Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๔๐๔

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ธรรมะประดับใจ

 

๓๑. วิธีแก้ความไม่สบายใจ

                   ทุกคนมีความไม่สบายใจด้วยกัน ด้วยเรื่องนั้นบ้าง ด้วยเรื่องนี้บ้าง มากบ้าง น้อยบ้าง แต่ทุกคนจัดการกับความไม่สบายใจของตนด้วยอุบายวิธีที่ได้ผลแตกต่างกัน บางคนแก้ไขได้ผลดี ความไม่สบายใจลดน้อยลงจนถึงหมดไป แม้เพียงครั้งคราวบางคนแก้ไขไม่ได้ผลดี ความไม่สบายใจเพิ่มขึ้น ดังนั้นอุบายวิธีสำหรับแก้ความไม่สบายใจจึงมีความสำคัญเป็นอันมาก เลือกอุบายที่ถูกต้องเหมาะสมกับความไม่สบายใจจึงจะสามารถแก้ไขได้

                   วิธีแรกที่ควรทำด้วยกันทุกคนก็คือเมื่อรู้สึกไม่สบายใจ ให้รีบระงับเสียในทันที อย่ามัวชักช้า ตั้งสติให้ได้ในทันที รวมใจไม่ให้ความคิดวุ่นวายไปสู่เรื่องอันเป็นเหตุแห่งความทุกข์ความไม่สบายใจ อย่าอ้อยอิ่งลังเลว่าควรจะต้องคิดอย่างนั้นก่อน ควรจะต้องคิดอย่างนี้ก่อน ทั้ง ๆ ที่ความไม่สบายใจหรือความร้อนเริ่มกรุ่นขึ้นในใจแล้วถ้าต้องการความสบายใจ ก็ต้องเชื่อว่าไม่มีความคิดใด ๆ ทั้งสิ้นที่จำเป็นต้องคิดก่อนต้องทำใจให้รวมอยู่ ไม่ให้วุ่นวายไปในความคิดใด ๆ ทั้งนั้น ต้องเชื่อว่าต้องรวมใจไว้ให้ได้ในจุดที่ไม่มีเรื่องอันเป็นเหตุแห่งความร้อนเกี่ยวข้องที่ท่านสอนให้ท่องพุทโธก็ตาม ให้ดูลมหายใจเข้าออกก็ตาม นั่นคือการสอนให้ใจไม่วุ่นวายซัดส่ายไปหาเรื่องร้อนเป็นวิธีที่จะให้ผลจริงแท้แน่นอน ไม่ต้องเคลือบแคลงสงสัย ผู้ปฏิบัติตามทุกคนจะต้องได้รับผลประจักษ์ใจตนเอง ส่วนผู้ไม่ปฏิบัติตามและลังเลสงสัยไม่เชื่อผลของการปฏิบัติดังกล่าว ก็จะต้องได้รับความร้อนใจไม่เป็นสุขอยู่อย่างไม่มีทางแก้ไขอย่างแน่นอน

                   ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับความยากลำบากใจอย่างใดทั้งสิ้น ให้มั่นใจว่าการจะทำให้ความยากลำบากนั้นคลี่คลาย จะต้องกระทำเมื่อมีจิตใจสงบเยือกเย็นแล้วเท่านั้น ในที่เร่าร้อนขุ่นมัวไม่อาจคิดนึกตรึกตรองให้เห็นความปลอดโปร่งได้ ไม่อาจช่วยให้ร้ายกลายเป็นดีได้ สละเวลาทำความสงบให้เกิดขึ้นแก่จิตใจเสียก่อน อย่าคิดว่าจะเป็นการเสียเวลา อย่าคิดว่าเป็นความงมงายที่จะปฏิบัติสิ่งที่เรียกกันว่าธรรม ในขณะที่กำลังมีปัญหาประจำวันวุ่นวาย ขอให้เชื่อว่ายิ่งมีปัญหาชีวิตมากมายหนักหนาเพียงไร ยิ่งจำเป็นต้องทำจิตใจให้สงบเยือกเย็นเพียงนั้น พยายามฝืนใจไม่นึกถึงปัญหายุ่งยากทั้งหลายเสียชั่วเวลาเพียงเล็กน้อย เพื่อเตรียมกำลังไว้ต่อสู้แก้ไข กำลังนั้นคืออำนาจที่เข้มแข็งของใจที่สงบ

                   ใจที่สงบมีพลังเข้มแข็ง และเข้มแข็งทั้งสติปัญญา คือใจที่สงบจะทำให้มีสติมากมีปัญญามากและแจ่มใสไม่ขุ่นมัว ความแจ่มใสนี้เปรียบเสมือนแสงสว่าง ที่สามารถส่องให้เห็นความควรไม่ควร คือควรปฏิบัติอย่างไร ไม่ควรปฏิบัติอย่างไร ในที่สงบก็จะรู้ชัดถูกต้อง ตรงกันข้ามกับใจที่วุ่นวายไม่แจ่มใส ซึ่งเปรียบเหมือนความมืด ย่อมไม่สามารถช่วยให้เห็นความถูกต้องได้มีแต่จะพาให้ผิดพลาดเท่านั้น.