็มีสติบังคับ อย่าให้ตนแสดงออกทางกิริยาวาจา การจะพูดจะทำสิ่งที่เป็นทุกข์โทษไม่ว่าแก่ตนเองหรือแก่ผู้ใดไม่สมควรเลย ยิ่งกว่านั้นการก่อทุกข์โทษแก่ผู้อื่นก็มิได้หมายความว่าทุกข์โทษนั้นจะไม่ถึงตนเอง ทุกคนที่ก่อทุกข์โทษให้แก่ผู้อื่นจะต้องได้รับทุกข์โทษนั้นด้วยตนเองอย่างแน่นอนเสมอไปเพียงแต่ว่าบางทีจะไม่ปรากฏชัดแจ้งในทันทีเท่านั้น และการไม่ปรากฏชัดในทันทีหรือที่เรียกว่าทันตาเห็นนี้เอง ที่ทำให้ส่วนมากหลงก่อทุกข์โทษภัยให้แก่ผู้อื่นโดยคิดว่าผู้อื่นเท่านั้นที่ได้รับทุกข์โทษภัยจากการกระทำของตน ส่วนตัวเองได้ชื่นชมสมใจเพราะได้แก้แค้นสำเร็จบ้าง หรือได้ปฏิบัติไปตามอำนาจความอิจฉาริษยาบ้าง ความเกลียดชังรังเกียจบ้าง

                   ความจริงนั้น พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงสั่งสอนไว้แล้วว่า ผู้ใดทำกรรมใดไว้จะได้รับผลของกรรมนั้น การก่อโทษทุกข์แก่ผู้อื่น เป็นการทำกรรมทางกายทางวาจาและทางใจด้วย เพราะใจต้องก่อขึ้นก่อนจึงจะออกมาทางกายทางวาจา เพราะฉะนั้นความคิดนั่นแหละจึงเป็นตัวก่อกรรมที่สำคัญ อย่าว่าแต่จะถึงกับแสดงออกแล้วจึงจะเป็นกรรมเลย เพียงแต่คิดอยู่ในใจไม่ทันได้แสดงออกหรือปกปิดเสียไม่แสดงออกก็ยังเป็นกรรมแล้วอย่างแน่นอน ให้คุณให้โทษแก่ตนเองแล้วอย่างแน่นอน ฉะนั้นจึงต้องระวังความคิดหรือใจนี่แหละให้ดี พยายามทำสติให้ติดต่อเพื่อจะได้ดูใจตนเองได้ติดต่อกันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จะได้มีโอกาสกำจัดความคิดที่ไม่ดีให้บรรเทาเบาบางลงมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ได้มีโอกาสเป็นคนดีมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ด้วย เพราะความคิดที่ดีนั่นเองที่สร้างคนให้เป็นคนที่ดี เช่นเดียวกับความคิดที่ไม่ดีที่สร้างคนให้เป็นคนไม่ดี.