Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๙๕

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ธรรมะประดับใจ

 

๒๒. ความโกรธทำให้เกิดความร้อน

                   ความสิ้นโลภ สิ้นโกรธ สิ้นหลง นั้นแม้เราจะยังไม่บรรลุถึง แต่ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาก็ย่อมจะเห็นว่าถ้าบรรลุถึงเมื่อใด ย่อมจักมีความสุขสูงสุดเมื่อนั้น ทั้งนี้ก็โดยใช้ปัญญาคิดเปรียบเทียบให้แยบคาย ก็ให้มีใจตนเองนี้แหละเป็นจุดสำคัญ พิจารณาให้เห็นจากใจตนเองนี้แหละ ดูให้รู้ว่าเวลาเกิดความโลภ ความโกรธหรือความหลงก็ตาม ใจมีความสุขหรือว่ามีความทุกข์ ดูให้เห็นชัดเจนตามความเป็นจริงเถิด แล้วก็จะต้องยอมรับว่าเป็นทุกข์มิได้เป็นสุขเลยความโลภเกิดขึ้นก็เป็นทุกข์ ร้อนรนอยู่ด้วยความปรารถนาต้องการที่จะได้จะมีสิ่งทั้งหลายอันตนยังมิได้มีอยู่ ตัวอย่างเมื่อเห็นใครเขามีของสวยของงาม เกิดความโลภอยากจะหามาเป็นของของตนบ้าง ความร้อนที่จะไม่เกิดขึ้นย่อมไม่ได้ความร้อนย่อมเกิดขึ้นในใจที่โลภแสวงหาอย่างแน่นอนมากน้อยตามความปรารถนาต้องการรุนแรงเพียงไหน โลภมากก็ร้อนมาก ทุกข์มาก เพราะต้องทุ่มเทกำลังกายกำลังใจมากเพื่อจะให้ได้มาซึ่งสิ่งที่จะสนองความปรารถนาต้องการคือความโลภของตน

                   ความโกรธก็เช่นกัน เกิดขึ้นเมื่อใดให้ความร้อนเมื่อนั้น โกรธมากร้อนมาก โกรธน้อยร้อนน้อย ลงว่าความโกรธเกิดขึ้นแล้วความปรกติแห่งจิตใจย่อมมีอยู่ไม่ได้ จิตใจต้องวูบวาบหวั่นไหวไปตามอำนาจแห่งความโกรธถึงแม้บางทีจะสามารถควบคุมความโกรธไว้ไม่ให้ปรากฏออกมาภายนอกได้ แต่เมื่อปรากฏอยู่ในใจก็ต้องให้ความร้อนแก่ใจอย่างไม่ต้องสงสัย ถ้าสามารถควบคุมใจไม่ให้มีความโกรธเท่านั้นจึงจะสามารถทำให้ความร้อนอันเกิดจากความโกรธไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าแสดงความโกรธแต่เพียงภายนอก คือเพียงทางกายวาจา โดยที่ไม่มีความโกรธปรากฏอยู่ในใจ ความร้อนก็จักไม่เกิดขึ้น ความทุกข์ก็จักไม่เกิดขึ้น อาจพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง เช่น เวลาไม่โกรธ แต่แสร้งทำท่าทำทางขู่เด็กเพื่อให้เด็กตกใจกลัวสนุก ๆ หรือให้กลัวจริง ๆ ก็ตาม ใจจะไม่ร้อน ไม่เกิดทุกข์ ในทางตรงกันข้ามเวลาโกรธใครขึ้นมา แต่แสดงออกไม่ได้ อาจจะรู้ว่าเป็นการไม่สมควร หรือกลัวอำนาจอะไรสักอย่างหนึ่งก็ตามต้องแสดงออกอย่างสุภาพราบเรียบพูดจาก็ไพเราะเรียบร้อย กิริยาท่าทางก็สงบเยือกเย็น ขณะที่ใจพลุ่งพล่านด้วยความโกรธ เวลาเช่นนั้นเป็นเวลาที่เป็นทุกข์เป็นร้อนอยู่ภายในใจอย่างแน่นอน ต่อให้หน้าจะยิ้มแย้มแช่มชื่นหรือจะกำลังหัวเราะเบิกบานก็ตาม แต่เมื่อใจมีความโกรธพลุ่งพล่านอยู่แล้ว ต้องหนีความร้อนไม่พ้น การแสดงออกภายนอกช่วยให้ความร้อนหมดสิ้นไปไม่ได้

                   อย่างไรก็ตาม หากการแสดงออกภายนอกเป็นการสะกดกลั้นเพื่อให้ความโกรธในใจลดน้อยถึงดับลง โดยที่เจ้าตัวเองรู้จุดมุ่งหมายแห่งการแสดงออกอย่างเยือกเย็นของตนเองดี เช่นนี้ก็ย่อมให้ผลดีได้ คือย่อมทำให้ความโกรธลดลงได้เร็ว ดับลงได้เร็วไม่เพิ่มความรุนแรงเหมือนเมื่อปล่อยให้การแสดงออกทางกายวาจารุนแรงไปพร้อมกับที่ความโกรธความแรงเกิดขึ้นในใจ เมื่อใดความโกรธลดลงความร้อนก็จะลดลงเมื่อนั้น ความสุขย่อมเกิดขึ้นแทนที่ มีความโกรธน้อยเพียงไร ความร้อนก็มีน้อยเพียงนั้น ความโกรธมีอยู่มากเพียงไร ความร้อนก็จักมีอยู่มากเพียงนั้นสิ้นโลภ สิ้นโกรธ แม้ยังไม่เด็ดขาดสิ้นเชิง ก็จะได้พบความสุขเป็นอันมากได้แล้ว.