Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๙๔

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ธรรมะประดับใจ

 

๒๑. จิตใจต้องการธรรม

                   สันดานของคนเรานั้นต้องการผลสำเร็จ แต่ไม่อยากทำเหตุให้เหนื่อยยาก เช่นอยากถูกล็อตเตอรี่ จนถึงขโมยเขาเป็นต้น ตัณหาในผลสำเร็จนี้เองเป็นเหตุให้คนลักขโมยเขา โกงเขา แม้การอยากถูกล็อตเตอรี่ กล่าวได้ว่าเป็นนิสัยขโมยอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องควบคุมตัณหาให้ผลสำเร็จนี้ อย่าไปตามใจ

ตัณหา แต่ว่าส่งเสริมตัณหานั้นให้ไปอยากในการประกอบเหตุซึ่งจะทำให้ได้ผลเช่นนั้นในทางที่ชอบ นี้แหละเป็นหลักของพระพุทธศาสนา และเพื่อให้สามารถควบคุมตัณหาอันนี้ได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนหลักธรรมอีกข้อหนึ่ง คือสันโดษ มีคนเป็นอันมากเข้าใจผิดกันไปว่าสันโดษเป็นเหตุให้คนขาดความกระตือรือร้นเป็นเครื่องฉุดรั้งความเจริญ ฉะนั้นจึงขอให้เข้าใจให้ถูกต้องว่าสันโดษนั้นท่านสอนให้ใช้ในผลที่ได้ คือให้ยินดีพอใจในผลที่ได้มา แต่ว่าในการประกอบเหตุนั้นท่านมิได้สอนให้ใช้สันโดษ ท่านสอนให้ใช้วิริยะความพากเพียรพยายาม คนเราส่วนมากขาดสันโดษ คือความพอใจในผลที่ได้ แต่มักจะไปสันโดษในเหตุ คือไม่อยากทำเหตุ แต่ครั้นถึงผลแล้วไม่สันโดษในผลของตน จึงทำให้เกิดการลักขโมยกัน คดโกงกัน หรือเกิดการแสวงหาในทางที่ผิด ดังจะยกตัวอย่างให้เห็น เช่นผู้ทำราชการก็พอใจในเงินเดือน แต่ว่าในการทำงานนั้นท่านก็ต้องใช้วิริยะอุตสาหะเพื่อจะทำงานการให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น ไม่ใช่ว่าได้เงินเดือนมาแล้วไม่ต้องทำอะไร นั่ง ๆ นอน ๆ อยู่เฉย ๆ หรือว่าคนกวาดถนนก็พอใจในเงินเดือนที่ตนได้รับ แต่ก็พากเพียรพยายามทำงานให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อจะได้รับพิจารณาความดีความชอบเลื่อนเงินเดือนขึ้นไปอีก มิใช่ว่าเป็นคนกวาดถนนแต่อยากได้เงินเดือนเท่าผู้ว่าราชการจังหวัด พอถึงการทำงานกลับไม่เอาเรื่อง กวาดครึ่งวันนอนครึ่งวัน หรือกวาดสองวันนอนสามวัน แล้วก็อยากให้ได้เงินเดือนมาก ๆ เช่นนี้ไม่ถูก เพราะฉะนั้นจึงขอให้เข้าใจว่า การปฏิบัติเหตุนั้น พระพุทธศาสนาสอนให้ใช้วิริยะคือความเพียร แต่ว่าเมื่อบรรลุถึงผลก็ให้ยินดีในผลที่ตนได้ และจะให้ได้ผลมากขึ้นก็ให้ปฏิบัติเหตุให้ดีขึ้น ในการประกอบเหตุให้ดีขึ้นนั้นก็ต้องทำความเข้าใจหลักที่เป็นมูลฐาน ๒ ประการดังต่อไปนี้ด้วย คือ “การทำดี” และ “สิ่งที่ดี”

                   การทำความดีนั้นต้องเข้าใจว่าต้องการอะไร การกระทำเพื่อให้บรรลุถึงผลอันนั้นโดยชอบ เรียกว่าเป็นการทำดี เช่น เมื่อต้องการความร่ำรวยก็จะประกอบอาชีพเพียงการกวาดถนนเท่านั้นไม่ได้ ต้องใช้กำลังกายกำลังทรัพย์ กำลังปัญญา ประกอบเหตุแห่งความร่ำรวยด้วย จึงจะได้ผลเป็นความร่ำรวย อีกประการ

หนึ่ง สิ่งที่เรียกว่าดีนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องใช้ปัญญาพิจารณากล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็สุดแล้วแต่ความต้องการ สุดแต่ประโยชน์ที่จะพึงได้ เช่นในเวลาหิวอาหาร อาหารที่จะบริโภคนั่นแหละ เป็นของดีเป็นประโยชน์ที่เราต้องการหรือว่าสิ่งที่จะอำนวยประโยชน์ให้เกิดความสุขตามที่ต้องการจริง ๆ นั่นแหละเป็นของดี สรุปแล้วก็คือปัจจัยเครื่องอาศัยอันได้แก่อาหารสำหรับบริโภค ผ้านุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค นี่แหละเป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการ ส่วนของอื่น ๆ เป็นเพียงเครื่องประกอบเท่านั้น

                   แต่สำหรับจิตใจนั้น ความดีหรือสิ่งที่ต้องการคือธรรม ฉะนั้นธรรมจึงเป็นความดีของจิตใจ ดังที่พระพุทธศาสนาสอนไว้ เป็นต้นว่า ความมีเมตตากรุณาต่อกัน รู้จักสันโดษในผลมีวิริยะอุตสาหะในเหตุ ตลอดจนถึงปฏิบัติในทาน ศีล ภาวนา เหล่านี้ เป็นการนำธรรมเข้ามาสู่จิตใจ กล่อมเกลาจิตใจให้ประณีตขึ้นสงบขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าบรรพบุรุษของเราทั้งหลายที่ได้ช่วยกันสร้างบ้านเมืองมานั้นก็สร้างด้วยอาศัยธรรม คือเมตตา กรุณา วิริยะ อุตสาหะ จนเกิดผลดีต่าง ๆ มิใช่อาศัยอธรรม แม้ปัจจุบัน ทั้งผู้ปกครองและผู้อยู่ในปกครองก็ต้องใช้ธรรม คือ เมตตา กรุณา วิริยะ สันโดษ ตลอดจนคุณธรรมต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนา ความสุขความเจริญต่าง ๆ จึงเกิดขึ้น ขอให้ได้สนใจศึกษาและปฏิบัติธรรม เพื่อจักได้บังเกิดความสุขความเจริญแก่ตนและส่วนรวม.