Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๙๑

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ธรรมะประดับใจ

 

๑๘.อย่าอยาก

                        ใจมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดทั้งปวง ผู้มีปัญญาจึงตามรักษาใจยิ่งกว่ารักษาสิ่งอื่น รักษาใจให้เยือกเย็นเป็นสุขสงบจากความร้อนด้วยความโลภโกรธหลงได้เพียงไร นั่นแหละเป็นการได้ประโยชน์มากเพียงนั้น ทรัพย์สินเงินทองมากมายแม้ได้มาโดยไม่มีความสุขใจย่อมไม่มีความหมาย ย่อมเปรียบไม่ได้กับการได้มาซึ่งความสงบสบายใจแม้จะมีเพียงเงินทองพอดำรงชีวิตอยู่ไม่มากมายล้นเหลือ

                        ลาภยศสรรเสริญไม่ใช่ความสุข แม้พิจารณาให้ดีจะเห็นความจริง ความสุขไม่อยู่ที่การได้มาซึ่งลาภยศสรรเสริญ ความยินดีที่ได้ลาภได้ยศนั้นไม่ใช่ความสุข เป็นความวุ่นวายใจมากกว่า ความสุขต้องเป็นความเย็นความสงบซึ่งไม่เกิดจากการได้มาซึ่งลาภยศสรรเสริญอย่างแน่นอน ความสงบเย็นเป็นความจำเป็นที่จะทำให้เกิดความสุข ขอให้คำนึงถึงความจริงนี้ แล้วพยายามสร้างความสงบเย็นให้เกิดขึ้นให้ได้ จึงจะได้พบความสุขที่แท้จริง ความตื่นเต้นยินดีเมื่อได้ลาภได้ยศไม่ใช่ความสุข ทำความเข้าใจเสียให้ถูกต้อง เพื่อจะได้พยายามสร้างความสุขที่แท้จริงให้เกิดขึ้น

                        ความอยากทั้งหลาย มีความอยากมีอยากเป็นอยากไม่มีไม่เป็น ทางศาสนาเรียกว่าตัณหา เป็นความดิ้นรนทะยานอยาก ใจของปุถุชนคนสามัญทุกคนย่อมมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากอยู่ด้วยกันทุกคน มากบ้างน้อยบ้าง อยากมีก็เช่นอยากมีเงินมีทองมีของอย่างนั้นอย่างนี้หรืออยากมีลูกหลานภรรยาสามีที่ถูกใจ อยากเป็นก็เช่นอยากเป็นใหญ่เป็นโตเป็นนั่นเป็นนี่ที่ตนรู้สึกว่าเป็นความสำคัญน่าเป็น อยากไม่มีก็เช่นอยากไม่มีความจน อยากไม่มีความทุกข์ อยากไม่มีพี่น้องลูกหลานภรรยาสามีที่ไม่ดีไม่ถูกใจ อยากไม่เป็นก็เช่นอยากไม่เป็นคนจน อยากไม่เป็นลูกน้อง อยากไม่เจ็บป่วย อยากไม่อย่างนั้นอย่างนี้ที่ตนรู้สึกว่าไม่น่าเป็นไม่เป็นที่ชอบใจ

                        ความอยากมีต่าง ๆ กันดังกล่าว และก็เป็นสิ่งที่ปุถุชนหรือสามัญชนหนีไม่พ้น ต้องมีอยู่ด้วยกันทุกคน เพียงแต่บางคนมีน้อยบางคนมีมาก เมื่อรู้จักหน้าค่าตาของตัณหาแล้ว รู้แล้วเข้าใจแล้วว่าตัณหาคืออะไร ก็ให้มีสติทำใจ รักษาใจอย่าให้ตกอยู่ใต้อำนาจของตัณหา เมื่อรู้จักหน้าตัณหา รู้ว่าตัณหาเป็นความไม่ดี ก็ให้พยายามกำจัดออกไปเสียให้พ้นจากใจ อย่าอยากมีอย่าอยากเป็นอย่าอยากไม่มีอย่าอยากไม่เป็น ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น ดังยกตัวอย่างแล้วข้างต้น พยายามทำสติรู้ตัวให้ทันเวลาที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตัณหาเกิดขึ้นในรูปใดดังกล่าวให้หยุดเสียให้ได้ ไล่ออกไปให้พ้นใจให้ได้ นั่นก็คือเมื่อเกิดอยากมีอยากเป็นขึ้นมาก็ให้เลิกอยากเสีย ให้เหตุผลกับตนเองตามความเป็นจริงว่าถึงอยากหรือไม่อยากเมื่อจะมีจะเป็นก็ต้องมีต้องเป็น ให้แก้ไขสภาพที่ต้องมีต้องเป็น ถ้าปรากฏว่าไม่ดีไม่ควร แก้ไปด้วยเหตุผลเพื่อให้เกิดผลดี แก้ด้วยใจที่ไม่ต้องอยาก นั่นแหละจึงจะถูกต้อง เรียกว่าทำอย่างใจไม่วุ่นด้วยกิเลสตัณหา จักได้ผลดีกว่าอยากมีอยากเป็นอยากไม่มีอยากไม่เป็น เป็นการทำลายตัณหาต้นเหตุแห่งความทุกข์ตัวสำคัญ

                        เมื่อต้องการพ้นจากความทุกข์ที่ต้องได้รับกันอยู่มากมายอย่างน่ากลัวยิ่งนัก ก็ขอให้พยายามเลิกอยากมีอยากเป็นอยากไม่มีอยากไม่เป็นเสีย พยายามอย่าให้ความรู้สึกอยากนั้นดำรงอยู่ยั่งยืนในใจ เมื่อเกิดขึ้นตามธรรมดาของผู้เป็นปุถุชนคนสามัญก็ให้มีสติปัดความอยากนั้นเสีย ความสำเร็จทั้งปวงไม่ได้เกิดจากความอยาก แต่เกิดจากการพยายามให้เป็นไปอย่างเหมาะอย่างควร.