Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๔๐๕

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ธรรมะประดับใจ

 

๓๒. การดูความคิดของตนเอง

                   ความคิดของทุกคนแยกออกได้เป็นสองอย่าง อย่างหนึ่ง คือความคิดที่เกิดด้วยอำนาจของกิเลส มีโลภ โกรธ หลง อีกอย่างหนึ่งคือความคิดที่พ้นจากอำนาจของความโลภ โกรธ หลง ความคิดอย่างแรกเป็นเหตุให้ทุกข์ให้ร้อน ความคิดอย่างหลังไม่เป็นเหตุให้ทุกข์ให้ร้อน

                   ความคิดอย่างแรกนั้นมีประจำอยู่แทบจะไม่มีเวลาว่างเว้น เพราะกิเลสมีอยู่เป็นประจำ โอกาสที่จะสอดแทรกมากับความคิดนึกตรึกตรองจึงย่อมต้องมีอยู่เป็นประจำเป็นธรรมดา อย่างไรก็ตาม บางครั้งบางคราวบางคนแม้จะยังมีกิเลสก็ยังสามารถมีความคิดนึกที่กิเลสไม่มีอำนาจบันดาลได้ ทุกคนอาจดูความคิดของตนให้เห็นได้ว่ามีอำนาจของกิเลสอยู่เหนือมากน้อยเพียงใด

                   วิธีดูก็เช่น เมื่อจะช่วยเหลืออะไรใครสักอย่าง ให้ดูใจของตนว่าเป็นการช่วยเพื่อหวังอนุเคราะห์โดยบริสุทธิ์ใจจริง หรือเป็นการช่วยเพื่อหวังผลตอบแทน ถ้าเป็นการช่วยโดยบริสุทธิ์ใจจริงก็กล่าวได้ว่ากิเลสไม่มีอำนาจเหนือในความคิดนั้น ถ้าเป็นการช่วยเพื่อหวังจะได้ลาภยศสรรเสริญอย่างใดอย่างหนึ่งตอบแทนก็กล่าวได้ว่ากิเลสมีอำนาจเหนือความคิดนั้น เป็นความโลภบ้าง เช่นอยากได้ลาภยศสรรเสริญดังกล่าว เป็นความโกรธบ้างเช่นช่วยฝ่ายหนึ่งเพราะโกรธเกลียดอีกฝ่ายหนึ่ง

                   เมื่อจะแสดงเมตตากรุณาก็เช่นกัน มีได้ทั้งอย่างบริสุทธิ์ใจจริง และมีได้ทั้งเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้มีเมตตาก็เป็นไปตามอำนาจของกิเลสอีกเช่นกัน คนอื่นอาจจะรู้หรืออาจจะไม่รู้ว่าเรามีเมตตาจริงใจหรือแสดงออกเพียงเพื่อให้ใคร ๆ เห็นว่ามีเมตตา แต่ตัวเองของทุกคนต้องรู้ว่าใจตนเป็นอย่างไร ผู้ที่ใจไม่มีเมตตา แต่เป็นห่วงกลัวว่าใคร ๆ จะว่าไม่มีเมตตา จึงต้องฝืนแสดงความเมตตา เช่นนี้จะไม่เป็นประโยชน์แก่จิตใจตนเองเลย มีแต่จะเพิ่มความไม่สะอาดให้ยิ่งขึ้น เจตนาที่จะปกปิดความจริงในใจไม่ให้ผู้อื่นเห็น โดยพยายามแสดงให้เห็นไปอีกรูปหนึ่งเช่นนี้เป็นการไม่สะอาด เป็นการไม่ช่วยตนเองในทางที่ถูก ที่จริงแล้วเมื่อรู้ว่าเรื่องใดสิ่งใดไม่ช่วยให้ตนเป็นที่นิยมยกย่อง แทนที่จะปกปิดกลบเกลื่อนเสียด้วยการเสแสร้งแสดงให้ตรงกันข้าม ควรจะแก้ไขให้เป็นจริงอย่างที่ต้องการจะให้ผู้อื่นเห็น จึงจะถูกต้อง จึงจะเป็นประโยชน์แก่ตนเอง ผู้ที่ฝืนแสดงเมตตาทั้ง ๆ ที่ใจจริงไม่เป็นเช่นนั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือผู้ที่ได้รับเมตตาที่ฝืนแสดงออก

นั่นเอง เจ้าตัวเองไม่ได้ ถึงแม้จะมีบางคนบางพวกหลงเชื่อหลงชื่นชมยินดียกย่อง แต่ก็หาเป็นคุณแก่เจ้าตัวเองไม่ ความจริงตนเป็นอย่างไรสำคัญกว่าที่ผู้อื่นแลเห็น ใจจริงดี แม้ผู้อื่นจะไม่เห็นไม่รับรู้ ก็ไม่เป็นโทษแก่เจ้าตัว และถ้าเป็นความดีที่สูงเพียงพอก็จะไม่ทำให้หวั่นไหวแม้จะถูกมองไปในทางตรงกันข้าม เช่นแม้เป็นผู้มีเมตตาจริงใจแล้ว ใครจะเห็นหรือไม่เห็น มีโอกาสแสดงออกหรือไม่มี เจ้าตัวเองก็ย่อมจะรู้ตัวเอง มีความเยือกเย็นอยู่ในตัวเอง

                   อาจจะเปรียบได้กับภาชนะใส่น้ำ ภาชนะลักษณะเดียวกันขนาดเดียวกัน ลึกตื้นเท่ากัน คือภาชนะเหมือนกันทุกอย่างสองอัน ภาชนะหนึ่งรองพื้นด้วยฟางด้วยหญ้าด้วยอิฐหินเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วใส่น้ำไว้ข้างบนจนเต็ม ดูเผิน ๆ จะคิดว่ามีน้ำมาก อีกภาชนะหนึ่งมีน้ำเต็มเปี่ยมแต่มีใบไม้ใบตองปิดอยู่ข้างหน้า ดูเผิน ๆ อาจคิดว่าไม่มีน้ำ ผู้ไม่มีเมตตากรุณาที่แสดงออกเพียงให้คนอื่นเห็นว่ามีเมตตากรุณามากเปรียบเหมือนภาชนะพวกแรกส่วนผู้มีเมตตามากมายในใจ ไม่แสดงออกวุ่นวายทำเหมือนปิดทองหลังพระ ก็อาจทำให้ผู้อื่นเห็นว่าไม่มีเมตตาเปรียบเหมือนภาชนะพวกหลัง เมื่อเปรียบเทียบกันจริงแล้วผู้มีคุณอย่างแท้จริงต้องเป็นพวกหลัง เช่นเดียวกับภาชนะพวกหลังที่มีน้ำมากจริงควรทำตนเป็นอย่างภาชนะพวกหลังจะเป็นคุณกว่า ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น.