Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๔๐๒

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ธรรมะประดับใจ

 

๒๙. ปัญญาเป็นอำนาจอันประเสริฐ

                        อำนาจนั้นทุกคนย่อมรู้จักดี และใคร ๆ ก็อยากมีอำนาจ อำนาจนั้นมี ๒ อย่าง คืออำนาจที่มีอยู่โดยธรรมชาติ ๑ อำนาจที่มีอยู่ด้วยปัญญา ๑ อำนาจที่มีโดยธรรมชาตินั้นก็คือเรี่ยวแรงของสัตว์ดิรัจฉาน เรี่ยวแรงของมนุษย์ตามธรรมชาติ อำนาจแบบนี้สัตว์มีเหนือกว่ามนุษย์มาก เช่นอำนาจของเสือช้างเป็นต้น ส่วนอำนาจที่มีด้วยปัญญานั้นคือปัญญาความคิดอ่านของมนุษย์นั่นเอง อำนาจแบบนี้มีเหนือสัตว์ดิรัจฉานมากมาย และก็เพราะปัญญานี้เองทำให้มนุษย์สามารถเอาชนะสัตว์ดิรัจฉานแม้ที่มีกำลังเรี่ยวแรงเหนือกว่ามากมายได้ และก็ปัญญานี้เองที่สร้างความเจริญต่าง ๆ แก่โลก แต่ว่ามีความเจริญหลายอย่างเกิดเป็นความไม่สมดุลย์กับธรรมชาติ

                        เกี่ยวกับความไม่สมดุลย์นี้ สันนิบาตสภากาชาดแห่งโลกก็ได้ให้ความสนใจและวิงวอนให้มนุษย์ตระหนักถึงความไม่สมดุลย์กันของสิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น กับธรรมชาติ ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่มนุษยชาติในอนาคตได้ แม้ปัจจุบันนี้ก็ทำให้เกิดอากาศเสีย น้ำเสีย และสิ่งที่เสียหายอื่น ๆ อันเป็นอันตรายต่อ

สุขภาพอนามัยของมนุษย์อยู่แล้ว

                        มนุษย์เรานั้นมีปัญญาเป็นอำนาจอันประเสริฐที่จะสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาได้ แต่ปัญญาของมนุษย์เรานั้นมี ๒ อย่างคือ ปัญญาที่ไม่บริสุทธิ์และปัญญาที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่ไม่บริสุทธิ์นั้นเป็นตัณหาความทะยานอยาก เป็นไปในทางทำลาย เป็นเหตุให้สร้างสรรค์เครื่องทำลายต่าง ๆ ขึ้น ส่วนปัญญาที่บริสุทธิ์นั้นก็เช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นเครื่องให้พ้นจากตัณหาและความทุกข์ต่าง ๆ ได้ตรัสรู้พระธรรมแล้วทรงแสดงธรรมสั่งสอนประชาชนก่อตั้งพระพุทธศาสนาขึ้น ทำให้เกิดแสงสว่างแก่โลก

                        เราทั้งหลายนั้นต่างก็แวดล้อมอยู่ด้วยปัญญาทั้งสองอย่างนี้ ถ้าหากเราไม่ละเลยต่อพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสียแล้ว เราก็จะได้พบกับปัญญาที่บริสุทธิ์ มีสติปัญญาประพฤติตนให้มีความสุขสวัสดีอยู่ในโลกได้ และก็จะประกอบกรรมอันเป็นเครื่องส่งเสริมให้เกิดความสมดุลย์ทางธรรมชาติกับสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย อำนวยให้มนุษยชาติอยู่เป็นสุขเกษม

                        ฉะนั้นจึงขอนำเอาธรรมหมวดหนึ่งมาแสดงในที่นี้ มี ๗ ประการ เรียกว่าวัตรบทเจ็ด คือ ๑. เลี้ยงดูมารดา บิดา ๒. เคารพนบน้อมต่อญาติผู้ใหญ่ในตระกูล ๓. กล่าวถ้อยคำนิ่มนวล ๔. เว้นถ้อยคำที่ส่อเสียดยุยง ๕. ให้ในทางที่กำจัดความตระหนี่ของตน ๖. มีสัจจะ คือมีความซื่อสัตย์ต่อกัน และรักษาสัจจะนั้นไว้ ๗. ข่มความโกรธ ธรรมทั้ง ๗ ประการนี้เป็นคุณสมบัติที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ เป็นธรรมอันเกิดจากพระปัญญาบริสุทธิ์ของพระองค์ ยังคนผู้ปฏิบัติตามให้เกิดสุข และเป็นธรรมของพระอินทร์คือทำผู้ปฏิบัติธรรมนี้ครบถ้วนได้ไปเกิดเป็นพระอินทร์ แต่ข้อสำคัญนั้นอยู่ที่ว่า ธรรมเหล่านี้เป็นหลักปฏิบัติอันดีงาม ผู้ตั้งอยู่ในธรรมเหล่านี้ย่อมจะพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญ สร้างความสมดุลย์ระหว่างธรรมชาติกับสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นได้

                        เราทุกคนล้วนมีหน้าที่จะต้องสร้างความเจริญแก่บ้านเมืองการพัฒนานั้นเป็นการดี นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองขอให้เป็นไปเพื่อความสุขอันถาวร โดยการอาศัยหลักธรรมทั้ง ๗ ประการดังกล่าว.