Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๔๐๗

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ธรรมะประดับใจ

 

๓๔. อดีต ปัจจุบัน อนาคต

                   เมื่อพูดถึงอดีต อนาคต และปัจจุบัน มักจะเข้าใจกันว่าอดีตคือเวลาที่ล่วงนานแล้ว อย่างน้อยก็เป็นวันและโดยมากมักจะคิดว่าอดีตหมายถึงที่ล่วงแล้วเป็นปีเป็นชาติทีเดียว ส่วนอนาคตก็มักจะเข้าใจกันว่าคือเวลาที่อีกนานกว่าจะมาถึง เป็นเดือนเป็นปีเป็นชาติกันทีเดียว และปัจจุบันก็เข้าใจกันว่ามีช่วงระยะยาวเป็นเดือนเป็นปีเป็นชาติเหมือนกัน

                   แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น อดีต ปัจจุบัน อนาคต อยู่ชิดกัน กลมกลืนกัน ไม่ได้แยกห่างกันเหมือนที่เข้าใจกันดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่นเมื่อหายใจเข้าและกำลังหายใจออก หายใจเข้าคืออดีตที่กำลังหายใจออกคือปัจจุบัน อนาคตก็ต่อติดกันมาไม่ว่างเว้น ตัวอย่างลมหายใจเข้าออกที่นำมายกนี้ความจริงก็ยังทำให้ อดีตปัจจุบัน และอนาคตห่างจากกันอยู่ ที่จริงแล้วแม้ช่วงหายใจเข้าหรือออกช่วงเดียวก็มีอดีต ปัจจุบัน และอนาคตอยู่ในตัวเองพร้อมบริบูรณ์ทั้งสามกาล กล่าวได้ว่าระยะเวลาที่สั้นเพียงไรก็ตามมีอดีต ปัจจุบัน และอนาคตอยู่พร้อมบริบูรณ์เสมอถ้าจะไม่ยึดมั่นในอดีต ไม่ใฝ่ใจไปถึงอนาคต อยู่แต่กับปัจจุบันจริง ๆ แล้ว อย่างถูกต้อง จริง ๆ แล้ว ต้องถือดังกล่าวคือทุกระยะมีอดีต ปัจจุบัน และอนาคตอยู่ในตัว

                   พูดอีกอย่างก็คือ สิ่งที่เกิดแล้ว เช่นพูดออกจากปากแล้วเป็นอดีตแล้วในทันที ที่กำลังพูดอยู่หรือกำลังเงียบอยู่นั่นเป็นปัจจุบัน และอนาคตก็ติดต่อกับปัจจุบันนั่นเอง นั่นก็หมายความว่าสิ่งที่เกิดแล้วดับแล้วเป็นอดีตทั้งหมด ไม่ว่าจะดับไปนานหรือในระยะที่ติดต่ออยู่นั้นก็ตามเป็นอดีตทั้งหมด อนาคตก็หมายความถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดทั้งหมด เวลาที่ยังมาไม่ถึงทั้งหมด ส่วนปัจจุบันนั้นเหมือนระยะเวลาสั้นนิดเดียว แต่ความจริงแล้วปัจจุบันยาวอย่างยิ่ง มีปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา

                   คนเรามีปัจจุบันอยู่ยาวแสนยาว แต่ก็ยังหลงผูกพันอยู่กับอดีต ไปใฝ่ถึงอนาคต นี่ก็เป็นเพราะความหลงมีความหลงจัดเพียงไหน ก็จะพาให้พ้นไปจากปัจจุบันได้มากเพียงนั้น ไปผูกพันยึดมั่นกับอดีต ไปใฝ่ถึงอนาคต รุนแรงเพียงนั้น ความจริงก็มิได้ไปผูกพันยึดมั่นอดีตหรือไปใฝ่ถึงอนาคตด้วยเนื้อตัวของตน

อย่างไร ไปด้วยความคิดเท่านั้น ความคิดนี้แหละเป็นสื่อ หรือเป็นทาสที่สำคัญของความหลงจัดการกับความคิดของเราเสียให้ดี บังคับไว้ให้ได้ ให้เป็น

                   ทาสของเรา อย่าให้เป็นทาสของความหลงเราไม่ต้องการเป็นทุกข์ เราก็ต้องบังคับความคิดให้ได้ ถ้าไม่บังคับความคิดของเราเองให้ได้ เราก็จะต้องเป็นทุกข์เพราะความคิดของเราเอง จะไปโทษว่าผู้อื่นทำให้เราเป็นทุกข์ไม่ได้ ขืนโทษเช่นนั้นอยู่ตราบใด เราก็จะไม่มีวิธีแก้ทุกข์ตราบนั้น จะต้องเป็นทุกข์อยู่ตราบนั้น

                   ควบคุมความคิดให้ดี ความคิดใดทำให้ไม่สบายใจ ให้ยอมรับทันทีว่าความคิดนั้นต้องยุติ ต้องไม่ปล่อยไว้ให้มีอยู่ต่อไปเปลี่ยนไปคิดถึงเรื่องอะไรอื่นที่ให้ความสบายใจก็ได้ หรือให้ดียิ่งขึ้นก็ท่องพุทโธ พุทโธ เสียเถิดจะได้เป็นสุขแน่นอน.