Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๓๘๙

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ธรรมะประดับใจ

 

๑๖.ทำอย่างไรใจจึงเป็นสุข

                   ใจที่มีความเป็นปรกติ หรือจะเรียกว่าใจที่มีความสงบราบเรียบ นั่นแหละคือใจที่มีความสุขอย่างแท้จริง ผู้ที่ปรารถนาความสุขทั้งหลาย จึงต้องทำใจให้มีความเป็นปรกติ สงบราบเรียบคือไม่หวั่นไหววุ่นวายด้วยกิเลสและอารมณ์ทั้งปวง แต่ก็มีคนเป็นจำนวนมากกล่าวว่าทำไม่ได้หรือทำได้ยาก ซึ่งสำหรับคนส่วนมากนั้นก็น่าจะเป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ตามถ้าหาเหตุของการทำได้ยาก หรือทำไม่ได้ ก็จะต้องพบว่าเพราะไม่พยายามทำ หรือพยายามทำแต่ก็ไม่ถูกวิธี ไม่ได้แก้ให้ถูกเรื่อง คือไม่ได้แก้ไขตรงจุดที่ว่าทำไมจิตใจจึงหวั่นไหววุ่นวาย ไม่ได้แก้ให้จิตใจสงบจากความหวั่นไหววุ่นวาย กล่าวให้ตรงก็คือไม่รู้ว่าความหวั่นไหววุ่นวายของใจตนนั้นเกิดจากอะไร มีอะไรเป็นเหตุ ที่จริงแล้วทุกจิตใจมีกิเลส และอารมณ์เท่านั้นเป็นเหตุให้หวั่นไหววุ่นวาย จึงต้องแก้ที่กิเลสและอารมณ์เท่านั้นจึงจะสามารถทำให้เกิดความสงบ ไม่หวั่นไหววุ่นวาย

                   กิเลส คือความโลภโกรธหลง มีอยู่ในใจตราบใดย่อมนำให้เกิดอารมณ์คือรู้สึกโลภรู้สึกโกรธรู้สึกหลงตราบนั้น คือตราบใดมีกิเลสตราบนั้นอารมณ์ก็มีอยู่ อารมณ์ดีอารมณ์ร้ายล้วนเกิดจากกิเลสทั้งสิ้น แต่แม้จะเกิดจากกิเลสด้วยกัน อารมณ์ดีก็ย่อมดีกว่าอารมณ์ร้าย ทำอารมณ์ให้ดีได้ดีกว่าอารมณ์ร้าย แต่ทั้งอารมณ์ดีและอารมณ์ร้ายคือความไม่สงบของใจ อารมณ์ดีทำให้ใจหวั่นไหวอารมณ์ร้ายก็ทำให้ใจหวั่นไหว แม้จะหวั่นไหวไปคนละเรื่องคนละทางก็ตามแต่ก็เป็นความหวั่นไหว ไม่ได้เป็นความสงบอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้คนทั่วไปจึงไม่อาจจะรู้จักความสุขที่แท้จริง เพราะคนทั่วไปหรือปุถุชนยังไม่อาจจะทำใจให้สิ้นจากกิเลสและอารมณ์ได้ อย่างดีก็แต่เพียงทำให้อารมณ์ดีเท่านั้น ซึ่งก็นับว่าดีอย่างยิ่งแล้ว สามารถรักษาอารมณ์ให้ดีได้นานเพียงใดก็นับว่าดีอย่างยิ่งเพียงนั้น พอจะมีความสุขเพียงนั้น ฉะนั้นแม้จะไม่สามารถละกิเลสได้สิ้นเชิงเช่นพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ก็ควรพยายามทำกิเลสที่มีอยู่มากหรือน้อยในใจตนให้เป็นกิเลสที่จะก่อให้เกิดความหวั่นไหวของจิตใจในทางดีงาม เช่นความปิติที่ได้ทำคุณงามความดีทำบุญทำกุศลเป็นต้น หลาย ๆ คนเคยกล่าวว่าอย่าไปอยากทำดีเพราะเป็นกิเลส อย่าไปอยากได้มรรคผลนิพพาน เพราะเป็นกิเลส เช่นนี้อาจจะถูกต้องในแง่หนึ่งซึ่งควรเป็นเรื่องเฉพาะจิตใจบางคน ไม่ควรนำมาก้าวก่ายกันจนวุ่นวายสับสน เกิดความเข้าใจผิดถึงขนาดทำให้อีกมากคนไม่กล้าทำความดีเพราะเห็นว่าเป็นการเพิ่มกิเลสไปเสียซึ่งไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง ปุถุชนนั้นจะทำอะไรก็จะต้องมีความอยากหรือความปรารถนาต้องการนำให้ทำ ถ้าเป็นการอยากหรือปรารถนาต้องการทำในสิ่งที่ดีงามเป็นบุญเป็นกุศลก็เป็นสิ่งไม่ผิด แต่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ควรปฏิบัติและส่งเสริม

                   ผู้ที่สามารถควบคุมความอยากของตนให้อยู่ในขอบเขตที่ดีงาม ที่จะนำไปสู่การทำคุณงามความดี และบุญกุศลได้ ดังกล่าวนับว่าเป็นผู้ที่สามารถเอาชนะกิเลสได้อย่างมากแล้ว ถ้าส่งเสริมความอยากนี้ในขอบเขตที่ถูกต้องดีงามสืบต่อไปก็จะเป็นผู้ชนะที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง คือชนะใจตนเอง เพราะการชนะใจตนเองก็คือการชนะกิเลสในใจตนเองนั่นเอง อันกิเลสนั้นก็เหมือนศัตรูอื่น ๆ ของเรา ถ้าเราเข้มแข็งกว่า มีกำลังเหนือกว่า ปราบให้แพ้ได้บ่อยครั้งเข้า ก็ย่อมจะหวาดกลัวไม่กล้าสู้ต่อไป หลบหน้าหนี นี้เป็นจริง กิเลสใดโผล่หน้าให้เห็น ถ้าตั้งใจตีให้จริงจังให้หลบหนีไปถึงอาจจะโผล่หน้ามาใหม่ ถ้าตั้งใจตีให้จริงจังอีก ให้หลบหนีอีก ทำเช่นนี้อาจจะต้องหลายครั้งถ้ากิเลสนั้นมีกำลังแรงสู้ได้นาน แต่วันหนึ่งจะต้องแพ้ฝ่ายปราบคือใจของเราทุกคน ขอเพียงให้สู้อย่าถอย คนสู้ไม่ถอยโดยใช้สติปัญญาเต็มความสามารถจะไม่เป็นผู้แพ้แก่ศัตรูใดเลย.